ไม่พบผลการค้นหา
“ธนาธร” บรรยายทางไกลนักศึกษา มอ.หาดใหญ่ วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจและอนาคตงานของคนรุ่นใหม่ ทำนายทรุดหนัก-เหลื่อมล้ำสูง-ทุนผูกขาดครองเมือง แนะเตรียมรับมือสังคม AI หมั่นฝนสกิล “3C”

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เผยเเพร่ภาพสดทางเฟซบุ๊ก บรรยายทางไกลในฐานะอาจารย์พิเศษ ในหัวข้อ “ทางเลือกของคนรุ่นใหม่กับเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ move on” ให้กับนักศึกษาโครงการเศรษฐวิจัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยพูดถึงสิ่งที่นักศึกษาที่เข้าร่วมการบรรยายในวันนี้จะต้องเจอในอนาคต ซึ่งเกิดจากปัจจัย 3 ประการ อันได้แก่ 1) ภาวะเศรษฐกิจมหภาค 2) โครงสร้างอำนาจ ปัญหาทางการเมือง โครงสร้างทางเศรษฐกิจ และ 3) เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

นายธนาธร กล่าวว่า ในด้านเศรษฐกิจมหภาพ เศรษฐกิจปี 2563 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มถดถอยอยู่แล้วไม่ว่าจะมีไวรัส covid-19 หรือไม่ และสถานการณ์ของ covid-19 ก็กำลังมาซ้ำเติมสถานะของเศรษฐกิจไทยให้เลวร้ายลงไปอีก แน่นอนว่าจะเกิดผลกระทบโดยตรงต่อการจับจ่ายใช้สอย จะนำมาสู่การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2020 การส่งออกที่เป็นที่พึ่งของเศรษฐกิจไทยมาตลอดก็ติดลบ เป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งผ่านไป เมื่อการส่งออกซึ่งไม่ได้ดีเป็นทุนอยู่แล้ว มาเจอกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงและการบริโภคที่ลดลง เศรษฐกิจไตรมาส 1-2 และอาจจะ 3 ด้วยจะติดลบแน่นอน ในกรณีที่ดีที่สุดคือจะกลับมาดีได้ในไตรมาส 4 ของปี 2563

โครงสร้างสังคมเอื้อนายทุน

ในด้านปัจจัยโครงสร้างอำนาจและโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ปัญหาที่เป็นผลพวงมาจากการรัฐประหาร คือโครงสร้างทางสังคมที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนรวยและทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนสูงขึ้น ในปี 2016 ความมั่งคั่ง 58% อยู่ในมือของคนเพียง 1% แต่ในปี 2018 ความมั่ง 67% อยู่ในมือของคนเพียง 1% ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยมีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

“หลังการยึดอำนาจ รัฐบาลประยุทธ์ 1 เสนอเศรษฐกิจโมเดลประชารัฐ ด้วยความเชื่อที่ว่ากลุ่มทุนใหญ่กับภาครัฐร่วมกันออกแบบและจัดการนโยบาย จะดึงให้กลุ่มทุนขนาดกลางขนาดเล็กและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ หลักคิดคือกลุ่มทุนใหญ่เป็นหัวหอกทางเศรษฐกิจ เปิดเสรีดึงกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน และการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐดูแลคนยากไร้ แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แนวโน้มที่น่าจะได้เห็นมีอยู่ 4 ประการ คือ

1) การให้ทุนใหญ่กำหนดทิศทางประเทศ จะทำให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น 2) อำนาจที่มาจากการแต่งตั้ง การทำรัฐประหาร สูงกว่าเสียงประชาชนทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมรุนแรงมากขึ้น 3) แนวคิดที่พึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติเป็นหลัก จะทำให้ประเทศไทยเติบโตแบบไร้เทคโนโลยี และ 4) การกดทับกีดกันเสรีภาพจะนำไปสู่อุปสรรคในการพัฒนามนุษย์และนวัตกรรม” นายธนาธร กล่าว

การผูกขาดของทุนใหญ่ ผ่านงบฯ จากภาษีประชาชน

นายธนาธร กล่าวว่า ปรากฏการณ์การผูกขาดทางเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัด มีตัวอย่างเช่นกรณีการใช้มาตรา 44 แก้กฎระเบียบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่ม King Power ในการประมูลต่อสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในสนามบิน, การที่ประเทศไทยมีจำนวนธนาคารต่อสัดส่วนประชากรน้อยที่สุด อยู่แค่ 0.33 ธนาคารต่อประชากร 1 ล้านคน, กรณีการใช้มาตรา 44 ยืดการจ่ายชำระค่าสัมปทานให้กับกลุ่มทุนทีวีดิจิทัลและกลุ่มทุนโทรคมนาคมมูลค่ากว่า 23,664 ล้านบาท

