ไม่พบผลการค้นหา
การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความพยายามหลายระลอก ครั้งล่าสุดนี้จะมีการพิจารณากันในรัฐสภาระหว่าง 6-7 ก.ย.2565 มีอยู่ 5 ฉบับมาจาก ส.ส.4 ฉบับ มาจากการรวบรวมรายชื่อประชาชน 1 ฉบับ มีทั้งเรื่องการแก้ไขในโครงสร้างการเมืองโดยเฉพาะ การเพิ่มเติมสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน รวมไปถึงการเปิดช่องให้ออกข้อบังคับใหม่ในการนับองค์ประชุม รายละเอียดมีดังนี้


1. "ัตัดอำนาจส.ว.เลือกนายกฯ"
สมชัย ศรีสุทธิยากร + รายชื่อประชาชน 64,151 คน   

หลักการ 

แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 272 ที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสมาชิกเลือกนายกรัฐมนตรี

เหตุผล 

โดยที่มาตรา 272 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยได้ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาสองร้อยห้าสิบคน มีอำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสมาผู้แทนราษฎรจำนวนห้าร้อยคน โดยผู้ที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหนึ่งของจำนวนสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน หรือเกินกว่าสามร้อยเจ็บสิบห้าเสียง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยตามที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งการให้สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีจะทำให้สมาชิกวุฒิสภาขาดความเป็นกลางทางการเมือง และทำให้ตัวนายกรัฐมนตรีที่ได้รับเลือกขาดความสง่างาม กลายเป็นอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับ..) พุทธศักราช ....

แก้ไขมาตรา 272 โดยตัดวรรคแรกทิ้ง  


2. "นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส."

พรรคเพื่อไทย นำโดยชลน่าน ศรีแก้ว 

หลักการ

แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง เกี่ยวกับคุณสมบัติและที่มาของนายกรัฐมนตรีและความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดเฉพาะตัว 

เหตุผล 

โดยที่มาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควร ได้รับแต่งตั้งเป็นายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 แต่มาตรา 160 ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งว่าต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชาอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... 

เปลี่ยนมาตรา 159 แก้เป็นว่า 

ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร 

เปลี่ยนมาตรา 170 แก้เป็นว่า 

นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ด้วย 

มีเพิ่มมาตราด้วยว่า 

ในวาระแรกเริ่ม มิให้นำบทบัญญัติมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้มาใช้บังคับจนกว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งแรกภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ 

ในระหว่างที่ยังมิให้นำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับตามวรรคหนึ่ง ให้บทบัญญัติมาตรา 159 วรรคหนึ่งก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญและพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ตราขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัตินั้นยังคงนำมาใช้บังคับต่อไป 


3."สิทธิในกระบวนการยุติธรรม"

พรรคเพื่อไทย นำโดยชลน่าน ศรีแก้ว 

หลักการ 

แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังต่อไปนี้ 

แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย โดยเพิ่มความเป็นวรรคห้าของมาตรา 25 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29 เพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเป็นมาตรา 29/1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 48 

เหตุผล 

โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ใช้บังคับมาระยะหนึ่งแล้ว แต่บทบัญญัติหลายมาตราที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หลายเรื่องยังขาดความชัดเจน และไม่ครอบคลุมถึงสิทธิบางประการของบุคคล ได้แก่ สิทธิในกระบวนการยุติธรรมหลายประการไม่ได้ญัตติไว้ ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ทั้งสิทธิในการขอปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกรณีอื่นๆ เสรีภาพในการชุมนุมที่มักอ้างความมั่นคงเป็นข้อจำกัดเสรีภาพของบุคคล เสรีภาพในการรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองยังขาดสาระสำคัญ ทำให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นใช้บังคับ มีบทบัญญัติที่จำกัดการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองและเป็นอุปสรรคและภาระของพรรคการเมืองเกินความจำเป็น สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐมีความชัดเจนและครอบคลุมถึงการได้รับหลักประกันสุขภาพโดยถ้วนหน้าด้วย สิทธิของบุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และผู้ยากไร้ ควรบัญญัติให้ชัดเจนและมีสภาพบังคับรวมถึงสิทธิของผู้พิการและทุพพลภาพ สิทธิของบุคคลซึ่งไร้ที่อยู่อาศัยและผู้วิกลจริตควรจะได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ ดังนั้น เพื่อให้บทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มีความชัดเจนและเกิดผลการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ประชาชนผู้ที่ด้อยโอกาสทางสังคมได้รับสิทธิและความช่วยเหลือจากรัฐ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ 

