ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกมหาดไทยเผยความคืบหน้า พ.ร.ก.เว้นความผิดอาญาผู้นำส่งปืนเถื่อนให้ทางการ - มท.1 ลงนามแล้ว - พร้อมส่ง ครม. พิจารณา

26 ก.พ.2567 ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการตามข้อสั่งการที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้กระทรวงมหาดไทย กำหนดมาตรการให้ผู้ครอบครองอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนผิดกฎหมายนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนมาส่งมอบให้แก่ทางราชการ พร้อมกำหนดยกเว้นความรับผิดทางอาญาให้แก่บุคคลนั้นด้วย เพื่อให้เป็นมาตรการลดจำนวนปืน สิ่งเทียมอาวุธปืนผิดกฎหมายที่มีผู้ใช้ในการก่ออาชญากรรมและความรุนแรงในสังคม

ล่าสุด กระทรวงมหาดไทย ได้ยกร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ยกเว้นความรับผิดทางอาญาให้แก่ผู้นำอาวุธปืน หรือเครื่องกระสุนปืน ที่ไม่ได้รับอนุญาติหรือที่กฎหมายห้ามออกใบอนุญาต หรือสิ่งเทียมอาวุธมามอบให้แก่ทางราชการ พ.ศ.... พร้อมกับยกร่างหลักเกณฑ์และวิธีการในการส่งมอบ การรับมอบ การเก็บรักษา และการทำลายอาวุธปืนที่ได้มีการนำมาคืนดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว และ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ลงนามในร่าง พ.ร.ก. และ ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) นำบรรจุเป็นวาระเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติและดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อมีผลบังคับต่อไป

ไตรศุลี กล่าวว่า ที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ได้มีมาตรการทางกฎหมายดังกล่าว เนื่องด้วยปัจจุบันได้เกิดกรณีการประทุษร้ายทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ปรากฎขึ้นจำนวนมาก ซึ่งสถิติปี 2559-66 พบว่าอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุอาชญากรรมนั้น ร้อยละ 83 เป็นอาวุธปืนผิดกฎหมาย ขณะที่สิ่งเทียมอาวุธปืนซึ่งดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นจากการลักลอบทำ ดัดแปลง สั่ง นำเข้า ค้า ทั้งช่องทางปกติและช่องทางออนไลน์ ซึ่งเพียงการการจับกุมปราบปรามไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด จำเป็นต้องมีหลายมาตรการควบคู่กัน เพื่อเร่งลดผลกระทบต่อทางสังคมจากปัญหาอาวุธปืน ทั้งทางด้านความเชื่อมั่นความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย ความมั่นคง ทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการลงทุน

“การควบคุมอาวุธปืน และสิ่งเทียมอาวุธปืนให้มีจำนวนลดน้อยลง ถือเป็นกรณีฉุกเฉิน จำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศและความปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งการออก พ.ร.ก.ยกเว้นความรับผิดทางอาญาให้แก่ผู้นำอาวุธปืน หรือสิ่งเทียมอาวุธที่ไม่ได้รับอนุญาตมาส่งมอบให้ทางราชการในเวลาที่กำหนด พร้อมกำหนดเกณฑ์การส่งมอบ การเก็บรักษา การทำลายอาวุธปืนดังกล่าว จะเป็นมาตรการที่จะช่วยให้มีการลดจำนวนอาวุธปืนในระบบลงได้ในเวลาอันสั้น”