รวมถึงกรณีรถไฟฟ้าสายสีทองที่เป็นสถานีทางตัน มีสถานีจอดที่หน้าห้างไอคอนสยาม ไม่ตรงวัตถุประสงค์ที่จะเป็นรถไฟฟ้าสายรองในการเชื่อมสายสีเขียว สีม่วง และสีแดงเข้าด้วยกัน สิ่งที่ตนยกมาให้เห็น ก็เพื่อต้องการทำให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างอำนาจทางการเมืองกับการผูกขาดทางเศรษฐกิจ เมื่อมีการเอื้อประโยชน์กันระหว่างรัฐและทุน หนทางทำมาหากินของคนธรรมดาเป็นเรื่องยากเย็น กลุ่มทุนขนาดใหญ่พึ่งพิงอำนาจรัฐ การออกกฎหมายที่เอื้อผลประโยชน์ ที่ปิดโอกาสไม่ให้เกิดการแข่งขันเพื่อให้ตัวเองสั่งสมความมั่งคั่งได้

นายธนาธร กล่าวว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ กลุ่มทุนขนาดใหญ่จะทำธุรกิจเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ OEM หรือสินค้าที่ต้องใช้นวัตกรรมขั้นสูง ทำการแข่งขันในตลาดโลก ไปช่วงชิงส่วนแบ่งมูลค่าในตลาดโลกกลับเข้ามาในประเทศไทย ในขณะที่สินค้าพื้นฐาน, สินค้าขั้นปฐมภูมิ, สินค้าทุติยภูมิ ควรเป็นโอกาสของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งในโมเดลเช่นนี้ต่างหากที่จะสามารถนำไปสู่การดึงให้กลุ่มทุนขนาดกลาง-ขนาดเล็ก และประชาชนได้รับส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจได้อย่างถ้วนหน้า

แต่ในกรณีของประเทศไทย กลุ่มทุนใหญ่เลือกที่จะครอบครองตลาดสินค้าปฐมภูมิ-ทุติยภูมิ และมาเบียดบังผู้ประกอบการในสินค้าขั้นพื้นฐาน สิ่งนี้นำไปสู่คำถามต่อไป ว่างบประมาณที่มีอยู่ในประเทศควรต้องใช้เพื่อใคร การเอื้อประโยชน์ที่ตนพูดมามีต้นทุนจากภาษีของประชาชนทั้งนั้น ไม่ว่าจะในรูปแบบงบประมาณที่ต้องจ่ายไปหรือรายได้ที่จะหายไปของรัฐจากการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน คำถามคืองบประมาณของประเทศที่มีอยู่ 3.3 ล้านล้านบาท มีส่วนที่เป็นงบผูกพัน 2.1 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่รัฐบาลออกแบบเองได้ 1.2 ล้านล้านบาท ถ้าเราเอางบส่วนนี้มาดูแลคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่คนส่วนน้อยของประเทศ ประเทศของเราจะก้าวไปไกลได้มากแค่ไหน

“ปัจจัยความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทั้ง AI และ automation กำลังส่งผลกระทบต่อทั้งโรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจสื่อ ธุรกิจธนาคาร การเงิน บริการ ให้ได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้า สำหรับงานในอนาคตข้างหน้า สิ่งที่สำคัญมากนอกจากสมองฝั่งที่ทำงานในด้าน STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์) แล้ว สิ่งที่สำคัญมากคือจินตนาการ เพราะทุกวันนี้เรามีคอมพิวเตอร์ เซนเซอร์ แอปพลิเคชัน โปรแกรมต่างๆที่ทดแทนการทำงานบางส่วนของสมอง มือ หู จมูก ตา ปากได้หมดแล้ว แต่สิ่งที่ AI และ automation ยังทดแทนไม่ได้คืองานประเภท 3C (Creative, Craft, Care)” นายธนาธร กล่าว

อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวต่อว่า ส่วนจะรับมือกับการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้อย่างไร แน่นอนว่าในแต่ละสังคมก็มีความแตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องมีคือการนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มารับใช้สังคม รับใช้ประชาชนส่วนใหญ่รับใช้โลก เช่น ในเมื่อเราสามารถผลิตสินค้าได้ในปริมาณเท่าเดิมโดยใช้จำนวนคนที่น้อยลงแล้ว เราสามารถลดเวลาการทำงานต่อสัปดาห์ลงได้ อย่างที่ในหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ทำมา เช่นในเยอรมนีมีการลดเหลือแค่ 28 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แล้ว ทำให้ประชาชนมีเวลาในการใช้ชีวิตส่วนตัว อยู่กับครอบครัว ใช้เวลาในการสร้างสรรค์ชีวิตส่วนตัวมากขึ้น โดยไม่ได้รับผลกระทบจากการว่างงาน