ไม่พบผลการค้นหา
เงินนอกงบประมาณ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าคือ เงินส่วนที่ "นอก" เหนือไปจากงบประมาณที่รัฐบาลรวบรวมรายได้ทั้งหมดมาจัดสรรให้หน่วยงานต่างๆ ซึ่งได้อภิปรายกันในรัฐสภาให้ประชาชนได้รับทราบรายละเอียด
  • สรุปสั้นที่สุด เงินนอกงบประมาณคือ เงินที่หน่วยงานต่างๆ หารายได้ได้เอง หรือได้รับอุดหนุนจากรัฐ เงินกู้ เงินบริจาค ฯลฯ แล้วก็เอามาใช้ในภารกิจต่างๆ ของหน่วยงานเอง โดยไม่ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา (แต่ต้องรายงานให้ทราบ) เพราะงบที่ได้รับตามปกติไม่เพียงพอ ส่วนที่เหลือก็ส่งคืนคลังมาเป็นงบประมาณแผ่นดิน
  • แต่กระนั้น ก็มีกฎหมายรองรับให้บางหน่วยงานใช้เงินที่หาได้เองเป็นหลักไปเลย แล้วรัฐอุดหนุนเพิ่มเติมไปเท่าที่จำเป็น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รัฐวิสาหกิจ หรือแม้แต่กระทรวงอุดมศึกษาฯ ซึ่งมหาวิทยาลัยจำนวนมากออกนอกระบบแล้ว เป็นต้น
  • หรือกรณีของกระทรวงแรงงาน เงินนอกงบประมาณจำนวนมากอยู่ในกองทุนประกันสังคม ซึ่งมีการบริหารจัดการของกองทุนเอง ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขนำไปสมทบค่าใช้จ่าย รพ.ทั่วประเทศ
  • ที่เป็นประเด็นหนักหน่อยคือ ส่วนของกระทรวงกลาโหม พรรคก้าวไกลเคยขอคำตอบเกี่ยวเงินนอกงบประมาณจากธุรกิจของกองทัพอย่าง สนามม้า สนามมวย สโมสรต่างๆ โรงแรม สนามกอล์ฟ ฯลฯ แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้คำตอบ และมองเห็นไม่ชัดเจนเหมือนกระทรวงอื่นๆ ว่า กองทัพนำเงินนอกงบประมาณไปใช้จ่ายสิ่งใด
  • ข้อมูลจากสำนักงบประมาณของรัฐสภา (PBO) ระบุว่า 3 ปีที่ผ่านมา (2564-2566) รายได้เงินนอกงบประมาณของทุกหน่วยงานรวมแล้วเป็นสัดส่วนประมาณ 'ครึ่งหนึ่ง' ของงบประมาณแผ่นดิน หรือราว 4,800,000 ล้านบาท
  • ที่น่าตกใจคือ ในจำนวนนี้นำมาสมทบคืนคลังกลับเป็นงบแผ่นดินเพียง 5.16% หรือ 250,000 ล้านบาทเท่านั้น
  • นั่นแปลความอีกอย่างได้ว่า เวลาเราดูงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้กับหน่วยงานต่างๆ ไม่ได้แปลว่าหน่วยงานนั้น "มีเงินใช้" เพียงแค่นั้น แต่เราต้องดูด้วยว่าหน่วยงานนั้นๆ มี 'รายได้เงินนอกงบประมาณ' เอาไว้ใช้จ่ายด้วยหรือไม่ เท่าไร
  • การมีรายได้เงินนอกงบประมาณแล้วส่งคืนคลังน้อย สำหรับหน่วยงานที่กฎหมายกำหนดให้หาเลี้ยงตนเองเป็นหลักนั้นไม่เท่าไหร่ แต่ PBO วิเคราะห์ไว้ว่า ‘หน่วยราชการ’ จำนวนมากที่รับงบประมาณจากรัฐเป็นหลัก รายได้ที่หาได้เองกลับส่งคืนคลังน้อยมาก อีกทั้งรายละเอียดการใช้จ่ายเงินที่หามาได้เองก็แจกแจงไว้ไม่เพียงพอว่าเอาไปบริหารจัดการอย่างไร 
  • หน่วยราชการบางแห่ง มีรายได้ของตัวเองแล้วไม่ส่งคืนคลังเลยซักแดงเดียวก็มี เช่น กระทรวงกลาโหม

หากเราดูในภาพรวม จะพบว่า

-หน่วยรับงบประมาณแผ่นดินทุกรูปแบบรวมทั้งหมด 757 หน่วยงาน

-เป็นหน่วยงานที่มีรายได้เงินนอกงบประมาณ 567 หน่วยงาน

-เป็นหน่วยงานที่ส่งเงินสมทบคืนคลังเพียง 187 หน่วยงาน

-หากดูเฉพาะปี 2566 มีรายได้เงินนอกงบประมาณ ประมาณการไว้ที่ 1.7 ล้านล้านบาท

-เงินนอกงบประมาณส่วนนี้เอามาสมทบคืนคลังเป็นเงินแผ่นดินเพียง 1 แสนล้านเท่านั้น

  • หน่วยงานที่มีรายได้เงินนอกงบประมาณ 'สูงสุด' 5 อันดับแรก ได้แก่

1.รัฐวิสาหกิจ มีเงินรายได้ฯ 3.4 แสนล้าน คิดเป็น 20% ของเงินรายได้นอกงบประมาณทั้งหมด

2.กระทรวงแรงงาน

3.กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

4.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

5.กระทรวงอุดมศึกษาฯ

  • ตามรายงานของ PBO ปี 2564-2566 กระทรวงที่มีรายได้เงินนอกงบประมาณมากกว่า 10,000 ล้านบาทขึ้นไป ได้แก่

