ไม่พบผลการค้นหา
’ชวน’นัดลุยถกรัฐสภา 10 ส.ค. โยนที่ประชุมตัดสินใจปล่อยกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ตกหรือไม่ ด้านเลขานุการวิปรัฐบาลยอมรับ พปชร.ยังเห็นต่างสูตร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ย้ำบังคับ ส.ส.มาร่วมประชุมไม่ได้ บางคนต้องไปร่วมงานวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วมประชุมไม่ได้ ปัดยื้อกฎหมายลูก

วันที่ 8 ส.ค. 2565 ที่รัฐสภา ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีหากวันที่ 10 ส.ค. 2565 เพื่อพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... จะทำให้องค์ประชุมรัฐสภาล่ม ว่า อย่าเพิ่งไปสมมติก่อน ให้รัฐสภาล่มแล้วค่อยถาม ซึ่งอย่างที่เราทราบกันที่บางฝ่ายแสดงความเห็นว่าเจตนาจะไม่ให้ครบองค์ประชุม ซึ่งกรณีนี้เป็นเรื่องของสมาชิก ด้านสภาตนได้หารือกับประธานวุฒิสภา และผู้หลักผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบว่าในส่วนของสภาก็ต้องทำหน้าที่ ต้องมีการประชุมให้ถึงที่สุดจะผ่านหรือไม่ก็ตามทำให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่า กฏหมายต้องเสร็จภายใน 180 วัน เพราะฉะนั้นความจำเป็นที่ต้องใช้เวลาที่มีอยู่ทำให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญส่วนผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับสมาชิก ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจแต่ละฝ่าย ซึ่งขณะนี้ชัดเจนว่าสมาชิกบางฝ่ายไม่ประสงค์ให้กฎหมายผ่าน ให้เลย 180 วัน เพื่อนำร่างเดิมที่รัฐบาลเสนอมาใช้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร

ส่วนการประกาศชัดเจนแบบนี้จะกระทบกับจริยธรรมหรือการทำหน้าที่ของสมาชิกว่าขาดประชุมโดยไม่จำเป็นหรือไม่ ชวน ระบุว่า เรื่องการขาดประชุมมีการพูดคุยกันเรื่องวันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยวันหารือมี นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร หรือวิปรัฐบาล มีการพูดจริง แต่ส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาเปลี่ยนแปลง ซึ่งตอนเสนอมีการขอให้เลื่อนจากวัน 10 ส.ค. เป็นวันที่ 11 ส.ค. แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วย ซึ่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขอให้ทราบว่าวันของท่านหาก ส.ส.ในจังหวัดไม่ได้ไปร่วมงานขอให้ทราบว่าสมาชิกต้องไปประชุมสภา จะให้เหตุผลว่าวันกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแล้วจะไม่มาประชุมก็ไม่ค่อยถูกต้อง

'อรรถกร' รับ ส.ส. พปชร. ของเกมยื้อกฎหมายลูก หวังคืนชีพสูตรหาร 100

อรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.แบบบัญชี​รายชื่อ​ พรรค​พลัง​ประชารัฐ ในฐานะเลขานุการ​วิปรัฐบาล ระบุถึงประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายรัฐบาลกำลังเล่นเกมยื้อกฎหมายลูกเลือกตั้ง เพื่อหวังห้วนกลับไปสู่สูตรหาร 500 ว่า ตอนนี้ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ภายในพรรคพลังประชารัฐ ว่าระหว่างสูตรหาร 100 และหาร 500 สูตรไหนเป็นสูตรที่เหมาะสมกับสถานการณ์ แต่ในมุมมองส่วนตัวเห็นว่าสูตรหาร 100 จะเป็นสูตรที่สอดคล้องกับหลักการที่รับมาในวาระที่ 1 มากกว่า และไม่ว่าจะใช้สูตรหาร 100 หรือ 500 ก็มองว่าไม่เป็นปัญหา สำคัญคือต้องประกาศใช้ให้ทันสำหรับการเลือกตั้งในต้นปีหน้า ซึ่งภายในวันที่ 15 ส.ค.นี้ คงได้รู้ว่าสุดท้ายแล้วเราจะได้ใช้สูตรคำนวณแบบใด 

