45,420 คะแนนของประชาชนปฏิรูป (ปชช.) ที่สิ้นสภาพด้วยน้ำมือของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ก่อตั้ง กำลังกลายเป็นเผือกร้อนในมือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สูตรเลือกตั้งพิสดารของ กรธ.กำลังพ่นพิษ เมื่อนักคณิตศาสตร์รายหนึ่งทดลองคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ ก็พบความเป็นไปได้ใน 3 กรณีส่อเค้าบานปลาย ดังนี้
(ตารางที่ 1: คำนวณส.ส.บัญชีรายใหม่หลังตัด 45,420 คะแนนของประชาชนปฏิรูป พบพลังประชารัฐได้เท่าเดิม และพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค พรรคไทรักธรรม ที่เพิ่งกระเด็นหลุดจาก ส.ส.จะเลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.อีกครั้ง)
(พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ขณะเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในวันที่เปิดประชุมสภาฯ ในช่วงแรก)
ทิ้ง 45,420 แต้ม คำนวณใหม่ พปชร.เท่าเดิม 'มาดามเดียร์' เสี่ยงหลุด ส.ส.
1.ไม่นำ45,420 คะแนนของประชาชนปฏิรูปไปรวมกับคะแนนพรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คะแนนหายไปโดดๆ แล้วคำนวณใหม่จะพบว่าจำนวนต่อ ส.ส. 1 คน จาก 71,123.112 จะลดลงเหลือ 71,032 จำนวนทศนิยมของ พปชร. หลังคำนวณตามวิธีคิด overhang จาก .5671 จะเพิ่มเป็น 0.7122 แต่ก็ไม่ได้มีนัยสำคัญจนทำให้ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเติม (ตารางที่1)
ขณะเดียวกัน นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค หัวหน้าพรรคไทรักธรรม ก็จะได้กลับเข้ามาเป็น ส.ส.อีกครั้ง ตามการปัดเศษหลังวิธีคิด overhang ซึ่งพรรคไทรักธรรมจะเป็นพรรคอันดับสุดท้ายที่ได้รับการปัดเศษ
ยอดรวม ส.ส.ทั้งหมดจะเป็น 501 คน ปัญหาจึงไปตกอยู่ที่ พปชร. ซึ่งมียอดจำนวน ส.ส.พึงมีเท่าเดิมที่ 116 แต่ถ้านายไพบูลย์เข้ามาสังกัด พปชร. ก็จะทำให้มี 117 ส.ส. คำถามใหญ่ที่ตามมาคือใครจะต้องพ้นตำแหน่ง ส.ส. ระหว่างมาดามเดียร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับที่ 19 หรือนายไพบูลย์ที่ไม่รู้ว่าเป็น ส.ส.แบบไหนของ พปชร. และต้องอยู่ในอันดับที่เท่าไร ซึ่งตรงนี้ทั้งรัฐธรรมนูญฉบับ2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 ไม่ได้เขียนครอบคลุมไว้ว่า ต้องทำอย่างไร
(ตารางที่2: คำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ หลังนำ 45,420 คะแนน ไปรวมกับ 17 พรรคการเมืองซีกรัฐบาล พบ 13 พรรคมีปัญหาส .ส.เกิน (แถบสีชมพู) 4 พรรคไม่มีปัญหา ส.ส.เกิน (แถบสีเหลือง) )
โอน 45,420 พปชร.ก็ไร้ผล ยกเว้นโยกซบ 'ชทพ.-ชพ.-รปช.-พชท.'
2.นำ45,420 คะแนนของประชาชนปฏิรูปไปรวมกับพรรคที่นายไพบูลย์จะเข้าไปสังกัดแล้วคำนวณใหม่ คะแนนรวมทั้งประเทศยังเท่าเดิม ก็ใช้จำนวนต่อ ส.ส. 1 คนที่ 71,123.112 คะแนนตามวิธีคิด overhang เหมือนเดิม ซึ่งพบว่าหากนำคะแนนไปรวมกับ พปชร. จำนวนทศนิยม .5671 จะเพิ่มเป็น 1.1139 ทว่า จุดทศนิยมลดลงเหลือ 0.11 และ 39 ส.ส.บัญชีรายชื่อจะมีเท่าเดิมไม่ได้รับการปัดเศษเพิ่มสำหรับนายไพบูลย์ (ตารางที่2)
ผลลัพธ์จะไม่ต่างจากกรณีแรกคือพลังประชารัฐก็ต้องเลือกระหว่างมาดามเดียร์ ส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับที่ 19 หรือนายไพบูลย์ และนายพีระวิทย์ก็จะได้กลับมาเป็น ส.ส.ตามวิธีคำนวณปัดเศษหลังคิด overhang
หากนายไพบูลย์เปลี่ยนใจจากย้ายเข้า พปชร.ไปเข้าพรรคอื่นในบรรดา 17 พรรคซีกรัฐบาล แล้วนำคะแนนตามไปคิดรวมด้วยผลลัพธ์ก็จะออกมาในทำนองเดียวกัน13 พรรค พรรคนั้นๆ ยอด ส.ส.พึงมีไม่พอสำหรับนายไพบูลย์ และนายพีระวิทย์จะกลับเข้ามาเป็น ส.ส.ตามวิธีการปัดเศษ ส่วนพรรคที่รับนายไพบูลย์ ก็ต้องเลือกว่าจะตัด ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับสุดท้ายทิ้งไปหรือไม่
ยกเว้น 4 พรรคที่นายไพบูลย์ย้ายเข้าเมื่อนำคะแนนไปรวมแล้ว จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้พรรคนั้นๆ มี ส.ส.พึงมีเพิ่มขึ้น 1 คน เพียงพอสำหรับนายไพบูลย์ ซึ่งจะทำให้นายพีระวิทย์ไม่ได้กลับมาเป็น ส.ส. เพราะทศนิยมของพรรคไทรักธรรมจะน้อยกว่า4 พรรคเหล่านั้น คือ ชาติไทยพัฒนา รวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ชาติพัฒนา และพลังชาติไทย (ตารางที่2 แถบสีเหลือง)
