แม้โรงเรียนนานาชาติ ซึ่งมีปฏิทินการเรียนการสอนที่ไม่ต้องรอเปิดภาคการศึกษาในวันที่ 1 ก.ค. ที่จะถึงนี้เหมือนกับโรงเรียนระบบไทย แต่สิ่งที่โรงเรียนหลักสูตรต่างประเทศเจอไม่ต่างกัน หรือในมิติหนึ่งอาจจะหนักกว่าก็คือปัญหาการแบกรับต้นทุนมหาศาลต่อเดือนที่ไม่สามารถผ่อนผันได้ ท่ามกลางการขาดรายได้อย่างหนัก
‘ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์’ เดินทางไปพูดคุยกับ ‘วิราวรรณ มูลตรีภักดี’ เจ้าของและผู้บริหารโรงเรียนนานาชาติมูลตรีภักดี ในจังหวัดชลบุรี ก่อนพบว่านอกจากปัญหาเรื่องต้นทุนค่าแรงบุคลากรแล้ว การแก้ปัญหาความไม่พร้อมในการดูแลบุตรหลานของผู้ปกครองก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน
การต้องเลี้ยงบุคลากรซึ่งแบ่งเป็นครูชาวต่างชาติ 73 ราย ครูชาวไทย 83 ราย ทีมผู้บริหารทั้งไทยและต่างชาติอีก 10 ราย รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ในส่วนต่างๆ ของโรงเรียนอีกราว 50 ราย ทำให้ค่าใช้จ่ายที่มาจ่อรอให้ ‘วิราวรรณ’ จัดสรรทุกเดือนสูงถึง 14 ล้านบาท ซึ่งเธอกล่าวว่า โดยปกติก็จะสามารถจัดสรรได้จากรายรับ ส่วนของค่าเทอมและค่าธรรมเนียมที่มีกว่าร้อยละ 60 ก็ถูกนำไปจ่ายค่าบุคลากรเป็นหลัก
นอกจากนี้ สถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่เอื้อให้โรงเรียนสามารถเปิดการเรียนการสอนแบบปกติได้ ทางออกเดียวที่มีคือการเรียนการสอนออนไลน์ที่คณะผู้บริหารใช้เงินลงทุนจำนวนไม่น้อยไปกับการพัฒนาระบบรวมไปถึงอุปกรณ์เครื่องมือในการอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอน
‘วิราวรรณ’ ในฐานะผู้ที่ปั้นโรงเรียนนานาชาติอายุครบทศวรรษมาแล้วย้ำว่า ความเป็น ‘นานาชาติ’ ไม่ได้แพงแค่เพราะชื่อ แต่เพราะระบบ หลักสูตร ตำรา รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียนโดยเฉพาะกับเด็กมัธยมปลายที่ต้องเตรียมตัวศึกษาต่อทั้งในระบบมหาวิทยาลัยไทยหรือต่างชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถขาดตกบกพร่องไปได้ แม้ในการเรียนการสอนออนไลน์ หรือแม้แต่ช่วงที่รายรับจากค่าเทอมเข้ามาแค่ร้อยละ 30 จากจำนวนคาดการณ์เต็มต่อปี
นอกจากภาระด้านสภาพคล่องทางการเงินของผู้ปกครองจะมีปัญหา ซึ่ง ‘วิราวรรณ’ ยอมรับว่าในช่วงแรกที่ยังไม่มีมาตรการล็อกดาวน์เมืองพัทยา เธอก็ไม่ได้ประเมินว่าสถานการณ์จะหนักอย่างที่เป็นอยู่ เพราะธุรกิจส่วนมากยังคงดำเนินต่อไปได้ แต่เมื่อมีการประกาศล็อกดาวน์ออกมา ผลกระทบจึงเกิดขึ้นอย่างทันทีและรุนแรง เพราะผู้ประกอบการจำนวนมาก ซึ่งเป็นผู้ปกครองส่วนหนึ่งของเด็กนักเรียนทั้งหมดราว 630 คน มีปัญหาด้านการเงินอันนำไปสู่การชำระค่าเล่าเรียนล่าช้า หรือไม่สามารถชำระค่าเล่าเรียนได้
ผอ.โรงเรียน ยอมรับว่าแม้จะต้องแบกต้นทุนสูงอยู่แล้วต่อเดือน แต่ก็เล็งเห็นความลำบากของผู้ปกครองเช่นเดียวกัน และย้ำว่าต้องร่วมมือกันให้สามารถผ่านตรงนี้ไปให้ได้ทั้งฝั่งผู้ปกครองและโรงเรียน จึงมีการปรับลดค่าเทอมทั้งในระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ในสัดส่วนร้อยละ 40, 30 และ 20 ตามลำดับ
รวมไปถึงการเข้าพูดคุยกับบุคลากรในโรงเรียนเพื่อขอปรับลดค่าตอบแทนลดหลั่นกันไปจากฐานเงินเดือน โดยโรงเรียนขอลดค่าจ้างครูต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวฟิลิปปินส์ลงร้อยละ 30 ขณะที่ปรับลดเงินเดือนของบุคลากรชาวฟิลิปปินส์ลงร้อยละ 20 และตามมาด้วยบุคลากรไทยอีกร้อยละ 10
