วันที่ 25 ส.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 19 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ส.ส.ฝ่ายค้านบางส่วน ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ระหว่างทรู และดีแทค และการค้าปลีก-ค้าส่ง ได้ขอเสนอให้ที่ประชุมในวันเดียวกันนี้ (25 ส.ค.) พิจารณาเลื่อนเอาวาระพิจารณาผลการศึกษาผลกระทบจากการควบรวม ทรู-ดีแทค ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเสร็จ ขึ้นมาเป็นเรื่องแรกในการประชุม
อย่างไรก็ตาม มี ส.ส.จากฝั่งวิปรัฐบาลบางส่วนเห็นค้าน ประธานการประชุมจึงได้เปิดให้ลงมติ โดยผลปรากฏว่าที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนวาระการพิจารณาดังกล่าวขึ้นมาแทน แม้ ส.ส.ฝ่ายค้านบางส่วนจะพยายามให้เหตุผลว่า หากไม่เลื่อนการพิจารณา รายงานที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ทำมาหลายเดือนจะสูญเปล่า
ทั้งนี้ ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบฯ ได้เปิดเผยต่อ ‘วอยซ์’ ถึงสาเหตุที่ต้องเสนอให้เลื่อนวาระพิจารณาขึ้นมา และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น หลังการขอเลื่อนวาระไม่สำเร็จ
เพราะการตัดสินใจของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันแล้วว่าจะอนุมัติอนุญาตให้มีการควบรวมหรือไม่ วันที่ 24 ส.ค. เอง ในวาระปกติก็ไม่ได้มีการพูดคุยกันในประเด็นนี้ แต่จู่ๆ กลับมีการสอดแทรกประเด็นเรื่องการควบรวมทรู-ดีแทค เป็นวาระจรเข้ามาเป็นการภายใน แม้แต่บอร์ด กททช. เองก็ยังไม่รู้ที่มาที่ไปของวาระนี้
ถ้าหากรายงานที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ใช้เวลาทำมาหลายเดือน ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาเลย ไม่ถูกนำส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนจะส่งต่อไปยังคณะกรรมการ กสทช. การทำงานของกรรมาธิการฯ ก็จะถิอว่าสูญเปล่า ไม่สามารถหยิบยกข้อสังเกต ข้อเสนอแนะต่างๆ ไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ
แม้ตัวรายงานจะจัดทำขึ้นในช่วงเดือน เม.ย. แต่ข้อมูลหลายประการยังคงเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องของผลกระทบด้านราคาการใช้บริการ ข้อท้วงติงเรื่องที่มาของที่ปรึกษาอิสระ ซึ่งอาจไม่น่าไว้วางใจในความเป็นกลาง รวมถึงข้อเสนอที่จะช่วยให้ธุรกิจโทรคมนาคมสามารถเดินต่อได้แม้ไม่ควบรวม เช่น การแบ่งปันโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเสาสัญญาณ
แต่เรื่องเหล่านี้ก็ยังไม่มีโอกาสสักที ถ้าเรายังไม่เลื่อนรายงานนี้ขึ้นมาพิจารณาก่อนให้ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในเรื่องด่วนลำดับท้ายๆ ประมาณ 29 ไม่แน่ใจว่าจบสมัยประชุมนี้ของสภาแล้วจะยังได้พิจารณาหรือยัง ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าเสียงข้างมากยังไม่เห็นชอบให้เลื่อนการพิจารณานี้ขึ้นมาก่อน แต่สัปดาห์หน้าจะลองเสนอให้เลื่อนการพิจารณาอีกครั้ง เพราะเห็นสัญญาณมาแล้วว่า ไม่เกินวันที่ 10 ก.ย. คณะกรรมการ กสทช. จะมีการตัดสินใจในเรื่องนี้แล้ว
