ไม่พบผลการค้นหา
นักวิเคราะห์จาก ธปท.ชี้ แรงงานข้ามชาติทักษะต่ำครองสัดส่วนแรงงานต่างชาติกว่า 92% แต่มีความสำคัญในแง่กระตุ้นการจับจ่าย พร้อมอุดตำแหน่งงานว่าง

ตามข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ในปี 2562 ไทยเปิดรับแรงงานข้ามชาติเข้าประเทศมากเป็นอันดับที่ 17 ของโลก ทั้งยังรั้งตำแหน่งผู้นำของภูมิภาค โดยมีมาเลเซียตามมาในอันดับที่ 2 ในทางตรงกันข้าม เมียนมาคือประเทศที่มีการไหลออกของคนในชาติมากเป็นอันดับที่ 17 ของโลก

สถิติข้างต้นนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความบังเอิญทางตัวเลข สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังสะท้อนผลประโยชน์ร่วมของไทยที่ได้แรงงานต่างชาติเหล่านี้เข้ามาเติมเต็มช่องว่างทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับเหล่าผู้อพยพจำนวนไม่น้อยมี 'สยามเมืองยิ้ม' คอยตอบโจทย์การยังชีพ 


'ต่างด้าว' คือใคร

นันทนิตย์ ทองศรี เศรษฐกร ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่าหากมอง 'แรงงานข้ามชาติ' ด้วยสายตาอย่างเป็นทางการซึ่งนิยมใช้คำว่า 'แรงงานต่างด้าว' คนกลุ่มนี้ไม่ได้มาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง กัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามที่คนไทยเข้าใจเท่านั้น แต่คือ 'แรงงานทุกคนที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย'

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองจากสัดส่วนชาวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาทำงานในไทย แรงงานจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านมีสัดส่วนมากที่สุดอย่างประจักษ์ชัด

ธปท
  • นันทนิตย์ ทองศรี เศรษฐกร ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ในงานศึกษาที่เธอเป็นส่วนหนึ่งของผู้วิจัย ระบุว่า หากจำแนกประเภทแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยด้วยข้อมูลผู้ประกันตนภาคบังคับจากสำนักงานประกันสังคม สามารถแบ่งแรงงานต่างชาติได้เป็น 2 ประเภท คือ 1.กลุ่มที่มีค่าจ้างน้อยกว่า 15,000 บาท หรือ แรงงานทักษะต่ำ และ 2.กลุ่มที่มีค่าจ้างเท่ากับ 15,000 บาท หรือ แรงงานทักษะสูง 

ที่ผ่านมาไทยมีแรงงานต่างชาติทักษะต่ำมากกว่าผู้ที่เข้ามาทำงานทักษะสูงหลายเท่าตัว ณ ปี 2562 ราว 92% ของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยกระจุกตัวในงานทักษะต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่มากจากประเทศเมียนมา กัมพูชา และลาว ขณะที่ตัวเลขแรงงานทักษะสูงอีกราว 8% หรือประมาณ 86,000 คน คือ แรงงานญี่ปุ่น จีน ฟิลิปปินส์ อินเดีย และอังกฤษ

ล่าสุด ตามข้อมูลจากกรมการจัดหางาน สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ณ เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา แรงงานต่างชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักร มีจำนวนทั้งสิ้น 2,526,275 คน โดยนับเป็นแรงงานจากเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมทั้งสิ้น 2,082,552 คน 


ช่องว่างงาน-ค่าจ้าง-สังคมสูงวัย

เมื่อแยกวิเคราะห์สถานการณ์แรงงานทักษะต่ำ นันทนิตย์ ชี้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านนิยมเข้ามาหาเลี้ยงชีพในประเทศไทยเป็นเพราะค่าแรงขั้นต่ำที่สูงกว่าประเทศบ้านเกิด โดยในปี 2561 ค่าแรงขั้นต่ำของไทยสูงกว่าเมียนมาถึง 3 เท่า 

ขณะเดียวกัน โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยประกอบรวมกับระบบการศึกษาที่พัฒนาขึ้น ทำให้พลเมืองในประเทศไม่นิยมทำงานประเภท 3D หรือ งานที่ลำบาก (difficult) งานที่สกปรก (difificullt) และงานที่อันตราย (dangerous) ซึ่งมักเป็นงานที่ได้ค่าตอบแทนน้อยเช่นเดียวกัน ช่องว่างดังกล่าวจึงได้แรงงานต่างชาติทักษะต่ำจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเติมเต็มอย่างพอดิบพอดี 