3.นายไพบูลย์ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐโดยไม่นำคะแนนพรรคประชาชนปฏิรูปไปรวมแล้วไม่ต้องคำนวณใหม่ จำนวน ส.ส.ทุกอย่างจะยังเหมือนเดิม เว้นแต่จะมีการเลือกตั้งซ่อมภายใน 1 ปีแล้วต้องคำนวณ ส.ส.ใหม่
'พีระวิทย์' ส.ส. 3 วัน คืนชีพแน่ คาดตีนิ่งปล่อย 'ไพบูลย์' แต่หนีไม่พ้นเลือกตั้งซ่อม คำนวณใหม่
ทั้งหมดอาจพอเป็นคำอธิบายได้ว่าทำไม กกต.จึงยังสงวนท่าทีหลังจากพรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา91 (7) ที่นายทะเบียนประกาศเมื่อ 26 ส.ค. ซึ่งนายไพบูลย์ต้องหาสังกัดพรรคใหม่ภายใน 60 วันแต่ยังไม่มีคำตอบชี้ชัดว่าจะทำอย่างไรกับ 45,420 คะแนนของพรรคประชาชนปฏิรูป
ซึ่ง 2 จาก 3 กรณีข้างต้น พบว่า นายพีระวิทย์ 'ส.ส. 3 วัน' จะได้ตำแหน่ง ส.ส.กลับคืนมาอีกครั้ง ภาระจะไปตกอยู่กับ พปชร.หรือพรรคอื่นๆ ที่รับนายไพบูลย์เข้าสังกัด ต้องตัดสินใจหั่นทิ้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับสุดท้ายทิ้งไป เว้นแต่ซบ 4 พรรคซึ่งจะได้รับข้อยกเว้นจากการคำนวณคะแนนใหม่ที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น 1 คน
ความวุ่นวายบานปลายจาก 2 กรณีข้างต้นจึงทำให้หลายฝ่ายประเมินว่าทางออกกรณีของนายไพบูลย์ตามแบบฉบับการเมืองไทย น่าจะเป็นกรณีที่ 3 มากกว่า คือ นายไพบูลย์ ซบ พปชร. สมประสงค์ และไม่ต้องมีการคำนวณคะแนนส.ส.ใหม่ ทำให้ผลลัพธ์ทุกอย่างคงเดิมอย่างมักง่าย เพื่อหลีกเลี่ยงปมปัญหา ส.ส.ส่วนเกินต้องตัดออก หรือนำไปสู่การยื่นตีความ ทว่าหากทำแบบนี้ กกต.จะกลายเป็นตำบลกระสุนตกที่ต้องชี้แจงเมื่อมีการเลือกตั้งซ่อมภายใน 1 ปีคะแนนของประชาชนปฏิรูปจะถูกนำไปคิดอย่างไร จะหายไปเฉยๆโดยไม่นำไปรวมได้หรือไม่
(ตารางที่3: ข้อมูลสถิติการร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.2562 จำแนกรายข้อกล่าวหา จากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) )
ปูดเคาะเลือกตั้งซ่อมไม่เกิน ต.ค.นี้ รอ กกต.ชี้ 501 คดี ชงศาลฎีกาฟัน 'ใบดำ-ใบแดง'
เว้นแต่จะไม่มีการเลือกตั้งซ่อมภายใน 1 ปี ซึ่งไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เนื่องจากข้อมูลสถิติการร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. พบว่ามีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 501 เรื่อง แบ่งเป็น 1. มาตรา73 ห้ามไม่ให้ผู้สมัครฯจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนให้ 344 เรื่อง
2.มาตรา78 ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบกระทำการเป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้สมัครฯ 52 เรื่อง
3.มาตรา83 การกำหนดพื้นที่ให้ผู้สมัครปิดประกาศแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามขนาดที่ กกต.กำหนด 37 เรื่อง
4.คุณสมบัติผู้สมัคร 68 เรื่อง
เมื่อเวลาผ่านไปกว่า3 เดือนเรื่องร้องเรียนก็น่าจะผ่านกระบวนการพิจารณาของ กกต.ว่า เรื่องใดต้องยื่นคำร้องให้ศาลฎีกาพิจาณาวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งนั้นมิได้สุจริตหรือเที่ยงธรรม ต้องนำไปสู่การแจกใบแดง-ใบดำ จัดให้มีการเลือกตั้งซ่อมตามมาตรา 133 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 บ้าง ซึ่งฝ่ายการเมืองเองก็คาดว่าน่าจะรู้ผลภายใน 1-2 เดือนนี้ สุดท้ายก็ต้องคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่อีกครั้ง เพราะยังไม่เกิน 1 ปีตามมาตรา 131 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. 2561
การเปลี่ยนนามสกุลจากพรรคประชาชนปฏิรูปมาเป็นพลังประชารัฐ จึงไม่ได้การันตีให้ไพบูลย์เป็น ส.ส.อมตะ การหาข้อยุติ 45,420 เสียง ไม่ว่าจะตัดทิ้งหรือนำไปนับรวม คงหนีไม่พ้นการคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการเลือกตั้งซ่อมแล้วปัญหาบานปลายก็จะตามมา ใครจะกลายเป็นส.ส.ส่วนเกินของ พปชร.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง