นายบุญเสาร์ ประจันตะคาม หรือ พรศักดิ์ ส่องแสง ศิลปินลูกทุ่งหมอลำชื่อดัง เจ้าของเสียงร้องเพลงดังอมตะ เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ, หนุ่มนานครพนม, มีเมียเด็ก ฯลฯ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ ‘วอยซ์ออนไลน์’ เล่าประสบการณ์ชีวิตบนเส้นทางศิลปิน มีทั้งช่วงเวลาที่ขึ้นสุด-ลงสุด และบทเรียนสอนใจที่ได้จากความล้มเหลวในการเป็นผู้นำ สมัยเป็นหัวหน้าวงดนตรี
พรศักดิ์ เล่าว่า เขาเป็นลูกชาวนา เกิดที่บ้านโนนสมบูรณ์ อ.บ้านแฮด (เดิม อ.บ้านไผ่) จ.ขอนแก่น มาเติบโตที่บ้านหนองหญ้าลังกา ต.ปะโค อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ครอบครัวมีฐานะยากจน เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ออกมาช่วยครอบครัวทำนาชนิดหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ไม่เคยคิดว่าจะเป็นนักร้อง จนเป็นหนุ่มนมแตกพานมีความรู้สึกอยากออกไปผจญภัยโลกภายนอก เป็นช่วงเดียวกับที่ครูเพลง 'รักษ์ วัฒนยา' หรือ 'ครูคำหอม' ประกาศรับสมัครสมาชิกร่วมงานกับวงดนตรี จึงไปสมัครเป็นเด็กคอนวอย แบกตู้แบกของให้กับพระเอก-นางเอกหมอลำ
“ได้ฟังพระเอกเขาลำทุกวันๆ ผมเป็นคนจำแม่น จำได้หมดทุกกลอนที่เขาลำ อยู่มาวันหนึ่งหมอลำเริ่มมีปัญหากัน ไม่อยากเล่นอยากได้ค่าตัวเพิ่ม แต่ว่าครูคำหอมท่านเป็นคนไม่ค่อยยอม ท่านบอกว่าเออกูปั้นมึงได้กูสร้างมึงได้กูก็หาคนอื่นได้ ท่านก็เลยเรียกพรศักดิ์มาลำให้ฟัง กูดูแล้วว่ามึงมีแวว ก็ลำให้ท่านฟัง มึงเก่งจริงๆ คืนนี้มึงเป็นพระเอกท่านบอกท่านหาไม่ได้ วันนั้นเลยได้เป็นพระเอก วันนั้นเล่นที่หน้า อ.ไชยวาน จ.อุดรธานี” เขาเล่าจุดเปลี่ยนในชีวิต
เจ้าของฉายา ‘ไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร’ เล่าต่อว่า หลังจากได้รับการสนับสนุนจากครูคำหอมให้บันทึกเทปชุดแรกชื่อชุดว่า ‘เสือสำนึกบาป’ แนวลำล่อง และเริ่มมีกระแสตอบรับที่ดีกับเพลงเสือสำนึกบาป, สาวดิสโก้, ขวัญใจบ้อง ฯลฯ พออายุ 20 ปี ได้อัดเสียงเพลง ‘หนุ่มนานครพนม’ ก่อนไปเป็นทหารเกณท์ 2 ปี ระหว่างรับใช้ชาติเพลงหนุ่มนานครพนมได้รับความนิยมล้นหลาม ครูคำหอมให้ขยับมาทำเพลงแนวลำแพน และลำเพลิน ขยายวงดนตรีให้ใหญ่ขึ้นมีงานเดินสานแสดงคอนเสิร์ตทั่วราชอาณาจักร
ระหว่างปี พ.ศ.2529-2530 ครูคำหอมมุ่งมั่นตั้งใจทำเพลงหมอลำเข้าเธค ซึ่งสมัยนั้นยังไม่ให้การยอมรับเพลงภาษาอีสาน ได้ ‘สุมทุม ไผ่ริมบึง’ ครูเพลงที่เขียนเพลง ‘ทุ่งลุยลาย’ ให้ 'เย็นจิตร พรเทวี' ขับร้องโด่งดัง แต่งเพลง ‘เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ’ เป็นลำเต้ยผสมลูกทุ่งให้ขับร้อง ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังสูงสุด สร้างปรากฏการณ์เป็นศิลปินนักร้องหมอลำคนแรกที่นำเพลงหมอลำเข้าเธค สมใจครูคำหอม
นอกจากออกตระเวนแสดงคอนเสิร์ตทั่วประเทศ และพาหมอลำเดินทางไกลไปทั่วโลก เคยมีการจัดคอนเสิร์ตประชันกันระหว่าง ‘พรศักดิ์ ส่องแสง’ กับ ‘เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์’ ใช้ชื่อว่า ‘คอนเสิร์ตสองคนสองคม’ แสดงเมื่อวันที่ 1 พ.ค. พ.ศ.2530 ที่สนามกีฬาเวโลโดรม หัวหมาก
“พอครูคำหอมจุดประกายตรงนั้นก็ดังระเบิดระเบ้อ ต่างประเทศก็ยอมรับ คนเหนือ คนใต้ คนทุกภาค คือเดินสายทุกภาค อลังการมากสมัยนั้น ลูกน้องหลายร้อยชีวิต บัตรละ 20 บาท สมัยนั้น เก็บ 3 แสน 4 แสน 5 แสน ไม่ธรรมดานะ สมัยส้มตำ ไก่ย่าง 5 บาท ก๋วยเตี๋ยว 3 บาท ทุกวันนี้เก็บบัตรละ 100 ยังเก็บไม่ได้ถึง 5 หมื่นนะ สมัยก่อนมันดังจริงๆ ไปทัวร์คอนเสิร์ตมาทั่วโลก สวิสฯ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส คนไทยที่แต่งงานกับคนที่นั่นก็พาแฟนมาเที่ยว ได้ยินเพลงอีสานจังหวะลำเต้ย มีเสียงพิณเสียงแคนก็เซิ้งกันสนุกสนาน แล้วก็จะหาอีกไม่ได้อีกแล้วเพลงอมตะแบบเต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ ทุกวันนี้ก็ยังร้องอยู่หน้าเวทีก็ต้องร้องทุกคืน ที่ร้องทุกคืนมันจะขาดไม่ได้ก็แม่ของใคร หนุ่มนานครพนม แล้วก็พวกลอยแพ พักหลังก็พวกมีเมียเด็ก”
ศิลปินที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกาศเชิดชูเกียรติให้เป็น 'ศิลปินมรดกอีสาน' ผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี พ.ศ.2559 บอกกับวอยซ์ออนไลน์ต่อว่า เขาเคยพบกับช่วงเวลาที่ตกลงมาสุดขีด เมื่อครูคำหอมเสียชีวิตในปี พ.ศ.2532 เขาขยับขึ้นมาเป็นหัวหน้าวงดนตรี แต่ไม่ประสบความสำเร็จกับการเป็นผู้นำ เนื่องจากไม่ถนัดงานด้านบริหารเหมือนกับครูเพลงผู้สร้างเขาขึ้นมาประดับวงการ ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นตำนานที่ยังมีลมหายใจของวงการเพลง
“พรศักดิ์เคยมีวันร่วงไหม มีครับ กำลังเฟื่องๆ พอครูเพลงมาเสียชีวิต เราก็มาทำวงต่อ เราเอาต่อทุกอย่าง ซื้อหมดเลยทั้งวง ทั้งรถทั้งเครื่องมาทำวง แต่ว่าไม่สำเร็จ อยากมีรถบัส อยากเป็นเจ้าของรถคงจะเท่ เท่อยู่แต่มันไม่ใช่ รู้สึกว่ามันเหนื่อย รถคันละกี่ล้านรวมทั้งเส้นทาง เก็บเงินได้วันละพันหักค่าน้ำมัน 2 พัน ตายไหมแบบนี้ กว่าจะได้เงินล้านคืนตัวเองไปนั่งหน้าดำอยู่ท้ายรถมันไม่ใช่ แต่ว่าถ้าได้จับไมค์ใส่สูทผูกเนคไทมันก็อีกแบบนึง จ๊วด ได้ 3 หมื่น 4 หมื่น 5 หมื่นก็ว่าไป นั่นคือช่วงขาลง เพราะฉะนั้นหยุดวงดีกว่า ขายรถบัสคันละ 3 ล้านผมขาย 5 แสน 2 วันแค่นั้นขายหมด รถสิบล้อผมยกขาย เวทีเครื่องเสียงไม่รู้กี่ล้านผมปล่อยทิ้งหมดหมอลำแถวนี้อยากได้ก็มาเอา”
พรศักดิ์ บอกว่า ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ได้บทเรียนสอนใจ ‘เราควรอยู่ที่ ที่เราควรอยู่’ ส่วนตัวเชื่อว่า ถูกสร้างมาให้เป็นนักร้องใช้เสียงเพลงมอบความสุขผู้คน และมีความถนัดเรื่องทำไร่ทำนาสืบทอดภูมิปัญญามาจากบรรพบุรุษ ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเป็นผู้นำหรือนักบริหารก็อย่าฝืนธรรมชาติทำในสิ่งที่ตนเองไม่ถนัด
