บทวิเคราะห์ผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อกลุ่มผู้เปราะบางในสังคมอย่างผู้สูงอายุ หรือประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า ตัวเลขผู้สูงอายุที่ว่างเงินเพิ่มขึ้นจาก 2.9% ในช่วงก่อนวิกฤตโรคระบาด เป็น 6.6% หลังเกิดโควิด-19 คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 2.2 เท่า
ในจำนวนดังกล่าว กลุ่มผู้สูงอายุที่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปหรือทำงานที่ไม่ประจำได้รับผลกระทบมากที่สุด จากที่เคยมีสัดส่วนการทำงาน 9.6% จากทุกกลุ่มอาชีพ ลดลงมาเหลือเพียง 6.6% เท่านั้น อย่างไรก็ดี ผู้สูงอายุบางกลุ่ม อาทิ ผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำงานอยู่ก่อนแล้ว และ ข้าราชการบำนาญ ไม่ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดแต่อย่างใด
เมื่อหันมาดูผลกระทบที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตของคนสูงวัย พบว่า จากประเด็นการดูแลตนเอง การดูแลบุคคลในครอบครัว การซื้อข้าวของเครื่องใช้/จ่ายตลาด การเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ และการเข้ารับบริการทางการแพทย์ เกิน 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 43,448 ชุด ลงความเห็นว่าได้รับผลกระทบทั้งสิ้น
ในจำนวนดังกล่าว ยังพบอีกว่า กว่า 60% ของผู้สูงอายุที่ตอบแบบสอบถามเผชิญความลำบากในระดับปานกลาง-มาก ในการเดินทางไปรับบริการทางการแพทย์ โดยบทวิเคราะห์ชี้ว่า ที่ผ่านมามาตรการปิดสถานดูแลผู้สูงอายุส่งผลต่อการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีภาวะพึ่งพิงที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษอย่างใกล้ชิด ทำให้ผู้สูงอายุไม่ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องและสร้างภาระการดูแลให้แก่ครอบครัวผู้สูงอายุได้
บทวิเคราะห์เสริมในช่วงท้ายว่า มาตรการเยียวยาสังคมของรัฐบาลยังมีบางส่วนที่ไม่ตรงเป้า ทั้งยังประเมินความช่วยเหลือตกหล่นกับกลุ่มบุคคลที่เปราะบางอย่างผู้สูงอายุ อาทิ โครงการเราไม่ทิ้งกันของกระทรวงการคลัง มาตรการช่วยเหลือเงินเยียวยาเกษตรกรโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือมาตรการเยียวยาประกันเงินว่างงานของสำนักงานประกันสังคม ล้วนมุ่งเน้นช่วยเหลือแต่ประชากรในวัยที่รัฐบาลมองว่าเป็นวัยทำงาน ทั้งๆ ที่ประชากรผู้สูงวัยกว่า 35% ก็ยังอยู่ในตลาดแรงงานเช่นเดียวกัน
ขณะที่มาตรการช่วยผู้สูงอายุแบบเจาะจง ทั้งเงินให้เปล่าที่เพิ่มขึ้นจากกรมกิจการผู้สูงอายุคนละ 50 หรือ 100 บาท รวมไปถึงการพักชำระหนี้ระยะเวลา 1 ปีสำหรับลูกหนี้กองทุนผู้สูงอายุ ก็เป็นงบประมาณที่น้อยเกินกว่าจะช่วยต่อลมหายใจของผู้สูงอายุได้จริงๆ โดยโครงการเงินให้เปล่าใช้งบประมาณเพียง 689 ล้านบาท ขณะที่การพักหนี้ฯ มีผู้เข้าข่ายได้รับประโยชน์ราว 4.1 หมื่นรายเท่านั้น
ทั้งนี้ จากผลสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุ 50.7% ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องค่าครองชีพ เช่น การควบคุมราคาสินค้า ลดรายจ่ายค่าไฟฟ้าและน้ำประปา ขณะที่อีก 44.9% ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มสวัสดิการ ขณะที่อีก 42.6% ต้องการความช่วยเหลือประเภทเงินให้เปล่าจากภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลกลับบ่งชี้ว่า มีผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 3 ที่ไม่สามารถเข้าถึงบางความช่วยเหลือได้ เช่น กรณีเงินเยียวยาโครงการเราไม่ทิ้งกัน เนื่องจากต้องใช้การกรอกข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุไม่คุ้นเคย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;