เมื่อเดือน ก.พ.2018 เดวิด ชาฮาร์ และมาร์ค เซเยอร์ จากมหาวิทยาลัยซันชายน์โคสต์ของออสเตรเลีย เผยแพร่ผลวิจัยเกี่ยวกับกระดูกท้ายทอย โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างทั้งชายและหญิง อายุ 18-86 ปี จำนวน 1,200 คน พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีกระดูกท้ายทอยยาวผิดปกติ หรือเกินกว่า 2 เซนติเมตร จึงตั้งสมมติฐานว่าลักษณะดังกล่าวอาจเกิดจากที่คนยุคนี้ก้มดูโทรศัพท์มือถือมากจนเกินไป
งานวิจัยดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านวารสาร Nature และสื่อต่างประเทศหลายสำนัก ทั้งบีบีซี และวอชิงตันโพสต์ ได้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวอีกครั้งเมื่อต้นเดือน มิ.ย.2562 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การใช้โทรศัพท์มือถืออาจส่งผลกระทบต่อลักษณะทางกายภาพของมนุษย์มากกว่าที่คิด
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นโต้แย้งบทความดังกล่าวที่อ้างอิงงานวิจัยของชาฮาร์และเซเยอร์ โดยหนึ่งในนั้น คือ คริสตินา คิลส์โกรฟ นักวิทยาศาสตร์ที่เป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารฟอร์บส ระบุว่าสิ่งที่ปรากฏในฟิล์มเอกซเรย์ประกอบงานวิจัยของชาฮาร์และเซเยอร์ คือ ปุ่มนอกของท้ายทอย หรือ external occipital protuberance (EOP)
ปุ่มนอกของท้ายทอยไม่ใช่กระดูกที่งอกออกมาใหม่ และผู้ที่มีปุ่มนอกของท้ายทอยงอกยาวกว่า 2 เซนติเมตรอาจมีพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ส่งผลกระทบหรือเป็นโทษต่อโครงสร้างของกระดูกสันหลังและต้นคอจริง แต่ลักษณะดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะมีการตรวจพบผู้มีปุ่มนอกของท้ายทอยยาวกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปมาก่อนแล้ว
ด้วยเหตุนี้ สมมติฐานว่าคนรุ่นใหม่ที่มีอายุในช่วง 18-29 ปี มีอาการนี้มากกว่าคนวัยอื่นๆ เพราะคนรุ่นใหม่ใช้งานโทรศัพท์มือถือมากเกินไป จึงไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับที่ชัดเจน เพราะผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปก็พบอาการนี้เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ บทความของเดอะนิวยอร์กไทม์สและโรลลิงสโตนยังระบุด้วยว่า ข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ที่ปรากฏในงานวิจัยของชาฮาร์และเซเยอร์ขัดแย้งกันเองจำนวนหนึ่ง เช่น กราฟประกอบขัดแย้งกับข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้สื่อทั้งสามสำนักระบุว่า การรายงานว่าการใช้โทรศัพท์มือถือส่งผลให้คนรุ่นใหม่มีกระดูกท้ายทอยงอกขึ้นมา อาจจะเป็นการตีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง
ที่มา: Forbes/ The Guardian/ New York Times