นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยผลการประชุมว่า เตรียมทำสมุดปกขาว (ไวท์เปเปอร์) ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. นี้ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง พิจารณาภายในเดือน ก.ค.เพื่อให้กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก รวมถึงการฟื้นกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ โดยจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่ควรเร่งรัดดำเนินการทั้งระยะสั้นและระยะยาว
"ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก ที่อยู่ในภาวะชะลอตัว ส่งผลกระทบกับภาคส่งออกของไทย ทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมหดตัวลง ดังนั้นสิ่งแรกที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการหลังเข้าหลังตำแหน่งคือกระตุ้นเศรษฐกิจให้แข็งแรงขึ้น" นายสุพันธุ์ กล่าว
ทั้งนี้ ประเมินว่า การส่งออกไทยในปีนี้ น่าจะเติบโตที่ร้อยละ 3-5 จากปีที่ผ่านมา เติบโตร้อยละ 6.7 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว ทั้งนี้ จะมีการปรับคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกอีกครั้งในเดือน ก.ค. นี้
อีกทั้ง เศรษฐกิจไทยขณะนี้ ยังนิ่งอย่างต่อเนื่อง แม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา อาทิ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย มาตรการด้านภาษี แต่ก็ช่วยไม่ได้มากนัก และน่าจะเป็นเพียงการพยุงเศรษฐกิจในช่วงรอรัฐบาลใหม่เท่านั้น
ส่วนเรื่องราคาสินค้าเกษตรที่ยังไม่ดีขึ้น ประกอบกับภัยแล้งเข้ามาแรงและเร็วขึ้น จึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรด้วย แต่ทั้งนี้ ต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร
ส่วนสมุดปกขาวที่จะเสนอ นอกจากเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศแล้ว ยังเสนอให้จัดตั้งคณะทำงานประชุมร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในทุก 3 เดือน เพื่อทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ และจีน ซึ่งสหรัฐฯ ส่งสัญญาณขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน
ขณะที่คาดว่า เครื่องมือที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ คือ การท่องเที่ยว ที่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะไม่ฟื้นเท่าปี 2561 แต่นักท่องเที่ยวในตลาดอื่นโตขึ้น
คงดอกเบี้ยนโยบาย หวังหนุนเศรษฐกิจขยายตัว ท่ามกลางความเสี่ยงต่างประเทศ
ขณะที่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 3/2562 มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า การตัดสินใจของคณะกรรมการฯ ครั้งนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย และเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง
คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ประกอบกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยภายในประเทศ ที่มีอยู่สูงในระยะข้างหน้า
ดังนั้น คณะกรรมการฯ จะติดตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน พร้อมแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ พร้อมความไม่แน่นอนของปัจจัยในประเทศ รวมถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่และการใช้จ่ายของรัฐ ตลอดจนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ และผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
แต่เมื่อมองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แม้แรงส่งจากอุปสงค์ต่างประเทศจะชะลอตัวลง ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบันจึงยังมีความเหมาะสม โดยจะติดตามพัฒนาการขยายตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :