ไม่พบผลการค้นหา
WEF ระบุธุรกิจจำนวนมากได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ป้องกันโรคโควิด-19 แต่ธุรกิจอีกไม่น้อยได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์นี้ ขณะที่ 'ผู้แพ้' คือ คนจนที่ต้องตกงาน มีแนวโน้มสถิติ 'ฆ่าตัวตาย' เพิ่มขึ้นทั่วโลก

สถิติผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มสูงกว่า 2 ล้านคน และผู้เสียชีวิตมีจำนวนสูงกว่า 200,000 ราย เมื่อวันที่ 26 เม.ย. แต่หลายประเทศพ้นภาวะวิกฤตของการแพร่ระบาดของโรคมาได้ระยะหนึ่งแล้ว พิจารณาจากสถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ลดลงหรือคงที่อย่างต่อเนื่องมาได้ระยะหนึ่ง ทำให้รัฐบาลหลายประเทศผ่อนผันมาตรการล็อกดาวน์ที่บังคับใช้มาตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และกิจการหลายประเภทกลับมาดำเนินการอีกครั้ง

เว็บไซต์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศมองว่า กิจการบางประเภทถือว่าเป็น 'ผู้ชนะ' เพราะได้รับประโยชน์จากวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้ ขณะที่กิจการอีกหลายอย่าง "ฟื้นตัวได้ยาก" และคนตกงานกลายเป็น 'ผู้แพ้' หรือ 'ผู้สูญเสีย' จากสถานการณ์โควิด-19 อย่างไม่มีทางเลี่ยง


'ผู้ชนะ' ได้รับประโยชน์จากการปรับนโยบายการทำงาน

เว็บไซต์เวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม (WEF) เผยแพร่รายงาน Who will be the winners in a post-pandemic economy? โดยระบุว่า ผู้ที่จะได้รับชัยชนะหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ได้แก่ บริษัทให้บริการการติดต่อสื่อสารออนไลน์ รวมถึงธุรกิจฟินเทคต่างๆ เพราะหลายประเทศเริ่มปรับเปลี่ยนไปเน้นการทำงานจากบ้าน (work from home) เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ย้ำเตือนว่า มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ยังเป็นสิ่งจำเป็นจนกว่าจะพบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจต่างๆ ที่ผ่านพ้นช่วงล็อกดาวน์มาได้ มีแนวโน้มจะใช้นโยบาย work from home ต่อไป และต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสาร การประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ที่สามารถรองรับคนได้จำนวนมาก

WEF อ้างอิงข้อมูลสถิติที่รวบรวมโดย Statista บ่งชี้ว่าแค่เพียงสัปดาห์แรกที่ทั่วโลกบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งก็คือระหว่าง 26 มี.ค.-1 เม.ย. พบว่า ผู้ให้บริการวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์และแอปพลิเคชันสำหรับการผลิตเนื้อหาออนไลน์ มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะ Zoom, TikTok, Hangouts Meet, Houseparty, Google Classroom ซึ่งมีอัตราเติบโตทางธุรกิจตั้งแต่ 1.1 - 3.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

https://cdn.statcdn.com/Infographic/images/normal/21323.jpeg

ส่วนธุรกิจอีกประเภทที่ได้รับความนิยมและเติบโตอย่างมากช่วงโควิด-19 ได้แก่ ธุรกิจฟินเทค ซึ่งให้บริการด้านธุรกรรมการเงินต่างๆ เพราะคนจำนวนมากที่ต้องกักตัวอยู่บ้านหันไปชอปปิงออนไลน์ รวมถึงสั่งซื้อสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ผ่านระบบไร้เงินสด ทำให้ผู้บริการชำระเงินแบบอีเพย์เมนต์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ

นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ป้องกันด้านสุขอนามัยต่างๆ ทั้งถุงมือยาง หน้ากากอนามัย ชุดป้องกันส่วนบุคคล PPE เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงเวชภัณฑ์อื่นๆ ก็ต้องเร่งกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองกับความต้องการในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด

กิจการด้านอุปกรณ์ป้องกันในหลายประเทศได้รับความสนับสนุนจากหลายรัฐบาล ทำให้การขยายธุรกิจหรือเร่งกำลังผลิตเหล่านี้ดำเนินไปอย่างราบรื่น และมีแนวโน้มว่าจะต้องผลิตเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ไปจนกว่าจะสามารถพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนา 2019 ได้อย่างเป็นทางการ


'ผู้แพ้' คือ คนจน อาจทำให้สถิติฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นทั่วโลก

สำนักข่าว Reuters ประเมินผลกระทบระยะกลางและระยะยาวที่จะเกิดจากสถานการณ์โควิด-19 หลังจากช่วงบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ทำให้คนต้องตกงานเป็นจำนวนมากไปแล้ว โดยรายงาน Researchers warn the COVID-19 lockdown will take its own toll on health ซึึ่งอ้างอิง 'แอรอน รีฟส์' นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ระบุว่า ภาวะว่างงานมีความเชื่อมโยงกับสถิติฆ่าตัวตายในสหรัฐอเมริกา

ผลงานของรีฟส์เป็นการเก็บข้อมูลเปรียบเทียบช่วงก่อนและหลังเกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ และวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ช่วงปี 2550-2551 พบว่าอัตราว่างงานที่สูงขึ้นแต่ละเปอร์เซ็นต์ สอดคล้องกับสถิติฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

รีฟส์ประเมินว่า สถิติฆ่าตัวตายในสหรัฐฯ อาจเพิ่มสูงขึ้นสองเท่าในระยะเวลา 2 ปีต่อจากนี้ เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจถดถอยและต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ฆ่าตัวตายกว่า 10,000 รายในสหรัฐฯ และประเทศแถบยุโรปช่วงเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ คาดว่าจะมีผู้ฆ่าตัวตายเพราะตกงานช่วงโควิด-19 ราว 20,000 ราย

ขณะที่ ดร.เจย์ พัตตาไชยา ผู้วิจัยด้านนโยบายสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวกับรอยเตอร์สว่า รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกยังไม่ตระหนักอย่างจริงจังว่าจะต้องพิจารณามาตรการรับมือผลกระทบด้านสุขภาพและสาธารณสุขในระยะยาว อันมีสาเหตุจากสภาพเศรษฐกิจอันย่ำแย่

เศรษฐกิจ-โควิด19

ดร.เจย์ ย้ำว่า ไวรัสทำให้คนตายได้ 'ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ' ก็ทำให้คนตายได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'คนจน' เขาจึงเตือนว่ารัฐบาลจะต้องระมัดระวังอย่างมากในการปิดหรือระงับกิจการใดๆ ก็ตาม จำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือรองรับผู้ที่จะได้รับผลกระทบและเดือดร้อนในระยะยาว

ส่วนงานวิจัย Suicide risk and prevention during the COVID-19 pandemic ซึ่งเผยแพร่ในวารสารการแพทย์ The Lancet ซึ่งพูดถึงการป้องกันการฆ่าตัวตายอันสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 บ่งชี้ว่า อัตราการฆ่าตัวตายของผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับว่าประเทศดังกล่าวมีระบบสาธารณสุขและการให้คำปรึกษาแก่ประชาชนที่ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพหรือไม่

การป้องกันการฆ่าตัวตายจะได้ผลดีกว่าถ้าหากคนในแต่ละชุมชนสอดส่องดูแลกัน โดยอาจพุ่งเป้าไปยังผู้ที่ใช้ชีวิตเพียงลำพังหรือผู้สูงอายุ ขณะที่จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างทั่วถึง ทันเวลา และมีประสิทธิภาพ

ส่วนรัฐบาลจะต้องหาทางควบคุมและป้องกันการเข้าถึงสิ่งที่อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือก่อเหตุ เช่น อาวุธปืน สารเคมีอันตราย หรือสถานที่ที่คนมีแนวโน้มจะฆ่าตัวตาย และต้องพยายามลดบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมในสังคมที่ทำให้คนรู้สึกว่าถูกเพิกเฉยหรือมองข้าม ขณะที่สื่อมวลชนต้องนำเสนอข่าวอย่างระมัดระวัง ไม่ให้เป็นการยุยงส่งเสริมให้เกิดการฆ่าตัวตาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: