ไม่พบผลการค้นหา
“ในความเห็นผมก็ควรทำประชามติ ไม่เห็นเสียหายตรงไหน รัฐธรรมนูญก็ใช้มา 5 ปีแล้วนี่”

“ยังไม่เห็นเหตุผลใดที่จะคัดค้าน”

“ในภาพใหญ่ผมก็เห็นด้วยนะ ถ้าไม่ใช้คนกลางมาร่างรัฐธรรมนูญ ปัญหาก็จะไม่จบ”

“ถ้าไม่แตะสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ผมยินดีร่วมแก้ไข”

นี่คือเสียงของวุฒิสมาชิก (ส.ว.) บางส่วน หลังวอยซ์’ ได้สอบถามความเห็นเรื่องการจัดทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่า ‘เห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่?’ ซึ่งเพิ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น เมื่อ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนจะต้องเผชิญด่านต่อไปคือคะแนนเสียงเห็นชอบจากวุฒิสภา

“ย้อนไปเมื่อเดือน พ.ย. ปี 2563 สภาเคยมีญัตติโหวตให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จากนั้น เดือน มี.ค. 2564  ส.ว. ได้คว่ำญัตติดังกล่าว โดยยกเหตุผลว่าการแก้รัฐธรรมนูญต้องทำประชามติก่อน ดังนั้น ครั้งนี้ ส.ว. คงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่เห็นชอบ”

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคที่เสนอญัตติดังกล่าวร่วมกับพรรคเพื่อไทย ได้กล่าวไว้ ภายหลังญัตติผ่านความเห็นชอบโดยไร้ ส.ส.คัดค้าน พร้อมแสดงออกในเชิงกดดันให้ ส.ว.เห็นชอบด้วยเช่นกันเพื่อเปิดทางไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญเสียที

ประชามติ สภา -94B9-4606-B2B2-83FF76029AE3.jpeg
การแก้รัฐธรรมนูญ อาจง่ายกว่าที่คิด?

ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายหน แต่ก็ชนกับทางตันทุกครั้งไป อย่างครั้งล่าสุดเมื่อปี 2563 ที่ประชุมรัฐสภาได้เห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ที่เสนอโดย ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย อย่างละฉบับ กระทั่งผ่านเข้าไปสู่วาระ 2 กลับมีผู้เสนอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ทำให้การแก้ไขครั้งนั้นเป็นหมันไปในที่สุด เพราะ “ต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่”

คำวินิจฉัยดังกล่าวนำมาสู่การแก้เกมของพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล โดยการเสนอทำประชามติ เพื่อเป็นก้าวแรกไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย พ.ร.บ.ประชามติ วางเงื่อนไขไว้ว่า จะทำได้ก็ต่อเมื่อรัฐสภาเห็นควร ดังนั้น เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแล้ว ก็เท่ากับผ่านมาครึ่งทาง ส่วนอีกครึ่งทางขึ้นอยู่กับ 250 ส.ว. ชุดพิเศษนี้เอง

พิธา ก้าวไกล -6A9A-43E1-8A5D-DA39FB2AEC0D.jpeg

ด้วยกิตติศัพท์ของวุฒิสภาที่เคยคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงร่างกฎหมายอื่นๆ มาแล้วหลายหน พรรคก้าวไกลจึงกันเหนียวด้วยการเปิดแคมเปญล่ารายชื่อประชาชน เพราะอีกเงื่อนไขใน พ.ร.บ.ประชามติ คือประชาชน 50,000 รายชื่อ สามารถรวมกันเพื่อเสนอให้ ครม. ทำประชามติได้โดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา

“พี่น้องประชาชนอย่าเพิ่งหมดหวัง หากยังไม่อยากลุ้นกับ ส.ว. ท่านสามารถลงชื่อได้โดยตรงกับแคมเปญ รีเซ็ตประเทศไทย ที่ reset.thailand.org ขณะนี้ได้ 55,000 รายชื่อ แม้จะเกิน 50,000 มาแล้ว แต่เราต้องการตุนไว้ให้ถึง 60,000 เพื่อส่งข้อเสนอโดยตรงไปที่ ครม.” พิธา เสนอแผนสำรอง

อย่างไรก็ตาม ไม่แน่ว่า 50,000 กว่ารายชื่อนั้น อาจไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะเมื่อ ‘วอยซ์’ ได้หยั่งเสียง ส.ว. บางส่วนแล้ว กลับพบว่ามีความเห็นไปในทางเดียวกัน และอาจเป็นสัญญาณว่าการทำประชามติครั้งนี้ จะไม่ได้ยากอย่างที่หลายคนคิดไว้


ไม่มีเหตุผลที่จะขวาง แต่...