‘วิราวรรณ’ ชี้แจงว่า “ทำไมถึงลดไม่เท่ากันเพราะว่าระดับเงินเดือน ครูต่างชาติเงินเดือนจะอยู่ในหลักที่ค่อนข้างจะสูง โดยเฉพาะครูที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะวิชา ไม่ว่าจะเป็น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือว่าอังกฤษ แล้วก็วิชาเฉพาะต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้วบุคลากรเข้าใจ สถานการณ์ปัจจุบันดี แต่ว่าเรื่องการลดเงินเดือนเขาก็ต้องมีการชี้แจงพอสมควร เพราะว่าถ้าต่างชาติลด 30 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าเยอะมาก แต่ว่าเราต้องขอความร่วมมือกับเขา คือสรุปแล้วคือก็เป็นอันว่ามีมติคือจำเป็นต้องทำ”
“ถ้าจะให้รอด ต้องรอดทั้งผู้ปกครองและโรงเรียน” วิราวรรณ กล่าว
อีกทั้งเมื่อสำรวจปัญหาของผู้ปกครอง ทีมผู้บริการและคณะครูยังพบว่าพ่อแม่หลายคนประสบปัญหาไม่สามารถดูแลให้บุตรหลานของตนเองนั่งเรียนหนังสือหน้าคอมพิวเตอร์ได้ดีเท่าที่ควร ขณะที่หลายรายก็ไม่ได้เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษในระดับสูงเพียงพอที่จะสอนเนื้อหาวิชาเรียนให้กับบุตรหลานของตน จึงเป็นที่มาว่าทางโรงเรียนต้องคอยส่งครูไปตามบ้าน (teacher on delivery) เพื่อช่วยเหลือในการจัดระบบการเรียนและแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง โดยโรงเรียนไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด
ผอ.โรงเรียน ชี้ว่า สถานะทางการเงินของโรงเรียนตอนนี้จัดอยู่ในระดับ “มีปัญหาพอสมควร” จากทั้งค่าจ้างบุคลากรที่แม้จะปรับลดลงมาแล้วก็ยังมีสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับรายจ่ายอื่นๆ รวมทั้งรายรับจากค่าเทอมก็ยังเข้ามาแบบไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางโรงเรียนเพิ่งได้รับอนุมัติสินเชื่อมูลค่า 10 ล้านบาท ผ่านมาตรการซอฟต์โลนจากธนาคารกรุงเทพเข้ามาพยุงในช่วงวิฤต โดยเธอยอมรับว่าเม็ดเงินดังกล่าวให้มา ว่ากันตามจริงก็ถือว่าไม่เพียงพอ แต่ก็ยังเข้ามาได้ทันท่วงทีอยู่บ้าง
นอกจากนี้ เธอกล่าวในฐานะคนทำธุรกิจว่า การบริหารจัดการเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด กรณีโรงเรียนก่อนหน้าจะมีวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เพิ่งสร้างตึกเรียนรวมถึงห้องเรียนเฉพาะทางเพื่อการศึกษาวิชาทางวิทยาศาสตร์เสร็จไปและยังต้องแบกภาระเรื่องหนี้สินเดิมจากเงินลงทุนอยู่ แต่ก็ผ่านมาได้เพราะเลือกบริหารธุรกิจโดยกู้สินเชื่อแต่ที่มีกำลังผ่อนจ่ายไหวเท่านั้น สำหรับกรณีปัจจุบันก็เน้นเทคนิคการโยกเงินจากแผนที่ยังไม่จำเป็นเร่งด่วนมาร่วมกับการปรับลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นอื่นๆ ลง
ในช่วงท้าย 'วิราวรรณ' ในฐานะเจ้าของโรงเรียนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายไม่ใหญ่มากในภาคธุรกิจเดียวกันกล่าวว่า การจะรอดจากวิกฤตนี้ก็ต้องรอดกันครบทุกองคาพยพซึ่งในกรณีของเธอคือ โรงเรียน บุคลากร ผู้ปกครอง และเด็กนักเรียน โดยต้องไม่ลืมที่จะรักษาคุณภาพของธุรกิจตนเองไว้ให้ได้มากที่สุดเช่นเดียวกัน