ส่วนที่ประชุมวิปรัฐบาลวันนี้ จะต้องกำชับพรรคร่วมรัฐบาลให้เข้าร่วมประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณากฎหมายลูกเลือกตั้ง ในวันพุธที่ 10 ส.ค.นี้หรือไม่ หลังพรรคฝ่ายค้าน เช่น พรรคเพื่อไทย ประกาศว่าจะไม่ร่วมเป็นองค์ประชุมและลงมติในวาระ 3 อรรถกร ระบุว่า ในนามของตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ คงไม่สามารถไปพูดคุยกับพรรคเพื่อไทยในเรื่องนี้ได้ แต่จากการประชุมร่วมวิป 3 ฝ่าย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่าน นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ และประธานวิปรัฐบาล ได้แสดงความกังวลว่าการประชุมร่วมรัฐสภาในวันพุธนี้ ส.ส. หลายคน ต้องไปร่วมงานวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งถือเป็นงานสำคัญ ซึ่ง ส.ส. หลายคนได้รับปากว่าจะไปงานนี้แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือการขอความร่วมมือให้มาร่วมประชุม แต่คงไม่ถึงขั้นบังคับให้เบี้ยวงาน เพื่อมาร่วมประชุม 

ผู้สื่อข่าวว่า สิ่งที่ อรรถกร ตอบ ดูเหมือนเป็นการยื้อให้กลับไปใช้สูตรหาร 100 อรรถกร แจงว่า ไม่อยากให้เรียกว่าเป็นการยื้อ เพราะเรารู้กันอยู่แล้วว่าวันพุธนี้จะเกิดอะไรขึ้น และวิธีที่จะทำให้กฎหมายฉบับนี้ผ่าน มีหลายวิธี การที่กฎหมายฉบับนี้พิจารณาไม่ทัน ไม่ได้หมายความว่าถึงทางตัน ยังสามารถกลับไปใช้ร่างกฎหมายในวาระ 1 ได้ 

เมื่อถามว่าการทำแบบนี้อาจทำให้ ส.ส. ถูกมองว่าไม่มีความรับผิดชอบ เพราะหน้าที่หลักของ ส.ส. ควรทำงานในสภาโดยเฉพาะในช่วงที่มีการพิจารณากฎหมายสำคัญ อรรถกร ยอมรับว่า เข้าใจ แต่ในบริบทของการเมืองไทย ถ้า ส.ส. ไม่ทำงานร่วมกับในพื้นที่ โอกาสที่จะกลับมาเป็น ส.ส. อีกคงยาก จึงอยากให้ชั่งน้ำหนักให้ดี เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และสิ่งที่พรรคพลังประชารัฐ กำลังจะเลือกในอนาคตอันใกล้นี้ อาจจะเป็นทางเลือกที่ไม่ถูกใจทุกคน แต่เชื่อว่าผู้ใหญ่ในพรรคพิจารณาแล้วว่าทางนี้เป็นทางที่ดีที่สุดแล้ว 

เมื่อถามย้ำว่าเรื่องดังกล่าวถือเป็นข้ออ้างในการไม่เข้าร่วมเป็นองค์ประชุม เพื่อให้กฎหมายลูกเลือกตั้ง พิจารณาไม่ครบ 180 วัน หรือไม่ อรรถกร ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการที่เรียกแบบนั้นได้ ส่วนประเด็นที่มีหลายฝ่ายเตรียมยื่นเอาผิดจริยธรรม ส.ส. ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากจงใจไม่ร่วมประชุมในวันพุธที่ 10 ส.ค. นี้ อรรถกร บอกว่าหากทำแบบนี้คงต้องยื่นสอบย้อนหลังไปหลายร้อยปี เเละใน 3 ปีที่ผ่านมา ส.ส. หลายคน รวมถึงคนที่จะยื่นเรื่อง ก็คงเคยขาดประชุมเหมือนกัน แต่การมายื่นแบบนี้ ถือว่ายังไงๆ อยู่ ดังนั้นสำหรับเรื่องนี้ก็ไม่กังวล เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้มีกำหนดเรื่องนี้ไว้ มองว่าเป็นเพียงแค่วันธรรมดาหนึ่งของปี 

ส่วนประเด็นวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม อรรถกร กล่าวว่า วิปรัฐบาลไม่เคยคุยเรื่องนี้ และคิดว่าคงไม่มีการคุยเพราะวิปรัฐบาลไม่มีอำนาจตัดสิน เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังทำงานลงพื้นที่อย่างเต็มที่ และหัวหน้าพรรค ก็ยังตั้งใจทำงานเหมือนเดิมไม่ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร