ไม่พบผลการค้นหา
‘จาตุรนต์’ สะท้อน ‘กับดักรัฐธรรมนูญ 2560’ ผ่านเวทีเสวนา ‘รัฐธรรมนูญใหม่ ทัน 3 ปี ต้องมี สสร.’ ชี้ถ้าร่างรัฐธรรมนูญโดยประชาชนไม่เกี่ยวข้อง ไม่เคยมีครั้งไหนที่ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย

จาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย สะท้อน ‘กับดักรัฐธรรมนูญ 2560’ ผ่านเวทีเสวนา ‘รัฐธรรมนูญใหม่ ทัน 3 ปี ต้องมี สสร.’ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 โดยระบุว่า

กับดักรัฐธรรมนูญ 2560 กับดักแรก : การทำประชามติจะทันหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับ สว. ว่าจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ร่างพ.ร.บ ประชามติฯ) ที่แก้ไขกติกาแบบ Double Majority ว่าจะให้ผ่านทั้ง 3 วาระหรือไม่ เพื่อให้ทันตามแผนของรัฐบาลที่วางไว้ว่าจะทำประชามติครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 พร้อมกับการเลือกตั้งนายก อบจ. 

กับดักรัฐธรรมนูญ 2560 กับดัก 2 : การทำประชามติครั้งแรก (ครั้งส่วนเกิน) ก่อนการแก้รัฐธรรมนูญ ก็มีปัญหาว่าไม่มีอยู่ในสารบบและไม่อยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะต้องทำสามครั้ง เพียงแต่คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติมีแนวทางประชามติสามครั้งก็เพราะ สว. ชุดที่แล้วที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. อ้างว่า “ต้องทำประชามติก่อน” หากไม่ทำจะไม่ลงมติให้แก้ จึงต้องฝากความหวังว่า สว.ชุดนี้ที่มาด้วยวิธีที่ต่างกันจะสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญตั้งแต่มีการเสนอแก้ไขมาตรา 256 เข้าสภา

กับดักรัฐธรรมนูญ 2560 กับดัก 3 : ประธานรัฐสภายังไม่บรรจุญัตติการแก้ไขมาตรา 256 ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเสนอร่างไว้  ซึ่งที่ผ่านมาประธานสภาไม่บรรจุร่างสักที เพราะฝ่ายกฎหมายสภาอ้างว่ายังไม่มีการทำประชามติครั้งแรก (ครั้งส่วนเกิน)

แต่เรื่องที่ย้อนแย้งและวกไปวนมาก็คือ ถ้าทำประชามติครั้งแรกกันไปก่อนก็อาจมีคนไปร้องและมาตีความภายหลังว่าหากทำประชามติโดยที่รัฐสภายังไม่ได้มีการยื่นแก้ไขมาตรา 256 จะทำไม่ได้หรือไม่มีผลตามรัฐธรรมนูญ นี่คือความย้อนแย้งที่เกิดขึ้น 

ดังนั้นถ้าจะทำให้กระบวนการไปได้เร็ว และทำให้การทำประชามติครั้งแรกมีผลแน่ ๆ ประธานสภาจึงต้องบรรจุวาระดังกล่าว และต้องได้เสียงรัฐสภาตามที่กำหนดโดยเฉพาะ สว.ที่ต้องมีเสียงสนับสนุน 67 เสียง …. นี่เป็นเพียงด่านแรกที่ต้องฝ่ากันไปให้ได้

ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้าที่จะมีหลายพรรคเสนอแก้ไขรัฐธรรมบางมาตรา มีปัญหาว่าถ้าแก้ไขกันหลายร่างหลายมาตราต้องใช้เวลานานแค่ไหน ยิ่งไปกว่านั้นบางมาตราต้องทำประชามติตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 256 แม้ในร่างที่เตรียมเสนอจะแก้มาตรา 256 ด้วยเพื่อไม่ให้ทำประชามติกันทุกมาตรา แต่การแก้นี้ก็ต้องทำประชามติกันไปด้วยหรือไม่และต้องทำเมื่อไหร่

ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญบางมาตรา จะทำให้ต้องมีประชามติหลายครั้งเต็มไปหมด และจุดอ่อนของการแก้รายมาตราในปี 2540 จนทำให้ต้องมี สสร.มาแก้ทั้งฉบับ เพราะเมื่อจะแก้มาตราที่ไปโยงกับอำนาจของฝ่ายการเมืองเอง แม้ว่ารัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่ารัฐสภาสามารถแก้ได้ทุกมาตรา แต่กลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้วว่าถ้าจะแก้อะไรที่ไปโยงกับผลประโยชน์ของนักการเมืองจะกลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน และมีคนไปต่อต้าน 

นี่คือผลของ “รัฐธรรมนูญฉบับเนติบริกร" ที่วางกับดักเต็มไปหมด

ข้อดีอยู่บ้างที่จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญเดินหน้าคือการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาที่ผ่านมามีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้พรรคฝ่ายรัฐบาลต้องร่วมกันสนับสนุนให้เกิดขึ้น

แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือต้องมาช่วยกันทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วม สสร.ต้องไปทำประชาพิจารณ์ไปฟังความเห็นประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อที่จะได้ร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนพอใจและเพียงพอที่จะไปรณรงค์ให้ผ่านประชามติ

40 ปีที่ผ่านมามันพิสูจน์มาไม่รู้กี่รอบแล้วว่า ถ้าจะได้รัฐธรรมนูญที่ดีขึ้นมาบ้างไม่มีครั้งไหนที่ประชาชนไม่เกี่ยว และถ้าร่างรัฐธรรมนูญกันโดยประชาชนไม่เกี่ยว มันก็ไม่เคยมีครั้งไหนเหมือนกันที่ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย