วันที่ 18 ต.ค. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นพ.วรงค์ เดจกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี เขายื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อให้ระงับโครงการเติมเงินดิจิตอลวอเล็ตของรัฐบาลเศรษฐา เพื่อป้องกันความเสียหายของระบบการเงินการคลังของประเทศในอนาคต และเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับองค์กฎหมายที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน โดยมี นายปิยะ ลือเดชกุล ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน เป็นผู้รับเรื่อง
โดย นพ.วรงค์ สรุปว่า ประชาชนมีความสงสัยในความสุจริตของการดำเนินครงการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต อายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน วงเงิน 560,000 ล้านบาท ว่าใช้เงินจากแหล่งไหน เหตุใดประเทศไทยใช้เงินตราที่เป็นเงินบาท เป็นสื่อกลางในการซื้อขาย ทำไมไม่ดำเนินการแบบตรงไปตรงมาแจกเป็นเงินบาท ผ่านระบบเป๋าตัง ของกระทรวงการคลังที่พร้อมอยู่แล้ว แต่กลับดำเนินการแบบยอกย้อนแจกเป็นเงินดิจิทัลหรือแจกเป็นดิจิทัลโทเคน ที่กฎหมายเงินตราของประเทศไทยไม่ยอมรับ มีอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มีความรู้ประสบการณ์ ด้านการเงินการคลัง จำนวน 99 คน ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์คัดค้าน เกรงว่าจะสร้างความเสียหายต่อระบบ การเงินการคลังของประเทศ และจะเป็นภาระต่อระบบงบประมาณในระยะยาว
โดยอ้างข้อกฎหมายในการขอระงับยับยั้งนโยบายดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 อ้างอิง มาตรา 6 และ มาตรา 9 แสดงให้เห็นเจตนา ต้องการแจกเงินดิจิทัลหรือดิจิทัลโทเคน มิได้แจกเป็นเงินบาท จึงเป็นการดำเนินการที่ต้องห้ามตาม และพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 และ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 6 และ มาตรา 9 รัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 162 และ 164 โดยบทสรุปคือ ต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของ
รัฐอย่างเคร่งครัด คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดิน โดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว
โดยในเอกสารยื่นคำร้อง นพ.วรงค์ ได้ร้องขอต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ดำเนินการ ตามมาตรา 22 (1) เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุง
กฎหมาย กฎ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใดๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนหรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุและมาตรา 22 (2) แสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมนั้น และ ดำเนินการตามมาตรา 23 (2)
รวมถึงเสนอเรื่องต่อศาลปกครองให้พิจารณาวินิจฉัย และมีคำพิพากษา หรือคำสั่งระงับการดำเนินการแจกเงินดิจิทัล หรือที่เรียกเป็นอย่าอื่น 10,000 บาท แก่บุคคลที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไปทุกคน เพื่อระงับยับยั้งมิให้เป็นการก่อหนี้ ก่อความเสียหายสร้างภาระแก่งบประมาณประเทศและระบบการเงินการคลังของประเทศในระยาวต่อไป ทั้งนี้สมควรร้องขอให้ศาลปกครองกำหนดมาตรการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ให้ระงับการดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาทไว้ก่อนระหว่างการพิจารณา เพราะหากมีการแจกเงินไปแล้ว จะเกิดความเสียหายต่องบประมาณและระบบการเงินการคลังของประเทศ ยากทีจะเยียวยาได้
พร้อมกันนี้ นพ.วรงค์ ยังมองว่า นโยบายนี้นายกรัฐมนตรีบอกจะช่วยคนจน แต่ทำไมต้องแจกคนรวย และมีข้อกังขาว่า ทำไมไม่แจกเป็นเงินสด แต่เลือกที่จะแจกเป็นโทเคน ซึ่งการแจกโทเคน จะนำไปสู่การฟอกเงินครั้งใหญ่ ทำให้เกิดการทุจริตครั้งมโหฬาร
ช่วงหนึ่ง นพ.วรงค์ ยังยกเทียบนโยบายนี้ กับนโยบายจำนำข้าว สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่สร้างความเสียหายมหาศาล โดยการอ้างว่าจะช่วยชาวนา ซึ่งนายเศรษฐา ก็อ้างว่าจะช่วยคนจน ผ่านการแจกเงินดิจิทัล
ทั้งนี้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่ง ปิยะ ลือเดชกุล ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน มาเป็นตัวแทนรับเรื่อง โดยจะเร่งรัดนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยเร็วที่สุดต่อไป