“ถ้าจะพูดถึงบทเรียนทำวงนี่คือจบแล้ว จบชีวิตแล้ว จะให้ผมกับไปทำวงอีก ทุกวันนี้พรรคพวกเพื่อนฝูง กลับมาทำวงอีกเถอะ มึงไปเลยต่างคนต่างไป ไปไหนก็ไป ผมทำอะไรก็ดัง แต่ว่ามาเป็นผู้นำเป็นผู้บริหารไม่ได้ก็ไม่ฝืน ผมรู้ตัวผม ไปทำธุรกิจอย่างอื่นก็เจ๊ง มีหน้าที่อย่างเดียวคือร้องเพลงผมรู้ตัวแล้ว ถนัดทำไร่ทำนาทำสวนผมจะเก่ง เพราะเราเกิดมาตรงนี้ ปั้นคันนาตรงนี้ น้ำมาตรงนี้ต้องผันไปตรงนั้น จะใส่ไซได้ปลาตรงนี้ ดินตรงนี้จะปลูกอะไร ดินทรายต้องปลูกอะไร จะปลูกฟักทอง แตง สู้ผมไม่ได้หรอก ผมเก่ง แต่ผมไม่ได้จบเกษตรนะ แต่ว่ามันสอนผมมา ผมเกิดมาผมรู้แล้ว เขาสร้างมาอย่างนี้เราต้องอยู่อย่างนี้ ตามความรู้สึกผมอย่าฝืนธรรมชาติ ผมคิดว่าบาปบุญมันมีจริงเราจะสร้างชาติที่แล้วหรือชาติไหนก็ตาม มันมาตกชาตินี้ เขาสร้างมาแบบนี้เราต้องอยู่อย่างนี้ อย่าฝืน ผมว่าไม่สำเร็จหรอกใครฝืนธรรมชาติ”
ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ตำนานที่ยังมีลมหายใจของวงการเพลง แต่พรศักดิ์ไม่เคยคิดว่าเป็นศิลปินเบอร์ใหญ่ ตรงกันข้ามกลับคิดว่าเป็นเพียงแค่คนธรรมดา ไม่เคยมีความคิดเข้ามาซื้อบ้านหรือคอนโดฯ อยู่ในกทม. เหมือนกับศิลปินบางคนเมื่อดังแล้วย้ายภูมิลำเนาเข้ามาอยู่ในเมืองหลวง ในวัย 60 ปี เขาใช้ชีวิตแบบสมถะกับภรรยา ที่บ้านจานใหญ่ ต.บ้านขาม อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู มีความสุขกับการทำนาปลูกข้าว ทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด ทอดแหหาปลา ตามวิถีของลูกอีสาน 100 เปอร์เซ็นต์
“อยู่มาจนถึงวันนี้ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด แต่นิสัยไม่เคยเปลี่ยน คนเราอย่าเหลิงอย่าลืมตัว มีเงินก็เก็บ ไม่ใช่ว่าดังนิดดังหน่อยคิดว่าตัวเองแน่ เข้าบาร์เข้าผับกินเหล้า เงินหมด บั้นปลายชีวิตก็เห็นเป็นตัวอย่างมาหลายคน บางคนตายแล้ว ไม่มีเงินจะเผาก็มีแบบนี้ ถ้าพูดถึงตัวเองผมก็ยังเหมือนเดิมใช้ชีวิตแบบลูกทุ่งติดดินเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลง รักพี่รักน้องรักพื้นเพของตัวเอง เป็นอีสานเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ชื่นชมพรรคพวกเพื่อนฝูงที่เขาดังแล้วมีบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ ทำบาร์ ทำผับ ทำรีสอร์ท ทำร้านอาหาร แต่เราทำไม่ได้”
“มันฝืนไม่ได้จริงๆ มีเงินก็ซื้อแต่ไร่แต่นาแต่สวนเอาไว้ให้ลูกหลานให้พี่น้องเขาทำกัน มีงานร้องเพลงก็ไป ไม่มีงานก็อยู่บ้านไปทำบุญโน่นทำบุญนี่ อยู่กับธรรมชาติ ผมเป็นคนบ้านนอกชอบชีวิตบ้านนอก ผมอยู่ของผม ผมพอแล้ว ไม่ร่ำรวยมากแต่ก็ไม่มีหนี้สิน พออยู่พอกินก็พอแล้ว ส่งลูกเรียนจบแบบนี้ มีเงินมีทองพอดูแลตอนเจ็บไข้ได้ป่วยไปโรงพยาบาล ไม่ให้คนอื่นเดือดร้อน เขาไปจับปลาก็ไปกับเขานี่แหละ กินอยู่ทุ่งนากินแล้วเข้าบ้านมันก็มีความสุข จะไปไหนมาไหนมันก็ง่าย ถ้าอยู่กรุงเทพฯ หรอสวัสดี”