มาตรา 25 เพิ่มวรรคห้าว่า 

สิทธิหรือเสรีภาพตามมาตรานี้ให้หมายความรวมถึงสิทธิหรือเสรีภาพตามพันธกรณีและกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย 

มาตรา 29 แก้เป็นว่า 

บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยูในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้ 

ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ 

การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี 

ในคดีอาญา จะบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองมิได้ 

สิทธิในการขอปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาย่อมได้รับความคุ้มครองและได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็ว และจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวต้องเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์อันเชื่อได้ว่าหากปล่อยชั่วคราวแล้วผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี หรือมีเหตุอื่นเท่าที่จำเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติ 

จำเลยที่ศาลชั้นต้นไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวจะถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นเกินหนึ่งปีมิได้ และจำเลยที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์จะไม่ให้พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตหรือลงโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไปจะถูกคุมขังระหว่างพิจารณาของศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณีกินหนึ่งปีมิได้ 

เพิ่มมาตรา 29/1 

บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ดังต่อไปนี้ 

(1) สิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง 

(2) สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และการได้รับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษา หรือคำสั่ง 

(3) บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม 

(4) คู่ความและผู้มีส่วนได้เสียในคดีมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินการตามกระบวนยุติธรรม 

(5) ผู้เสียหายและพยานในคดีอาญา มีสิทธิได้รับความคุ้มครอง การปฏิบัติที่เหมาะสมและค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควรจากรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ 

(6) เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการหรือทุพพลภาพ มีสิทธิได้รับความคุ้มครองและมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม 

(7) ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ การตรวจสอบหรือได้รับทราบพยานหลักฐานตามสมควร การได้รับความช่วยเหลือในทางคดีจากทนายความ และการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว 

(8) ในคดีแพ่ง บุคคลมีสิทธิได้รับความช่วยเหลืทางกกฎหมายอย่างเหมาะสมจากรัฐ 

มาตรา 34 แก้เป็นว่า 

บุคคลยอ่มมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจะจำกัดการติชมด้วยความเป็นธรรมมิได้ 

มาตรา 44 วรรคสอง แก้เป็นว่า 

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทีมีความร้ายแรงหรือประกาศใช้กฎหมายอัยการศึก 

มาตรา 45 แก้เป็นว่า 

กฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองซึ่งต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจและไม่เสียค่าใช้จ่าย การบริหารพรรคการเมืองซึ่งต้องมีความเป็นอิสระ เปิดเผย และตรวจสอบได้ การเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ทั้งนี้ จะต้องไม่มีบทบัญญัติใดทีทำให้เกิดภาระแก่พรรคการเมืองเกินความจำเป็น 

การจัดตั้งพรรคการเมืองจะต้องไม่มีขั้นตอนและความยุ่งยากเกินควร ส่วนการยุบพรรคการเมืองจะทำได้เฉพาะกรณีที่ปรากฏพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

มาตรา 47 แก้เป็นว่า 

บุคคลมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมได้มาตราฐาน เป็นไปอย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพ และได้รับหลักประกันสุขภาพโดยถ้วนหน้า 

บุคคลผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐอย่างเหมาะสมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและทันต่อสถานการณ์ 

มาตรา 48 แก้เป็นว่า 

สิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตรย่อมได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือตามที่กฎหมายบัญญัติ 

บุคคลซึ่งอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรี และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ 

บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพ มีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ 

บุคคลวิกลจริตย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ 

บุคคลซึ่งไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ 


4."สิทธิชุมชน"

พรรคเพื่อไทย นำโดยชลน่าน ศรีแก้ว

หลักการ 

แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 43 เกี่ยวกับสิทธิบุคคลและชุมชน 

เหตุผล 

โดยที่มาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดให้บุคคลและชุมชน ย่อมมีสิทธิในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ และมีสิทธิในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล และยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ รวมถึงสิทธิเข้าชื่อกันเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐให้ดำเนินการหรืองดเว้นการดำเนินการ อันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และจากการสาระของบทบัญญัติมาตรานี้ โดยเฉพาะใน (3) ให้สิทธิบุคคลและชุมชนเพียงการเข้าชื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการหรืองดเว้นดำเนินการอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่ของบุคคลหรือชุมชุน หรือพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เพียงพอต่อการคุ้มครองหรือปกป้องสิทธิของบุคคลหรือชุมชนในกรณีที่อาจมีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อชุมชุนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยการธรรมชาติ และสุขภาพ และมีความแตกต่างกับหลักที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่บัญญัติให้การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงจะกระทำมิได้ เว้นแต่ได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจดำเนินการดังกล่าว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ..... 

มาตรา 43 แก้เป็นว่า 

บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ 

(1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ 

(2) จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล และยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

(3) เข้าชื่อกันเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน หรืองดเว้นดำเนินการอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชุน และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยเร็ว ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้น โดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย ตามวิธีการที่กฎหมายบัญัตติ 

(4) จัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชน 

(5) ได้รับการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพหรือคุณภาชีวิตของตนและชุมชน 

การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อ ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิดได้ เว้นแต่จะได้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีการกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการตัดสินใจดำเนินการดังกล่าว 

สิทธิของบุคคลหรือชุมชนที่จะฟ้องหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง 


5."เพิ่มกรณีไม่ต้องใช้องค์ประชุมกึ่งหนึ่ง"

หลายพรรค นำโดย วิรัช พันธุมะผล

หลักการ

แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 120 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา ออกข้อบังคับกำหนดองค์ประชุมสภาในวาระการรับทราบรายงานขององค์กรอิสระ องค์กรมหาชน หรือหน่วยงานของรัฐที่กฎหมายกำหนดให้รายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา รวมทั้งระเบียบวาระอื่นที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเห็นชอบให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาออกข้อกำหนดองค์ประชุมเป็นอย่างอื่นได้ 

เหตุผล 

โดยที่ระเบียบวาระการประชุม เรื่องรับทราบรายงานขององค์กรอิสระ องค์กรมหาชน หน่วยงานของรัฐที่กฎหมายกำหนดให้รายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิถสภามีจำนวนมากและต้องใช้เวลาในการรายงาน และสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต้องใช้เวลาในการพิจารณารับทราบ ประกอบกับอาจมีระเบียบวาระอื่นๆ ที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเห็นสมควรกำหนดองค์ประชุมเป็นอย่างอื่น เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาใช้เวลาในกิจกรรมเกี่ยวกับหน้าที่มากขึ้น จึงควรแก้ไขมาตรา 120 วรรคแรกของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

ให้ 2 สภาออกข้อบังคับให้ไม่ต้องใช้องค์ประชุมกึ่งหนึ่ง ในการรับทราบรายงานองค์กรอิสระ องค์กรมหาชน และอื่นๆ ที่เห็นสมควร

มาตรา 120 แก้เป็นว่า 

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมวุฒิสภาต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา จึงจะเป็นเป็นองค์ประชุม เว้นแต่ในกรณีการพิจารณาระเบียบวาระกระทู้ ระเบียบวาระการรับทราบการรายงานขององค์กรอิสระ หรือองค์กรมหาชน หน่วยงานอื่นๆ ของรัฐที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา หรือระเบียบวาระอื่นๆ ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิ ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาแล้วแต่กรณี สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจะกำหนดองค์ประชุมไว้ในข้อบังคับเป็นอย่างอื่นก็ได้