ไม่พบผลการค้นหา
เจรจาปิดเหมืองหินดงมะไฟถาวรล่ม หลังนักปกป้องสิทธิฯ กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จ.หนองบัวลำภูกว่า 100 คน บุกศาลาว่าการฯ ทวงถามคำตอบจากหลายหน่วยงาน พร้อมเดินหน้าปิดทางเข้าเหมืองหินด้วยตนเอง ลั่นพร้อมสู้จนกว่าจะได้รับชัยชนะ

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองหินดงมะไฟ จำนวนกว่า 100 คน เดินทางเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตการประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, ตัวแทนรัฐบาลที่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจ, คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ, ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู, ผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 จ.อุดรธานี และอุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภู 

โดย เวียงชัย แก้วพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าร่วมเจรจาในครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้มีคำสั่งปิดเหมืองถาวรและให้ฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองและพัฒนาพื้นที่เหล่านั้นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่อไป

สมควร เรียงโหน่ง นักปกป้องสิทธิฯ กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กล่าวว่า อยากทวงถามถึงคำตอบที่ผู้ว่าราชการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีให้กับเราในการออกคำสั่งให้มีการปิดเหมืองดงมะไฟถาวร และให้มีการฟื้นฟูพื้นที่ที่ถูกทำลายไปจากการทำเหมือง เพราะตลอดการต่อสู้ 26 ปีที่ผ่านมาของเราจะต้องผ่านความเจ็บปวดและการสูญเสียกันมามากมาย วันนี้ความสูญเสียและความเจ็บปวดของชาวบ้านจะต้องได้รับการเยียวยาด้วยคำสั่งปิดเหมือง

นักปกป้องสิทธิฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการทำเหมืองแร่ตามประทานบัตร กินเนื้อที่กว่า 175 ไร่ และยังมีพื้นที่โรงโม่หินอีก 50 ไร่ ที่ตั้งอยู่บนภูผาฮวกซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับแหล่งป่าน้ำซับซึมที่อยู่ในถ้ำต่าง ๆ ในภูผาฮวก โดยน้ำจากแหล่งน้ำซับต่าง ๆ เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง

นอกจากนี้ ถ้ำบนภูเขาหินปูนเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางโบราณคดีและเป็นแหล่งประวัติศาสตร์บ่งบอกถึงความเป็นมาของชาวสุวรรณคูหาและชาวหนองบัวลำภู ซึ่งในถ้ำผายาได้มีการค้นพบภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ปรากฏตามผนังถ้ำ นอกจากนี้ยังค้นพบโบราณวัตถุในยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์อีกมากมาย ในพื้นที่ถ้ำศรีธน ถ้ำน้ำลอด และถ้ำบาดาล ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับขอบเขตประทานบัตรทำเหมืองแร่หินปูนที่มีหมุดเขตประทานบัตรทำเหมืองอยู่บนถ้ำ ได้มีการค้นพบภาชนะดินเผาที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งขณะนี้กลุ่มถ้ำเหล่านี้กำลังถูกดำเนินการขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

“แรงระเบิดและการสั่นสะเทือนจากการทำเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หินได้ส่งผลกระทบให้แหล่งโบราณคดีถ้ำศรีธน แหล่งภาพเขียนสีภูผายา และแหล่งโบราณคดีถ้ำผาโขง เกิดรอยแยกและผังถ้ำถล่มลงมา ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนัก” สมควร กล่าว

นักปกป้องสิทธิฯ กล่าวว่า นอกจากประเด็นเรื่องผลกระทบทางด้านโบราณสถานและโบราณวัตถุ ยังมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีก 4 ชีวิตที่ลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หิน ซึ่งประกอบด้วย นายบุญรอด ด้วงโคตะ นายสนั่น สุวรรณ กำนันทองม้วน คำแจ่ม และนายสม หอมพรมมา ถูกลอบยิงเสียชีวิตและไม่สามารถจับคนร้ายมาดำเนินคดีได้มาจนถึงปัจจุบันนี้ ผู้กระทำผิดยังลอยนวลพ้นผิด นอกจากนั้นยังมีชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาคัดค้านเหมืองหินจำนวน 12 คนถูกจับกุมดำเนินคดี ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนอย่างร้ายแรงจนเกินกว่าที่พวกเราจะรับได้ ด้วยเหตุผลเหล่านี้อย่างน้อยที่สุดผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งให้มีการยกเลิกประทานบัตรการทำเหมืองโดยทันที

ปรานม สมวงศ์ องค์กรโพรเทคชั่นอินเตอร์เนชั่นแนล (PI) ระบุว่า ในกรณีนี้อยากให้หน่วยงานรัฐ เช่น ผู้ว่าฯ กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฯลฯและสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำตามข้อเสนอของคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีปี 2560 ว่าให้เลือกใช้มาตรการต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพและให้นำไปปฏิบัติโดยไม่ชักช้า ในการคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ เพื่อให้พวกเธอสามารถทำงานด้านสิทธิฯ ได้อย่างเสรี ปราศจากความหวาดกลัวหรือถูกคุกคามด้วยการฟ้องร้องคดี การคุกคาม ความรุนแรงหรือการ ข่มขู่ 

"ปรึกษาหารือกับผู้หญิงนักป้องสิทธิฯ และเพื่อให้มีการปกป้องภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชาย เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและภาคธุรกิจ ปฏิบัติตามหน้าที่และความรับผิดชอบที่ระบุไว้ตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เพื่อรักษาพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมและปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนได้สามารถทำหน้าที่โดยชอบธรรมของตนได้" ปรานม กล่าว

