ใครๆ ก็ตื่นเต้นกับผู้ว่าฯ คนใหม่และคะแนนท่วมท้นของเขา ในขณะที่ตัวเลขคะแนนการเลือกตั้งสมาชิกสภาพกรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองต่างๆ ในระดับท้องถิ่นก็มีหลายมิติให้ถอดสมการ
ข้อมูลพื้นฐานเลือกตั้ง ส.ก.2565
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,357,098 คน
- ผู้มาใช้สิทธิ 2,635,283 คน
- คิดเป็นร้อยละ 60.48%
นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้มาใช้สิทธิเลือก ส.ก. เกิน 50% อาจเพราะได้เลือกตั้งวันเดียวกับเลือกตั้งผู้ว่าฯ ซึ่งกระแสการแข่งขันมาแรง
4 พรรคหลัก วอยซ์รวบรวมคะแนนดิบได้ดังนี้
- เพื่อไทย ได้คะแนนรวมทุกเขต 620,018 คะแนน
- ก้าวไกล ได้คะแนนรวมทุกเขต 485,830 คะแนน
- ประชาธิปัตย์ ได้คะแนนรวมทุกเขต 348,852 คะแนน
- พลังประชารัฐ ได้คะแนนรวมทุกเขต 274,970 คะแนน
สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระอ้างอิงผลลัพธ์ที่รวบรวมโดยอาสาสมัคร Vote62 ระบุว่า
- ไทยสร้างไทย ได้คะแนนรวมทุกเขต 241,945 คะแนน
- รักษ์กรุงเทพ ได้คะแนนรวมทุกเขต 190,206 คะแนน
- กล้า ได้คะแนนรวมทุกเขต 53,332 คะแนน
- รวมไทยยูไนเต็ด ได้คะแนนรวมทุกเขต 21,183 คะแนน
- ภูมิใจไทย ได้คะแนนรวมทุกเขต 19,789 คะแนน
คะแนน Vote No หรือ 'ไม่เลือกผู้ใด' ของ ส.ก.ทั้ง 50 เขต สูงถึง 200,493 คะแนน คิดเป็น 7.61% ของผู้มาลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ก. (ภาพที่ 1) ถือว่าสูงมาก สูงกว่าโหวตโนของคะแนนฝั่งผู้ว่าฯ ซึ่งมีแค่ 72,227 คะแนน และสูงกว่าการเลือกตั้ง ส.ก.เมื่อปี 2563 ที่มีคน Vote No เพียง 1.89%
จำนวน Vote No ของ ส.ก. ที่สูงมากนั้นสะท้อนให้เห็นถึงการส่งเสียงของประชาชนที่ไม่อยากเลือกผู้สมัครคนใดมาเป็น ส.ก. ในเขตพื้นที่นั้นๆ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะไม่รู้จักตัวผู้สมัคร ส.ก. ในเขตของตัวเองเลย หรือแม้กระทั่งไม่รู้ว่า ส.ก. มีความสำคัญอย่างไร ทำหน้าที่อะไร และเกี่ยวข้อง หรือจะสามารถช่วยเหลืออะไรกับประชาชนในเขตได้บ้าง หรือแม้กระทั่งอาจจะรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพิง ส.ก. ในเขต จึงไม่รู้ว่าอยากเลือกใคร
Rocket Media Lab วิเคราะห์ว่า
- หากเทคะแนน Vote No ให้อับดับ 2 จะทำให้ผลการเลือกตั้ง ส.ก. ในเขตนั้นเปลี่ยนไป คือ คลองสาน ดอนเมือง ดินแดง ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา บางเขน บางคอแหลม บางแค บางนา บางบอน บางรัก ปทุมวัน ประเวศ พญาไท พระโขนง ยานนาวา ราชเทวี ลาดพร้าว วังทองหลาง สาทร หนองจอก หลักสี่ และห้วยขวาง โดยพรรคก้าวไกลได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นมาอีก 8 เขต คือ คลองสาน ดินแดง บางบอน บางรัก ปทุมวัน ประเวศ วังทองหลาง และห้วยขวาง พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอีก 7 เขต บางเขน บางแค พญาไท พระโขนง ราชเทวี ลาดพร้าว และหนองจอก พรรคประชาธิปัตย์ ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอีก 4 เขต คือ ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา บางคอแหลม และยานนาวา พรรคพลังประชารัฐ ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอีก 2 เขต คือ สาทร และหลักสี่ พรรคไทยสร้างไทยได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 1 ที่นั่งในเขตดอนเมือง และกลุ่มรักษ์กรุงเทพได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 1 ที่นั่งในเขตบางนา
- หากเทคะแนน Vote No ให้อันดับ 3 จะมี 12 เขตที่ผลการเลือกตั้ง ส.ก. ในเขตนั้นเปลี่ยนไป ได้แก่ คลองสาน ดินแดง ทวีวัฒนา บางคอแหลม บางแค บางนา บางบอน บางรัก ปทุมวัน พระโขนง ยานนาวา และวังทองหลาง โดยจะทำให้พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นมาอีก 6 เขต คือ คลองสาน ดินแดง ทวีวัฒนา บางนา บางบอน และปทุมวัน พรรคพลังประชารัฐ ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอีก 2 เขต คือ บางแค และพระโขนง พรรคก้าวไกล กล้า ประชาธิปัตย์ และกลุ่มรักษ์กรุงเทพ ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นพรรค/กลุ่มละ 1 เขต คือ ก้าวไกลในเขตบางคอแหลม พรรคกล้าในเขตยานนาวา พรรคประชาธิปัตย์ในเขตวังทองหลาง และกลุ่มรักษ์กรุงเทพในเขตบางรัก
- หากเทคะแนน Vote No ให้อันดับ 4 จะมี 4 เขตที่ผลการเลือกตั้ง ส.ก. ในเขตนั้นเปลี่ยนไป ได้แก่ วังทองหลาง บางนา ทวีวัฒนา และบางรัก โดยจะทำให้พรรคพลังประชารัฐได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นมาอีก 2 เขต คือ ทวีวัฒนา และบางรัก พรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอีก 1 ที่นั่งในเขตบางนา หรือจะทำให้พรรคไทยสร้างไทยได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอีก 1 ที่นั่งในเขตวังทองหลาง
- หากเทคะแนน Vote No ให้อันดับ 5 จะทำให้กลุ่มรักษ์กรุงเทพได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอีก 1 ที่นั่งในเขตวังทองหลาง
ย้อนไปในปี 2553 ในการเลือกตั้ง ส.ก.ครั้งก่อน เจ้าของแชมป์เดิมคือ ประชาธิปัตย์ (ปชป.) กวาดไป 45 ที่นั่ง เพื่อไทย 15 ที่นั่ง อิสระ 1 ที่นั่ง ขณะที่การเลือกตั้ง ส.ก.ปี 2565 ปชป.ได้ 9 ที่นั่ง เพื่อไทย 20 ที่นั่ง ก้าวไกล 14 ที่นั่ง รักษ์กรุงเทพ 3 ที่นั่ง พลังประชารัฐ (พปชร.) 2 ที่นั่ง ไทยสร้างไทย 2 ที่นั่ง
การแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ก.ปี 53 กับ 65 ไม่เหมือนกัน คือ 61 เขต กับ 50 เขต ดังนั้น หากเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์จะเห็นภาพชัดกว่า ซึ่งเราพบว่า ปี 2553 ปชป.ได้ 74%, เพื่อไทยได้ 25% ขณะที่ในปี 2565 ปชป.ได้ 18% เพื่อไทยได้ 40%