ตัวอย่างงานที่อยู่ภายใต้นิยาม 3D ได้แก่งานในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งงานวิจัยพบว่าเป็นภาคส่วนที่มีแรงงานทักษะต่ำเข้าไปทำงานมากที่สุดถึง 23.12% ของแรงงานทั้งหมดในธุรกิจนี้ รองลงมาคือภาคการก่อสร้าง การบำบัดของเสียและสิ่งปฏิกูล (โดยเฉพาะการนำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่) รวมไปถึงการผลิต (โดยเฉพาะการผลิตอาหาร ผลิตภัณฑ์ยาง และสิ่งทอ) สอดคล้องกับงานวิจัยอีกฉบับของ ธปท.ที่ชี้ว่า แรงงานต่างด้าวทักษะต่ำส่วนใหญ่ทนต่อสภาพการทำงานหนัก 

เท่านั้นยังไม่พอ ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ระหว่างปี 2562 และ 2563 คือแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำมีแนวโน้มเข้ามาทำงานในหลากหลายธุรกิจของไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทขนาดเล็ก (S) ที่มีลูกจ้างไม่เกิน 5 คน ซึ่งงานวิจัยพบว่า ผู้ประกอบการมีแนวโน้มจ้างแรงงานต่างชาติทักษะต่ำเกือบทั้งหมดในบริษัท สะท้อนความต้องการควบคุมต้นทุนของบริษัท เนื่องจากแรงงานต่างชาติทักษะต่ำนั้นค่าแรงถูกกว่าคนไทยหรืออาจถูกกว่าการลงทุนในเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีที่ใช้เงินตั้งต้นสูง 

อย่างไรก็ดี แนวโน้มข้างต้นนั้น ชมนาถ นิตตะโย ผู้วิเคราะห์อาวุโส กลุ่มงานดาต้าอนาไลติกส์ ธปท.และอีกหนึ่งผู้ร่วมวิจัย ชี้ว่าเป็นความสุ่มเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังและมีนโยบายเข้ามารองรับมากขึ้น เนื่องจากหากผู้ประกอบการไทยพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากเกินไปหรือแทบเป็นสัดส่วนทั้งหมดของแรงงานในบริษัท หากเกิดกรณีที่แรงงานต่างชาติเหล่านี้กลับประเทศตนเอง หรือรัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายแรงงานขึ้นมา บริษัทอาจเผชิญหน้ากับปัญหาได้

เธอยังยกกรณีศึกษาจากสิงคโปร์ที่มีการบริหารจัดการแรงงานต่างชาติอย่างมีระบบ โดยเสนอว่า รัฐควรเข้ามากำหนดว่ากลุ่มอุตสาหกรรมใดสามารถมีสัดส่วนแรงงานต่างชาติต่อแรงงานทั้งหมดในบริษัทมากน้อยเพียงใด เพื่อช่วยทั้งให้ผู้ประกอบการไม่เผชิญหน้าความเสี่ยง ทั้งยังเป็นการปกป้องคนไทยไม่ให้ถูกแย่งงานไปพร้อมกัน

ธปท
  • ชมนาถ นิตตะโย ผู้วิเคราะห์อาวุโส กลุ่มงานดาต้าอนาไลติกส์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ผู้วิเคราะห์อาวุโสของ ธปท.ยังสะท้อนอีกหนึ่งประเด็นเกี่ยวโยงโครงสร้างทางสังคมของไทยกับการเป็นประเทศที่ก้าวสู่สังคมสูงวัยว่า ในอนาคต ไทยจำเป็นต้องพึ่งแรงงานต่างชาติทักษะต่ำอยู่ เนื่องจากตัวเลขประชากรของประเทศในวัยทำงานอาจไม่เพียงพอในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นไปได้

อีกทั้ง ที่ผ่านมา เมื่อมีแรงงานจากต่างชาติเข้ามาอาศัยในประเทศ จีดีพีฝั่งที่มาจากการจับจ่ายใช้สอยซึ่งสะท้อนตามร้านค้าท้องถิ่นที่แรงงานอาศัยอยู่ได้รับอานิสงส์มาโดยตลอด หากปราศจากแรงงานเหล่านี้ผู้ประกอบการรายย่อยในฝั่งสินค้าอุปโภคบริโภคย่อมรับรู้ถึงผลกระทบจากการหายไปของลูกค้าอย่างแน่นอน 


'เอ็กซ์แพต' 3 ชาติสำคัญ

เอ็กซ์แพต (Expat) หรือแรงงานทักษะสูง คืออีกกลุ่มของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย ซึ่งแม้จะมีจำนวนน้อยกว่าแรงงานทักษะต่ำมาก แต่เป็นที่ต้องการไม่แพ้กัน ทั้งยังมีความสำคัญในแบบที่ต่างออกไป