วิปวุฒิสภาได้ประชุมหารือกัน และกำหนดวันชี้ชะตาข้อเสนอจัดทำประชามติไว้ในวันที่ 21 พ.ย. ที่จะถึงนี้ หลายคนคาดว่าการอภิปรายหารืออาจจะลากยาวในหลายประเด็นกว่าจะได้ลงมติ แต่ถึงกระนั้น หลายเสียงเห็นพ้องต้องกันว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐธรรมนูญ 2560 ควรจะถูกแก้ไข จึงไม่มีเหตุผลที่จะขวางข้อเสนอนี้

คำนูณ -40AB-43E6-91A4-4B6A10EA0C17.jpeg

“โดยหลักการก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร” คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.ในฐานะโฆษกวิปวุฒิสภา ให้ความเห็น “แต่ในรายละเอียดต้องพิจารณาดูในการอภิปรายในที่ประชุมก่อน ผมคงตอบแทนสมาชิกฯ แต่ละท่านไม่ได้”

คำนูณ ได้ฉายหนังตัวอย่างของหลากหลายประเด็นที่บรรดา ส.ว.อาจจะถกเถียงกันในที่ประชุม โดยเฉพาะข้อเสนอที่ให้จัดทำประชามติไปพร้อมกับการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาในทางปฏิบัติ ด้วยเหตุผล 3 ข้อกว้างๆ คือ

1) เงื่อนระยะเวลาที่ไม่ตรงกัน เพราะกฎหมายเลือกตั้งกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายในไม่เกิน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน หลังยุบสภาหรือสภาครบวาระ ขณะที่ พ.ร.บ.ประชามติ กำหนดให้ทำประชามติภายใน ไม่ต่ำกว่า 90 วัน และไม่เกิน 120 วันนับตั้งแต่ ครม.พิจารณาเห็นชอบ

2) ทั้งกฎหมายเลือกตั้งและ พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ได้กำหนดว่า กรณีจัดทำประชามติวันเดียวกับการเลือกตั้ง ต้องใช้กฎเกณฑ์อย่างไร

“ผมก็ยังนึกว่า เอ๊ะ เราพลาดไปได้ยังไง ไม่เคยนึกมาก่อน เพราะประเทศเราก็ไม่เคยทำประชามติใหญ่ๆ มาบ่อยนัก เลยคิดไม่ถึงว่าอาจจะเกิดในวันเดียวกับวันเลือกตั้ง”

ส่วนจะทำได้หรือไม่ต้องถามผู้ปฏิบัติ คือ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

3) เมื่อมีการทำประชามติเข้ามาพร้อมกับการเลือกตั้งทั่วไป จะก่อให้เกิดผลดีผลเสียต่อแต่ละพรรคการเมืองที่ลงแข่งขันเลือกตั้งหรือไม่ และอาจกระทบกับผลการเลือกตั้งหรือไม่

กิตติศักดิ์ ประชุมรัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ สมาชิกวุฒิสภาA302A23E4.jpeg

เช่นเดียวกับ กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ที่ยืนยันหนักแน่นว่า “เรื่องว่าจะต้องทำประชามติพร้อมกับเลือกตั้ง ผมเองโดยส่วนตัวก็ไม่ค่อยจะเห็นด้วย เพราะคงจะวุ่นวาย จะมาอ้างว่าเพื่อประหยัดงบประมาณคงจะไม่ถูก”

กิตติศักดิ์ มองว่า การทำประชามติควรทำก่อนการเลือกตั้ง หากใช้วันเวลาเดียวกันจะมีผลเสียมากกว่าผลดี  

“ต้องยอมรับว่า อาจมีพี่น้องประชาชนบางส่วนสับสน อันไหนคือประชามติอันไหนคือเลือกตั้ง จะไปพันกัน เอาตรงๆ ประเทศไทยขณะนี้ไม่ได้ยากไร้จนกระทั่งไม่มีสตางค์จะจัดเลือกตั้ง” กิตติศักดิ์กล่าว

ในทางตรงข้าม ก็มี ส.ว.ที่ออกตัวว่าไม่ขัดข้องถ้าจะทำพร้อมกัน อย่าง เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ที่มองว่า ปัญหาในทางปฏิบัติขึ้นอยู่กับคนจะมอง ถ้าคนมองให้มีก็มี ถ้ามองให้ไม่มีก็ไม่มี

“แต่ผมมองว่าไม่มีหรอก คุณเลือก ส.ก. กับเลือกผู้ว่าฯ กทม. 2 อย่าง ยังไปพร้อมกันได้เลย ถูกไหม”


แก้อะไร-แก้อย่างไร-แก้แค่ไหน?