อย่างไรก็ดี การเลือกตั้ง ส.ก.ในปี 2553 อาจนำมาวิเคราะห์การเมืองปัจจุบันไม่ได้ เนื่องจากพรรค พปชร. และก้าวไกลยังไม่ถือกำเนิด ดังนั้น นักวิเคราะห์ทั้งหลายจึงหยิบใช้ข้อมูลคะแนนดิบในการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 (เฉพาะในเขต กทม.) ที่มีผู้เล่นครบถ้วน เทียบกับคะแนนดิบ ส.ก.ในครั้งนี้ เพื่อดูว่าแต่ละพรรคได้รับความนิยมลดลง/เพิ่มขึ้นเพียงไร
สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า ในการเลือกตั้ง ส.ก.หนนี้ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ไม่ได้ชนะแบบแลนด์สไลด์ ทุกฝ่ายยังคงมีคะแนนฐานที่มั่นของตนเอง อาจมีลดลงหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพียง 4% รายละเอียดมีดังนี้
- ปชป. ได้คะแนนรวมในปี 2562 และ ปี 2565 เท่ากันราวๆ 15%
- ก้าวไกล ได้แคะแนนรวมในปี 2562 สูงถึง 25% แต่หากไม่มีการยุบพรรคไทยรักษาชาติ คะแนนน่าจะอยู่ที่ 20% ซึ่งใกล้เคียงกับสัดส่วนคะแนนของก้าวไกลในปี 2565 ที่ได้ราว 21%
- เพื่อไทย ได้คะแนนรวมในปี 2562 ราว 19% ซึ่งถ้ารวมคะแนนที่ควรเป็นของไทยรักษาชาติด้วยคาดว่าอยู่ที่ 26% เท่ากับคะแนนรวมของเพื่อไทยในปี 2565 ที่ได้ราว 26%
- พปชร. ได้คะแนนรวมในปี 2562 ราว 25% แต่ในปี 2565 ร่วงมาอยู่ที่ 11%
- เมื่อรวมพรรคฝ่าย ‘ประชาธิปไตย’ เพื่อไทย 26% ก้าวไกล 20% ไทยสร้างไทย 10% แล้วได้ 56% เพิ่มขึ้น 4% จากปี 2562 (เพื่อไทย+อนาคตใหม่+เสรีรวมไทย+เศรษฐกิจใหม่ =52%)
- เมื่อรวมพรรค ‘สนับสนุนประยุทธ์/รัฐประหาร คสช.’ พปชร. 11% รักษ์กรุงทเพ 8% และกล้า 2% จะได้ 21% หรือหายไป 4% นั่นคือส่วนที่เพิ่มไปให้เข่งฝ่ายค้าน
Rocket Media Lab ทำตารางจำแนกที่นั่ง ส.ส.-ส.ก.ในเขตต่างๆ เทียบปี 2562 และปี 2565 เพื่อดูว่าพรรคใดครองพื้นที่ใด แม้การแบ่งเขตจะไม่เหมือนกัน แต่ก็พอทำให้เห็นภาพได้ว่า พื้นที่ไหนพรรคใดได้ ส.ส. และปัจจุบันในการเลือกตั้ง ส.ก.รักษาฐานไว้ได้ หรือสูญเสียให้พรรคใด สรุปได้ดังนี้
- พปชร. รักษาฐานที่มั่นไว้ได้ 1 เขตเคือ เขตหนองจอก
- พปชร. แย่งพรรคเพื่อไทยได้ 1 เขต คือ เขตดินแดง
- พปชร. เสียพื้นที่ให้กับก้าวไกล-เพื่อไทย-ปชป.-รักษ์กรุงเทพ ในหลายเขต (ตามภาพ)
- เพื่อไทย รักษาฐานที่มั่นไว้ได้ 6 เขต คือ คลองสามวา, ดอนเมือง, บึงกุ่ม, ภาษีเจริญ, ลาดกระบัง,ห้วยขวาง
- เพื่อไทยเสียเขตดินแดงให้พลังประชารัฐ, เสียเขตบางเขนให้รักษ์กรุงเทพฯ , เสียเขตบางบอนให้ ปชป., เสียเขตสายไหมให้ไทยสร้างไทย
- ก้าวไกล รักษาฐานไว้ได้ 4 เขต คือ ทวีวัฒนา, บางนา, พระโขนง, ยานนาวา
- ก้าวไกลเสียเขตจอมทอง ทุ่งครุ ธนบุรี บางคอแหลม สวนหลวง ให้เพื่อไทย, เสียคลองสาน บางกอกใหญ่ ให้ ปชป., เสียราษฎร์บูรณะให้ไทยสร้างไทย ซึ่งตัวส.ก.ย้ายมาจาก ปชป.
