ไม่พบผลการค้นหา
โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี และคณะนักธุรกิจชาวเยอรมนี เดินทางมาถึงกรุงปักกิ่งและเข้าพบสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีนแล้ว เมื่อเช้าวันศุกร์ (4 พ.ย.) ซึ่งนับเป็นการเยือนประเทศจีนครั้งแรกในรอบ 4 ปี ของผู้นำกลุ่ม G7

นโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่เข้มงวดของรัฐบาลจีน ประกอบกับความตึงเครียดทางการเมืองกับโลกตะวันตก ทำให้เป็นเรื่องยากที่ผู้นำโลกตะวันตกจะเยือนประเทศจีน ในขณะที่ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเอง เพิ่งกลับมาเดินทางเยือนต่างประเทศอีกครั้ง

การเยือนจีนของโชลซ์เป็นความคืบหน้าที่ดีสำหรับสีจิ้นผิงในฐานะผู้นำจีน หลังการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 ซึ่งสีได้กระชับสถานะของเขาในตำแหน่งผู้นำพรรค ทั้งนี้ สีได้กล่าวว่า เขาวางแผนที่จะเสริมความสัมพันธ์ระหว่างจีนและโลกภายนอก

“ท่ามกลางสถานการณ์ในประเทศและนอกประเทศ การเยือนของโชลซ์และข้อตกลงอะไรก็ตามที่เยอรมนีกับจีนจะทำต่อกัน มีความสำคัญต่อจีนอย่างมาก โดยเฉพาะหลังการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์” ฉืออินหง ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยเหรินมินกล่าว

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่า ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและความถดถอยทางเศรษฐกิจในเยอรมนี โชลซ์จำเป็นจะต้องเน้นย้ำความต้องการที่จะร่วมมือกับจีนในอนาคต

โชลซ์ได้เข้าพบสี และ หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีซึ่งกำลังจะพ้นตำแหน่ง โชลซ์ถูกคาดหวังว่า จะยกประเด็นหนักๆ เช่น สิทธิมนุษยชน ได้หวัน และความยากลำบากของบริษัทเยอรมัน ในการประเมินตลาดจีนขึ้นมาถกในการเข้าพบครั้งนี้

ในการเข้าพบกันระหว่าง 2 ผู้นำ สีได้บอกกับโชลซ์ว่า ในฐานะที่เยอรมนีและจีนเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพล ทั้ง 2 ประเทศควรร่วมมือกันมากขึ้นใน “ช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงและความไม่สงบ” เพื่อสันติภาพของโลกใบนี้

ทั้งนี้ ก่อนการเยือนจีน โชลซ์ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งในสหภาพยุโรปและพรรคร่วมรัฐบาลเยอรมนีเอง โดยส่วนมากมาจากพรรคกรีนและพรรคเสรีนิยม

ความตึงเครียดดังกล่าวยิ่งทวีคูณมากขึ้นหลังรัฐบาลของโชลซ์ให้ไฟเขียวแก่ โคสโค บริษัทขนส่งยักษ์ใหญ่ของจีน ในการซื้อหุ้นส่วนในท่าเรือของเมืองฮัมบูร์ก ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากพรรคร่วมรัฐบาล

หวังอี้เหวย ผู้อำนวยการศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยเหรินมิน กล่าวว่า แม้ว่าจะโชลซ์จะสร้างความไม่พอใจทางการเมืองจากกรณีของโคสโค แต่บทบาทที่สำคัญของจีนในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การต่อเรือ และรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในเยอรมนี ทำให้โชลซ์ต้องร่วมมือกับจีนมากกว่าที่ อังเกลา แมร์เคิล อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้เคยทำมาในอดีตเสียอีก

“ในช่วงแรก แมร์เคิลดำเนินนโยบายต่อจีนบนพื้นฐานของอุดมการณ์เป็นหลัก แต่เธอก็กลับทิศทางนโยบายในภายหลัง โชลซ์เป็นผู้นำที่ปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายเร็วกว่าแมร์เคิลเสียอีก แต่เขาไม่ได้มีฐานสนับสนุนทางการเมืองในประเทศที่เหนียวแน่นเท่าแมร์เคิล” หวังระบุ


ที่มา:

https://www.reuters.com/world/china/german-chancellor-scholz-lands-beijing-2022-11-04/?fbclid=IwAR30t7fBAfa_nQZ_U8G5IFiO9OIxbW28MGDifnHbBKtcodaFGjlfXV3ls3g