#แรงงาน

-รายได้เงินนอกงบประมาณเฉลี่ยราว 250,000 ล้านบาท

-นำส่งคืนคลังเฉลี่ยราว (ไม่มี)

#สาธารณสุข

-รายได้เงินนอกงบประมาณเฉลี่ยราว 250,000 ล้านบาท

-นำส่งคืนคลังเฉลี่ยราว 300 ล้านบาท

#กลาโหม

-รายได้เงินนอกงบประมาณเฉลี่ยราว 22,000 ล้านบาท

-นำส่งคืนคลังเฉลี่ยราว (ไม่มี)

#การคลัง

-รายได้เงินนอกงบประมาณเฉลี่ยราว 10,000 ล้านบาท

-นำส่งคืนคลังเฉลี่ยราว 7,500 ล้านบาท

#คมนาคม

-รายได้เงินนอกงบประมาณเฉลี่ยราว 10,000 ล้านบาท

-นำส่งคืนคลังเฉลี่ยราว 500 ล้านบาท

#รัฐวิสาหกิจ

-รายได้เงินนอกงบประมาณเฉลี่ยราว 290,000 ล้านบาท

-นำส่งคืนคลังเฉลี่ยราว 48,000 ล้านบาท

#อุดมศึกษาฯ 

-รายได้เงินนอกงบประมาณเฉลี่ยราว 230,000 ล้านบาท

-นำส่งคืนคลังเฉลี่ยราว 4,000 ล้านบาท

#หน่วยงานของศาล

-รายได้เงินนอกงบประมาณเฉลี่ยราว 26,000 ล้านบาท

-นำส่งคืนคลังเฉลี่ยราว 1,000 ล้านบาท

#อปท.

-รายได้เงินนอกงบประมาณเฉลี่ยราว 250,000 ล้านบาท

-นำส่งคืนคลังเฉลี่ยราว 500 ล้านบาท

#สภากาชาดไทย

-รายได้เงินนอกงบประมาณเฉลี่ยราว 15,000 ล้านบาท

-นำส่งคืนคลังเฉลี่ยราว 15,000 ล้านบาท

  • PBO สรุปปัญหารายได้เงินนอกงบประมาณไว้ว่า

1. หน่วยงานแสดงข้อมูลเฉพาะส่วนที่ส่งคืนคลังเอามาสมทบในงบประมาณรายจ่ายประจำปี ส่วนที่ไม่สมทบ ไม่ปรากฏการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณโดยละเอียด

2.ข้อมูลรายได้เงินนอกงบประมาณที่แสดงไว้ในรายงานสถานะเงินนอกงบประมาณคลาดเคลื่อนกับรายงานของ สตง.

3.แผนการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณของหน่วยงานส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญกับภารกิจพื้นฐานเป็นหลัก ส่วนภารกิจเพื่อการพัฒนาให้ความสำคัญน้อย

4. ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์หรือสัดส่วนการสมทบงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ชัดเจน ดังนั้น การสมทบงบประมาณจึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหน่วยรับงบประมาณและการตกลงกับสำนักงบประมาณ

5.กองกำกับและพัฒนาระบบเงินนอกงบประมาณ กรมบัญชีกลางกระทรวงการคลัง เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล ด้วยระบบบริหารจัดการเงินนอกงบประมาณ (Non-Budgetary Management System : NBMS)แต่ปัจจุบันระบบดังกล่าว มีฐานข้อมูลเงินนอกยังไม่ครอบคลุมเงินนอกงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณทุกหน่วยงาน

PBO จึงมีข้อเสนอดังนี้

1. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ กมธ.งบประมาณ ควรกำหนดให้หน่วยรับงบประมาณแต่ละประเภทต้องจัดทำรายงานสถานะเงินนอกงบประมาณและแผนการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณอย่างถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน เพื่อให้รัฐสภามีข้อมูลแบบองค์รวมของการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน

2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ กมธ.งบประมาณ ควรกำหนดให้หน่วยรับงบประมาณทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างเคร่งครัด ในการแสดงรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงิน ประกอบด้วย งบแสดงฐานะการเงิน งบแสดงการดำเนินงานทางการเงิน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์สุทธิ/ทุน หมายหมายเหตุประกอบงบการเงิน ตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ รวมไปถึงประมาณการรายได้ และรายจ่ายประจำปีของหน่วยงาน ตลอดจนข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รัฐสภามีข้อมูลฐานะการเงินในปัจจุบัน

3. กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพัฒนาระบบบริหารจัดการเงินนอกงบประมาณที่สามารถใช้ในการการบริหารหรือกำกับดูแลรายได้เงินนอกงบประมาณอย่างให้เป็นเอกภาพครอบคลุมทุกหน่วยรับงบประมาณ

4. กรมบัญชีกลางควรเร่งรัดดำเนินการ ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ 'เงินนอกงบประมาณ' ด้วยการติดตามและสำรวจเงินนอกงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณต่างๆ ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อให้ทราบถึงประเภทและวัตถุประสงค์ของเงินนอกงบประมาณ พร้อมกำหนดมาตรการเร่งรัดให้หน่วยรับงบประมาณนำเงินนอกงบประมาณดังกล่าวฝากคลังให้ถูกต้อง

5. หน่วยรับงบประมาณควรให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามภารกิจเพื่อการพัฒนาเป็นหลัก

6. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการศึกษาวิเคราะห์การใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณตามแผนการใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อสะท้อนให้ทราบถึงความจำเป็น และเหมาะสมของการมีเงินนอกงบประมาณไว้ใช้ เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐสภา