ไม่พบผลการค้นหา
มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2019 ดีใจองค์กรระดับประเทศ ได้ยินเสียงนางงาม กรมสุขภาพจิตดึงเป็นทูตช่วยคนไทยมีสุขภาพจิตดี พร้อมเปิดตัวโครงการ ‘Let Me Hear You’ สร้างเครือข่ายจิตอาสาการเป็นผู้ฟังที่ดี ลดปัญหาฆ่าตัวตาย นำไปประชาสัมพันธ์ให้ทั่วโลกรับรู้บนเวที ‘มิสเวิลด์ 2019’ ในเดือนธันวาคมนี้

น.ส.นรินทร ชฎาภัทรวรโชติ หรือ เกรซ มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2019 (Miss Thailand World 2019) เปิดตัวโครงการอาสา Let Hear You ต้องการรณรงค์ให้คนในสังคมรับบทบาทการเป็นผู้ฟังที่ดีให้มากขึ้น โดยเริ่มจากคนในครอบครัว และเพื่อนสนิทในสถานศึกษา หรือที่ทำงาน หวังว่าการเป็นผู้ฟังจะช่วยให้ผู้ที่��ีความเครียด วิตกกังวล หรือตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า ได้ระบายความทุกข์ใจ และมีกำลังใจ ในการใช้ชีวิตมากขึ้น ส่งผลไปยังเป้าหมายสูงสุด คือ การลดการสูญเสียในสังคม และลดอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทย

ภายหลังจากเกรซคว้ามงกุฏมาครองโดยมีสมองนำความสวย กรมสุขภาพจิต เห็นความสำคัญของโครงการ และความทุ่มเทของนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ เอกจิตวิทยา ที่มีประสบการณ์เป็นอาสาสมัครนักจิตวิทยาปรึกษาช่วยหน่วยงานมหาวิทยาลัย ที่เรียกว่า TCAPS CENTER (Thammasat Counselling and Psychological) ในการทำงานด้านสุขภาพจิต เข้าแข่งขันโครงการจิตอาสา จนได้รับรางวัลชนะเลิศทั้งตัวโครงการ และตำแหน่งสูงสุดจากเวทีนี้ จึงสนับสนุนให้ขึ้นเป็น ‘แบรนด์แอมบาสเดอร์กรมสุขภาพจิต’ คนแรก ทำหน้าที่เป็นทูตด้านสุขภาพเพื่อช่วยให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น และเปิดใจรับฟังกันมากขึ้น พร้อมกับเปิดตัวโครงการ Let Me Hear You นำมาต่อยอดในระยะยาว โดยมีความเชื่อมั่นว่า จะเป็นโครงการช่วยเหลือสุขภาพจิตคนไทยได้เป็นอย่างดี

MTW เปิดตัวโครงการ Let Me Hear You

“ไม่คิดมาก่อนว่าโครงการที่เราทำจะได้รับความสนใจ ดีใจมากๆ ที่ผู้ใหญ่และองค์กรระดับชาติ ได้ยินเสียงของนางงาม” เกรซ เผยความรู้สึกในงานแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ที่มี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธาน ช่วงบ่ายของวันที่ 1 ก.ย.62 ที่ โรงแรม อมารี วอเตอร์เกท

"โครงการนี้เป็นโครงการที่คิดทำมาก่อนประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์ด้วยซ้ำ ที่มหาวิทยาลัยมีศูนย์การให้คำปรึกษาอยู่แล้ว เพียงแต่ให้คำปรึกษาแค่คนภายในองค์กร แต่เราคุยกับเพื่อนๆ อยากให้คนทั่วโลกและคนในสังคมรับรู้มากยิ่งขึ้น ยังมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับผู้ป่วยทางจิตเวช บางทีเรามองว่าสังคมเกิดอาการรังเกียจ ไม่เข้าใจและไม่เคารพซึ่งกันและกัน การได้มาเป็นตรงนี้มันสำคัญมากๆ

"พอมีประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์ ตั้งใจมาประกวดเพื่อนำโครงการนี้มาบอกกล่าวให้เป็นที่รู้จัก ตอนแรกยังไม่มองถึงตำแหน่ง อยากให้โครงการนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น พอชนะแล้วก็มองว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก จะได้นำโครงการที่เราคิดมาตั้งแต่แรกมาต่อยอด ดีใจที่กรมสุขภาพจิต มีโครงการหัวใจมีหู เป้าหมายเดียวกัน รณรงค์ให้คนในสังคมรับฟังกันมากขึ้น ได้มาคุยกันและทำแคมเปญออกมา”