- ปชป.ไม่ได้ ส.ส.เลยในปี 2562 แต่การเลือก ส.ก.รอบนี้ ทวงคืนมาได้ 9 พื้นที่ โดยส่วนใหญ่ทวงคืนมาได้จาก พปชร.
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้ข้อสังเกตว่า การวิเคราะห์การเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าโดยใช้คะแนน ส.ส.ในปี 2562 เทียบกับคะแนน ส.ก.หรือคะแนนผู้ว่าฯ ในปี 2565 นั้นมีความซับซ้อน เพราะมีความเหมือน-ความต่างที่ต้องคำนึงถึงหลายประการ เช่น การเลือกตั้งระดับมหานคร (เลือกผู้ว่าฯ) ในเมืองใหญ่ทั่วโลกคนมักตัดสินใจโดยเน้น coalition หรือการประสานร่วมมือเพื่อให้ทำงานสำเร็จ จึงอาจไม่ได้คำนึงถึงจุดยืน อุดมการณ์ทางการเมืองมากเท่าการเลือกตั้งระดับชาติ ขณะที่การเลือก ส.ก.เป็นการเมืองระดับชุมชน ซึ่งมีปัจจัยความนิยมตัวผู้สมัครในพื้นที่ที่อาจโยกย้ายพรรคแล้วพาให้พรรคใหม่ชนะการเลือกตั้ง, การลดลงของประชากร การขยายตัวของเมืองไปยังปริมณฑล การเกิดขึ้นของที่พักอาศัยอย่างคอนโดมิเนียมในหลายพื้นที่ซึ่งนำคนใหม่ๆ เข้ามาอยู่อาศัย ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม พิชญ์มองว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะแตกเป็น 4-5 เฉดใหญ่ เพื่อไทย ก้าวไกล ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เอาพล.อ.ประยุทธ์ และฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ โดยสิ่งที่ทุกฝ่ายกำลังเผชิญเหมือนกันก็คือ การขาด ‘ผู้นำ’ ที่ทรงพลังเพียงพอแบบที่นำเสนอแล้วสังคมโดยรวมจะซื้อ
นอกจากลุ้นผลเลือกตั้งว่าใคร/พรรคไหนได้เป็น ส.ก.เขตไหน สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ดูว่าแชมป์ในเขตนั้นๆ ชนะขาด หรือชนะแบบหืดขึ้นคอ เบียดกับพรรคอันดับ 2 มากเพียงไหน
เมื่อดูคะแนนพรรคอันดับ 2 ใน 50 เขต พบว่า
- ก้าวไกล ได้ที่สอง 24 เขต
- ประชาธิปัตย์ ได้ที่สอง 8 เขต
- เพื่อไทย ได้ที่สอง 7 เขต
- พปชร. ได้ที่สอง 6 เขต
- รักษ์กรุงเทพ ได้ที่สอง 2 เขต
- ไทยสร้างไทย ได้ที่สอง 2 เขต
- กล้า ได้ที่สอง 1 เขต
เมื่อดูความสูสีของคะแนนพรรคที่ได้ที่ 2 กับพรรคที่ได้แชมป์ จะพบว่า บางเขตเฉือนกันระดับ 'หลักหน่วย' บางเขตก็ทิ้งห่างกันระดับ 'หลักหมื่น' เช่น
- วังทองหลาง - เพื่อไทย คว้าที่นั่ง ส.ก. แต่คะแนนห่างจากก้าวไกล เพียง 22 คะแนน