รายงานจากแบงก์ชาติสะท้อนว่า นอกจากพวกเขาเหล่านี้จะเข้ามาช่วยเติมเต็มแรงงานในสาขาที่ขาดแคลน ยังช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เพิ่มผลิตภาพ (productivity) ให้กับประเทศ ส่งให้ค่าจ้างในประเทศเพิ่มขึ้น และมีความสำคัญยิ่งต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมให้กับคนในประเทศของเรา 

แรงงาน 3 ประเทศสำคัญ ที่ ธปท.นำเสนอในรายงานดังกล่าว ประกอบไปด้วย จีน, ฟิลิปปินส์ และ ญี่ปุ่น โดย ในช่วงปี 2545 - 2563 แรงงานจีนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากจาก 9% เป็น 19% โดยเฉพาะในภาคการผลิต การค้า ท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ สอดคล้องกับข้อมูลการลงทุนโดยตรง (FDI) จากจีนที่เพิ่มสูงขึ้นมากในประเภทธุรกิจเหล่านี้

สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลจีนสนับสนุนให้นักธุรกิจออกไปลงทุนในต่างประเทศ (going-out policy) รวมถึงในช่วงปี 2556 จีนต้องการลดแรงกดดันจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐอเมริกา (anti-dumping) โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ยาง จึงทำให้มีการย้ายฐานการผลิตมาในไทยมากขึ้น 

Jetts Fitness-เจ็ทส์ ฟิตเนส-ฟิตเนส-ต่างชาติ-ออกกำลังกาย-ลู่ทาง

ด้านชาวฟิลิปปินส์ รายงานพบว่ามีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 2% เป็น 10% เนื่องจากรัฐบาลฟิลิปปินส์มีนโยบายส่งเสริมให้พลเมืองออกไปทำงานต่างประเทศ จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีอัตราการว่างงานที่สูงและค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ

ขณะที่แรงงานจีนและฟิลิปปินส์มีจำนวนมากขึ้น แรงงานญี่ปุ่นทักษะสูงในไทยกลับเริ่มมีสัดส่วนลดลง จาก 29% ในปี 2545 เป็น 23% ในปี 2563 สอดคล้องกับการลดลงของมูลค่า FDI โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่มีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ข้อมูลในระบบประกันสังคมยังชี้ว่าจำนวนนายจ้างที่จ้างแรงงานญี่ปุ่นก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งอาจเกิดจากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นออกจากไทยมากขึ้น

รายงานยังชี้ว่า ความพยายามในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบใหม่ที่รัฐบาลตั้งชื่อว่า เศรษฐกิจในยุค 4.0 จำเป็นต้องดึงดูดแรงงานทักษะสูงเหล่านี้เข้ามาในประเทศให้ได้มากขึ้น ทว้าสถานการณ์ปัจจุบันของไทยยังมีข้อจำกัดและคอขวดที่ไม่เอื้อให้แรงงานทักษะสูงเหล่านี้เข้ามา 

หนึ่งในนั้นคือโครงสร้างทักษะแรงงานของไทยกว่า 70% เป็นกลุ่มทักษะปานกลางถึงต่ำและแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลสะท้อนโครงสร้างอุตสหากรรมของประเทศที่ก้าวไม่ข้ามธุรกิจโลกเก่าเข้าสู่เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะยกระดับเศรษฐกิจประเทศ

อย่างไรก็ดี รายงานแนะว่า ในระยะยาวการพึ่งพิงแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง ภาครัฐจึงควรเน้นให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่แรงงานไทย ซึ่งปัจจุบันกระบวนการฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงานในประเทศยังต่ำอยู่มาก

ท้ายที่สุดแล้ว ในฐานะประชาชน คนไทยอาจต้องทำความเข้าใจถึงบทบาทและสิ่งที่แรงงานชาวต่างชาติเหล่านี้เข้ามาสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ ทั้งในภาพใหญ่ของการนำมาซึ่งความรู้ ทักษะ ตลอดจนการลงทุน ไปจนถึงภาพที่หลายคนมองข้าม กับงานที่คนจำนวนไม่น้อยมองว่าไม่ใช่เรื่องน่าพิสมัยแต่กลับเป็นความจำเป็นที่ขาดไม่ได้

ขณะที่ฝั่งรัฐบาลยังคงมีหน้าที่อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้ชีวิตให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศผ่านแนวนโยบายที่เหมาะสม แต่ต้องตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของคนในชาติเป็นหลัก