MTW เปิดตัวโครงการ Let Me Hear You

สำหรับกิจกรรมในวันเปิดตัวโครงการ Let Me Hear You เกรซได้เข้าร่วมเป็นจิตอาสาอบรมการเป็นผู้ฟังที่ดี พร้อมกับเครือข่ายจิตอาสาอีก 50 คน ในกิจกรรม ‘Workshop สร้างจิตอาสาผู้ฟังที่ดี สู่สังคมไทย’ เรียนรู้เทคนิคการเป็นผู้ฟังที่ดีจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำไปต่อยอดช่วยเหลือคนในสังคมที่มีคสามเครียด และขาดคนรับฟัง รวมทั้งได้เข้าร่วมวงเสวนาให้ความรู้ในกิจกรรม ‘Listen in the garden เสวนาด้วยหัวใจ..สร้างคนไทยเป็นผู้ฟัง’ และเป็นผู้บรรยายแนวทางทำกิจกรรม ‘Let Me Hear You’ เพื่อช่วยเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในการเป็นผู้รับฟังที่ดีลดการฆ่าตัวตายในสังคมไทย ซึ่งเป็นโครงการที่จะนำไปประชาสัมพันธ์ในการประกวด Miss World 2019 ที่ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในเดือนธันวาคมปีนี้อีกด้วย

“จากที่เราคิดคนเดียว สามารถต่อยอดจริงจังได้ เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก กรมสุขภาพจิตมีนักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษา จากที่ฟังนักจิตวิทยาอาสา 50 คน ยิ่งรู้สึกดีที่เขาบอกว่า ดีใจมากๆ ที่มีโครงการนี้เกิดขึ้นมา และอยากติดตามเราไปเรื่อยๆ ยิ่งทำให้เรารู้สึกตื้นตัน เรามาถูกทางแล้ว ที่จะพัฒนาและสามารถนำโครงการนี้ทำร่วมกับกรมสุขภาพจิต เอาไปสู้บนเวทีมิสเวิลด์ได้ เพราะเราทำจริงๆ เวลาพูดมันจะออกมาจากข้างใน และคนจะรับรู้ได้ดีกว่า แค่ทำไม่กี่ครั้งแล้วไปพูด คนเขาดูออกว่าเฟค” เธอยืนยันตั้งใจทำโครงการนี้จริงจัง ให้ได้ผลสำเร็จในระยะยาว มิใช่การสร้างโปรไฟล์สวยหรู ทำให้สาวงามตัวแทนจากประเทศไทย มีจุดขาย หรือดึงดูดความสนใจ ในการประชันความงามบนเวทีระดับโลก

“ตอนนี้ถือว่าสำเร็จไปครึ่งทาง คนในสังคมเริ่มรู้จักการรับฟังมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่จะทำให้เกรซ รู้สึกโอเคโครงการประสบความสำเร็จ คือเราสามารถสร้างคนที่จะช่วยเหลือคนอื่นๆ ต่อไปอีกก็จะกระจายเป็นวงกว้างไปอีก สามารถระบายความเครียด ความทุกข์ใจ ที่สำคัญทำให้คนลดการคิดสั้น หรือการฆ่าตัวตาย ตรงนี้จะเป็นจุดที่ทำให้รู้สึกว่าประสบความสำเร็จมากๆ อัตราการฆ่าตัวตายทุกวันนี้ค่อนข้างสูง ด้วยเทคโนโลยี สภาพสังคมต่างๆ ทำให้คนไม่รับฟังกันมากขึ้น ก็จะกลับมาประเด็นเดิม คือ ต้องรับฟังกันมากขึ้น”

MTW เปิดตัวโครงการ Let Me Hear You

นอกจากสร้างจิตอาสาออกไปทำกิจกรรมแล้ว เกรซ ยอมรับว่า ยังมีความคิดอยากจะทำแคมปัสทัวร์รณรงค์เรื่องนี้ ตามสถาบันการศึกษา เชิญนักจิตวิทยาไปให้ความรู้ และทำเพลงออกมาเป็นสื่อช่วยให้คนเห็นความสำคัญของโครงการมากยิ่งขึ้น

มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2019 บอกด้วยว่า การเป็นผู้ฟังที่ดีสำคัญที่สุด คือ ต้องมีใจที่พร้อมเปิดรับฟัง จับความรู้สึกของผู้พูด และยอมรับอย่างไม่มีอคติ