- ปทุมวัน - รักษ์กรุงเทพ คว้าที่นั่ง ส.ก. แต่คะแนนห่างจาก ก้าวไกล เพียง 270 คะแนน
- ทวีวัฒนา - ก้าวไกล คว้าที่นั่ง ส.ก. แต่คะแนนห่างจาก ประชาธิปัตย์ เพียง 340 คะแนน
- บางรัก - เพื่อไทย คว้าที่นั่ง ส.ก. แต่คะแนนห่างจาก ก้าวไกล เพียง 350 คะแนน
- บางบอน - ประชาธิปัตย์ คว้าที่นั่ง ส.ก. แต่คะแนนห่างจาก ก้าวไกล เพียง 800 คะแนน
- พระโขนง - ก้าวไกล คว้าที่นั่ง ส.ก. แต่คะแนนห่างจาก เพื่อไทย เพียง 900 คะแนน
- บางแค - ก้าวไกล คว้าที่นั่ง ส.ก. คะแนนห่างจาก เพื่อไทย ราว 1,600 คะแนน
- สาธร - ก้าวไกล คว้าที่นั่ง ส.ก. คะแนนห่างจาก พลังประชารัฐ ราว 1,600 คะแนน
- บางนา - ก้าวไกล คว้าที่นั่ง ส.ก. คะแนนห่างจาก รักษ์กรุงเทพ ราว 2,000 คะแนน
- ดอนเมือง - เพื่อไทย คว้าที่นั่ง ส.ก. คะแนนห่างจาก ไทยสร้างไทย ราว 2,900 คะแนน
- บางพลัด - ประชาธิปัตย์ คว้าที่นั่ง ส.ก. คะแนนห่างจาก ไทยสร้างไทย ราว 4,600 คะแนน
- คลองเตย - รักษ์กรุงเทพ คว้าที่นั่ง ส.ก. คะแนนห่างจาก พลังประชารัฐ ราว 6,500 คะแนน
เป็นต้น
สำหรับเขตพรรคอันดับหนึ่งคะแนนทิ้งห่างอันดับสองแบบ 'นอนมา' เช่น
- ลาดกระบัง - เพื่อไทย คว้าที่นั่ง ส.ก. คะแนนห่างจาก ก้าวไกล ราว 27,000 คะแนน
- หนองแขม - เพื่อไทย คว้าที่นั่ง ส.ก. คะแนนห่างจาก ก้าวไกล ราว 18,000 คะแนน
- ทุ่งครุ - เพื่อไทย คว้าที่นั่ง ส.ก. คะแนนห่างจาก ประชาธิปัตย์ ราว 17,000 คะแนน
- สายไหม - ไทยสร้างไทย คว้าที่นั่ง ส.ก. คะแนนห่างจาก เพื่อไทย ราว 16,000 คะแนน
- จอมทอง - เพื่อไทย คว้าที่นั่ง ส.ก. คะแนนห่างจาก ก้าวไกล ราว 16,000 คะแนน
- บางขุนเทียน - ประชาธิปัตย์ คว้าที่นั่ง ส.ก. คะแนนห่างจาก ก้าวไกล ราว 14,000 คะแนน
- คลองสามวา - เพื่อไทย คว้าที่นั่ง ส.ก. คะแนนห่างจาก พลังประชารัฐ ราว 12,000 คะแนน
- คันนายาว - เพื่อไทย คว้าที่นั่ง ส.ก. คะแนนห่างจาก ก้าวไกลราว 11,000 คะแนน
- จตุจักร - ก้าวไกล คว้าที่นั่ง ส.ก. คะแนนห่างจาก กล้า ราว 10,000 คะแนน
เป็นต้น
หมายเหตุ :
- มี 2 เขตที่ผู้สมัคร ส.ก.จากบางพรรคถูกเพิกถอนรายชื่อโดย กกต. คือ เขตตลิ่งชัน นายเอนก ตุ้มน้อย จากพรรคเพื่อไทย, เขตสะพานสูง นายสมเกียรติ ปานดำ จากพรรคประชาธิปัตย์
- ผู้สมัครพรรคก้าวไกล มีการร้องเรียน กกต. กรณีความผิดปกติในผลการนับคะแนนที่หน่วยดินแดงและวังทองหลาง