ถ้าหากเสียงข้างมากในสภายังถูกครอบงำด้วยกลุ่มทุน และไม่ได้อยากให้เสียงของกรรมาธิการดังขึ้นมา เราก็ไม่สามารถจะเลื่อนได้ ต้องขอแรงพี่น้องประชาชนช่วยกันกดดัน ส.ส.ในเขตพื้นที่ของท่าน ให้ยอมเลื่อนเอาวาระพิจารณานี้ขึ้นมา
จริงๆ แล้วได้พยายามพูดคุยกับพรรคร่วมฝ่ายค้ายถึงวิธีอื่นๆ เช่น การยื่นหนังสือที่ กสทช. เพื่อคัดค้านยับยั้งการควบรวมนี้ แต่ที่ประชุมเสนอว่าลองใช้วิธีเสนอเลื่อนวาระก่อน แต่สุดท้ายแล้วถ้าเลื่อนไม่ได้ การยื่นหนังสือก็เป็นทางเลือกอยู่ แม้จะไม่ได้ไปในนามพรรคร่วม แต่อาจมีการรวบรวม ส.ส.ที่สนใจไปร่วมกัน
ท่าน ชัยวุฒิ ก็เหมือนเปิดเทปม้วนเดิมในการตอบ ยังยืนยันว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของเอกชนที่จะควบรวมกันได้ ดิฉันเองศึกษาข้อมูล นำรายงาน 5 ฉบับ ที่ศึกษาผลกระทบต่อราคาว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ซึ่งทั้ง 5 สำนัก บอกตรงกันว่าราคาค่าบริการเพิ่มแน่ แต่ ชัยวุฒิ ยังคงใช้ความเชื่อว่าค่าบริการจะไม่ขึ้นแน่ โดยไม่ต้องมีข้อมูลใดๆ มาสนับสนุนความเชื่อของท่านเลย เป็นเรื่องน่าผิดหวังที่รัฐมนตรีกลับใช้ความเชื่อมากกว่าข้อเท็จจริง
แน่นอนว่าสิ่งที่ ชัยวุฒิ พูดว่าเป็นหน้าที่ของ กสทช. ก็จริง แต่เราอยากเห็นรัฐบาลที่ตื่นตัวมากกว่านี้ที่จะพยายามทำทุกวิถีทางในด้านนโยบายที่จะเตรียมความพร้อมเพื่อไม่ให้การควบรวมนี้เกิดขึ้นได้ หรือช่วยแสวงหาทางออกอื่นให้กับสังคม แต่จากปากคำของรัฐมนตรีแล้วดูจะเชื่อถืออะไรไม่ได้ ยังไม่ต้องพูดถึงนายกรัฐมนตรี ที่ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการหยุดปฏิบัติหน้าที่
ยังมีเรื่องของข้อกฏหมายที่ต้องมาดูว่า กสทช. มีอำนาจในการอนุมัติอนุญาตหรือไม่ ได้พยายามส่งเรื่องให้สำนักงานกฤศฏีการตีความ แต่เรื่องถูกส่งกลับมาให้ กสทช. เพราะอ้างว่าไม่มีอำนาจจะพิจารณากฏหมายฉบับนี้ ทั้งที่ความจริงสามารถขอร้องเป็นการภายในได้ นายกฯ สามารถสั่งให้พิจารณาได้เลย แต่จนกระทั่งถูกสั่งปฏิบัติหน้าที่แล้วก็ยังไม่ทำ ต้องดูว่ารักษาการนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะตัดสินใจอย่างไร
เวลานี้หากยังไม่มีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา ผู้ที่ต้องตีความในส่วนนี้คือสำนักงาน กสทช. ซึ่งทำหน้าที่เลขาฯ ให้กับคณะกรรมการ กสทช. อีกที ซึ่งทางสำนักงานเคยหารือกับกรรมาธิการวิสามัญหลายครั้ง และยืนยันทุกครั้งว่าทาง กสทช. ไม่มีอำนาจ ทำได้เพียงแค่รับทราบในเรื่องการควบรวมเท่านั้น ซึ่งทางกรรมาธิการเองก็รับรู้ถึงความไม่ปกติมาโดยตลอด และคาดหวังว่า กสทช. จะมีเครื่องมือยับยั้งหรือมีแนวทางแก้ไขเรื่องนี้ ไม่ใช่ตีความกฏหมายเพื่อตัดอำนาจตัวเองเช่นนี้