"ต้องตั้งใจฟังโดยไม่พูดแทรก เมื่อเรารับฟังเขาโดยไม่ตัดสินเขา ไม่เอาสิ่งที่เราคิด ความเชื่อ ค่านิยมต่างๆ ไปตัดสิน จะทำให้เราเข้าใจเขาได้มากยิ่งขึ้น อีกอย่างหนึ่งเราต้องสามารถทำให้เขาไว้ใจได้ เขาสามารถพูดกับคน คนนี้ได้ รับฟังโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่จำเป็นต้องตัดสินว่าเขาถูกหรือผิด ฟังโดยที่เราไม่ไปบอกเขาว่า คุณควรจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพียงแค่รับฟังรอให้เขาพูดจบ และแค่บอกว่าเรื่องมันมาเป็นแบบนี้ๆ เป็นการสะท้อนว่าที่เขาพูดมาเป็นแบบนี้ไหม แล้วเขาจะรู้ตัวเขาเอง บางทีคนเราเข้าใจผิด คุณเก่งมาก และคอยชี้แนะคนอื่นต้องทำอย่างไร มีช้อยส์ให้เลือกโน่นนี่นั่น แต่ความจริงมันไม่ใช่ เราแค่รับฟังและชวนให้เขาคิดตามว่า เรื่องราวของเขาเอง เขาจะมีวิธีแก้ไขแบบไหนของเขาได้บ้าง"

MTW เปิดตัวโครงการ Let Me Hear You

เกรซ ทิ้งท้ายว่า ทุกคนมีวิธีแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน เราไม่สามารถชี้นำผู้อื่นได้ ว่าควรทำอย่างไรถึงจะดี หน้าที่ของผู้ฟัง คือ แค่รับฟัง

ในขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพ แนะนำประชาชนสำหรับการเป็นผู้ฟังที่ดีนั้น ประกอบด้วยเทคนิคการฟังง่ายๆ 3 ประการ

1.การฟังด้วยหู คือ การรับฟังเรื่องราว เนื้อหา สาเหตุ

2.การฟังด้วยตา คือ การฟังสีหน้า ท่าที กิริยา

3.การฟังด้วยใจคือ การรับฟังอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการลึกๆ

ด้าน ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต บอกว่า กรมสุขภาพต้องการสร้างเครือข่ายจิตอาสาผู้ฟังที่ดีอยู่แล้ว มองเห็นว่าโครงการของเกรซ เป็นเรื่องเดียวกัน จึงเกิดการจับมือทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างจิตอาสาผู้ฟังที่ดีจากโครงการนี้ กระจายตัวออกไปทำกิจกรรม Street Side Listener ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ต้องการคนรับฟัง ให้ความรู้ การป้องกันการฆ่าตัวตาย นอกจากจิตแพทย์แล้วต้อง จำเป็นต้องมีภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม การดึงน้องเกรซ มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์กรมสุขภาพจิต เชื่อมั่นว่ามีความตั้งใจจริง มีทัศนคติที่ดีต่อสุขภาพของคนไทย ไม่ใช่ในฐานะนางงามเท่านั้น แต่ในฐานะนักศึกษาจิตวิทยาด้วย

โฆษกกรมสุขภาพจิต เผยด้วยว่า อัตราเฉลี่ยการฆ่าตัวตายของคนไทย ช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา อยู่ที่ 6-6.5 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 1 แสนประชากรต่อปี คิดเป็นเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 4,000-4,300 คน โดยตัวเลขเหล่านี้มาจากใบมรณบัตร ส่วนปัญหาที่ทำให้ฆ่าตัวตายสำเร็จ และไม่สำเร็จ อันดับ 1 ความสัมพันธ์ ทะเลาะเบาะแว้งกับคนรัก และครอบครัว 40 เปอร์เซ็นต์

อันดับ 2 ปัญหาด้านสุขภาพจิต เป็นโรคซึมเศร้า 15-20 เปอร์เซ็นต์

อันดับ 3 ปัญหาด้านเศรษฐกิจ 9-10 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตามการฆ่าตัวตาย ไม่ได้เกิดจากปัญหาเดียว ยกตัวอย่าง คนมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ แต่มีครอบครัวที่ดีพร้อมรับฟังปัญหาอย่างเข้าใจ จะไม่ส่งผลหรือส่งผลน้อยลง ต่างจากคนที่มีปัญหาเศรษฐกิจ และมีปัญหาอื่นๆ รุมเร้า โอกาสเสี่ยงจะสูงขึ้นตามไปด้วย