ด้านจุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าวว่า ทางเครือข่ายพบว่าประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องแหล่งหินเพื่ออุตสาหกรรมในอำเภอสุวรรณคูหา ซึ่งที่ตั้งบนภูเขาผาจันได และพื้นที่อื่น ๆ ในตำบลดงมะไฟกว่า 500 ไร่ เป็นประกาศที่ทับซ้อนกับป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของคนในชุมชนและยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิดที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2536

ขณะที่ วิลัย อนุเวช ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กล่าวว่า ยังมีประเด็นที่ชาวบ้านเชื่อว่ามีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายอย่างร้ายแรงของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการอนุมัติ อนุญาต ในการทำเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หิน ไม่ว่าจะเป็นสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดงมะไฟที่ได้มีการจัดประชุมเพื่อมีมติเห็นชอบต่ออายุใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติของบริษัทเอกชนไปอีก 10 ปี เป็นการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 อย่างร้ายแรง นอกจากนี้การมีมติเห็นชอบดังกล่าวโดยไม่ได้มีการทำประชาคมหมู่บ้านรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่จำนวน 6 หมู่บ้านก่อนการมีมติเห็นชอบนั้น ยังเป็นการกระทำที่ขัดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ซึ่งการดำเนินโครงการใดๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นนั้นๆ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเสียก่อน

วิลัย กล่าวว่า ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนกรณีพบว่า มีการทำเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หินตลอด 24 ชั่วโมง จนชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเดือนร้อนเสียหายจากเสียงรบกวน แรงสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง และเศษหินกระเด็นลงสู่หลังคาบ้านเรือนและไร่นา ซึ่งจากการร้องเรียนของชาวบ้านทราบมาว่าได้มีเจ้าหน้าที่แอบอ้างลงมาตรวจสอบพื้นที่ และมีการจัดทำบันทึกถ้อยคำอันเป็นเท็จ ซึ่งเนื้อหาในบันทึกไม่สอดคล้องกับถ้อยคำที่ชาวบ้านในพื้นที่ให้การ โดยมีการบันทึกแก้ต่างให้บริษัทว่า ไม่มีความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างสิ้นเชิง หากการเจรจาไม่เป็นผล ชาวบ้านเดินหน้าปิดทางเข้าเหมืองด้วยตนเองพร้อมมอบหินบางส่วนจากการระเบิดหินจนส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้านให้เป็นของที่ระลึกแก่ผู้ว่าฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ด้าน เวียงชัย แก้วพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นประธานในการนำเจรจาในครั้งนี้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ กล่าวว่า ยังไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านได้ จะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลที่ชาวบ้านนำเสนอตามขั้นตอนให้ละเอียดเสียก่อน ถึงจะมีคำสั่งใดๆ ออกไปได้ ซึ่งตัวแทนชาวบ้านได้แย้งกลับว่า หลายข้อเสนอที่กล่าวไปหลายหน่วยงานสามารถมีคำสั่งให้ปิดเหมืองในระหว่างที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ โดยเฉพาะหน่วยงานหลักอย่างอุตสาหกรรมจังหวัดที่สามารถใช้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 129 ระบุอำนาจให้หน่วยงานหลักอย่างกระทรวงอุตสาหกรรมสามารถระงับเพื่อตรวจสอบกิจการเหมืองแร่ได้หากมีการร้องเรียน

ตัวแทนของชาวบ้าน ย้ำไปยังรองผู้ว่าราชการจังหวัดว่าข้อเรียกร้อง 3 ข้อของชาวบ้านคือ ปิดเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หิน ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ และพัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและแหล่งอารยธรรมโบราณคดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดจะดำเนินการให้เลยได้หรือไม่เพราะเป็นหน่วยงานจังหวัดที่มีอำนาจโดยตรงและความฉ้อฉลของการต่ออนุญาตให้ทำเหมืองก็มีออกมาอย่างชัดเจนแล้ว ซึ่งเวียงชัย ตอบกลับชาวบ้านว่า ในเรื่องของประทานบัตรใบเดิมนั้นอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลตนไม่อาจก้าวล่วงและใช้มาเป็นประเด็นในการพิจาณาตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านในครั้งนี้ได้ และคนที่จะมีอำนาจยกเลิกก็คือคนที่เป็นคนออกคำสั่งคือกระทรวงอุตสาหกรรม

ขณะที่ อุทัย สอนเทศ อุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภู ชี้แจงว่า ถ้าเสนอให้ปิดเหมืองตนอาจจะไม่ผิด แต่อธิบดีอาจจะมีความผิดเพราะอาจจะโดนบริษัทเอกชนฟ้องได้ ถ้าจะเสนอให้ปิดก็ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนอีกครั้งเสียก่อน ซึ่งตัวแทนชาวบ้านระบุว่าหากเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องดูแลเรื่องนี้โดยตรงตอบแบบนี้ก็ไม่เห็นทางที่จะเจรจากันไปต่อได้ พวกตนไม่เห็นประโยชน์ของการเจราครั้งนี้ เพราะครั้งนี้เราไม่ได้ขนมาเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านให้เห็นแต่เราได้นำทางออกมาเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาได้โดยตรง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ดำเนินการอะไรเลย เราจึงขอยุติการเจรจาในครั้งนี้ และขอพึ่งตนเองด้วยการไปปิดเหมืองด้วยสองมือสองเท้าของพวกเราเอง

อย่างไรก็ตามหลังการประชุม ชาวบ้านเห็นว่ายังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน จึงเดินทางไปปิดทางเข้าเหมือง จนกว่าหน่วยงานรัฐจะดำเนินการแก้ไขปัญหา 

ชาวบ้านร่วมกันปิดทางเข้าเหมือง2.JPGบรรยากาศหน้าศาลากลางจังหวัด9.jpg