นอกเหนือจากนั้น ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. อีกคนหนึ่ง ยังได้เปิดมุมมองชวนคิดว่า การเสนอจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่นั้นอาจดูดีในหลักการ แต่เมื่อลงรายละเอียดในขั้นตอนปฏิบัติแล้ว ยังพบหลายช่องโหว่ที่อันตราย เช่น การเสนอให้มี สสร. เป็นคนกลางเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“ใช้คนกลางก็มีข้อควรระวังเหมือนกัน เปิดกว้างเกินไป เหมือนตีเช็กเปล่า คนก็ไม่แน่ใจว่าจะไปยกเลิกองค์กรอิสระทั้งหมดไหม แน่นอน ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ไม่แตะต้องสถาบันฯ แต่ในรายละเอียดอื่นที่เกี่ยวข้องกัน ถ้าสามารถเขียนอะไรก็ได้ จะมีปัญหาเหมือนกันหรือเปล่า”

“ในหลักการผมเห็นด้วย แต่น่าจะมีกรอบพอสมควร ว่าจะให้แก้เรื่องอะไร แก้อย่างไร สสร. มายังไงเราก็ไม่รู้เนาะ เป็นตัวแทนพรรคการเมืองหรือเปล่า ตัวแทนชาวบ้านจริงๆ จะได้เข้ามาเป็น สสร. ไหมล่ะ ก็มีคำถามเหมือนกัน” ดิเรกฤทธิ์ โยนคำถาม

เขายังย้ำคำเดิมว่า ส.ว.ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าถึงเวลาต้องแก้รัฐธรรมนูญเสียที พร้อมฝากข้อสังเกตว่า การแก้ไขควรมีกรอบกำหนดชัดเจนหรือไม่ อย่ากว้างเกินไปจนประชาชนขาดความมั่นใจ

“เพราะถ้าเขาเห็นชอบด้วยในหลักการใหญ่ๆ ถึงเวลาเราไปเขียนบางเรื่องที่เขากังวล ก็เป็นปัญหานะ ไม่ใช่ว่าไขกุญแจแล้วจะไปทำอะไรในบ้านก็ได้”


ผ่านมา 5 ปี ท่าที ส.ว. เปลี่ยนไป

สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับที่มาและวีรกรรมของ 250 ส.ว. คงจำได้ถึงความเหนียวแน่นเป็นปึกแผ่นในการลงมติแต่ละครั้ง จนบางทีเหมือนไม่สะทกสะท้านต่อเสียงของ ส.ส.หรือกระแสสังคมภายนอกเลย กระทั่งผ่านมา 5 ปี เริ่มเห็นได้ถึงคลื่นเล็กๆ ของ ส.ว.ส่วนน้อย ที่คิดต่างออกไป

ทว่าครั้งนี้ ส.ว.กลับแบะท่าว่าคงจะไฟเขียวให้การเสนอแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่ยากเย็นนัก ซ้ำยังชี้ให้เห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กันยกใหญ่

เสรี สมาชิกวุฒิสภา ประชุมสภา_201117.jpg

“ผมว่าการถามประชาชนไม่เสียหายหรอก แล้วรัฐธรรมนูญ 2560 ก็มีเรื่องขัดแย้งกันมาตลอด”

“ในความเห็นผมก็ควรทำ ไม่เห็นเสียหายตรงไหน ก็ใช้มา 5 ปีแล้วนี่” เสรี ระบุ

ดิเรกฤทธิ์ ยกฉายาที่หลายฝ่ายมอบให้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทั้ง ‘ต้นไม้พิษ’ ก็ดี หรือ ‘ผลไม้พิษ’ ก็ดี ล้วนสะท้อนความไม่ชอบธรรมของเนื้อหาสาระ

“ผมก็เห็นด้วยนะ ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองเราไม่จบ ต้นไม้เป็นพิษออกมาก็ไม่ยอมรับกัน ทั้งที่บางเรื่องก็อาจจะดีอยู่แล้ว และบางเรื่องก็ควรจะแก้ ... ให้มีคนกลางแก้ จะได้ไม่ต้องมีฝ่ายไหนยกมาอ้างว่าไม่ดี บอกว่าต้นไม้เป็นพิษ อะไรก็เป็นพิษหมด งั้นสภาฯ ก็เป็นพิษหมดสิ เพราะ ส.ส.ก็มาตามรัฐธรรมนูญ"

ด้าน กิตติศักดิ์ ย้ำจุดยืนว่า รัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งอาจเหมาะที่จะใช้ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อใช้ไปสักระยะ หรืออย่างน้อยผ่านการเลือกต้งมาสักครั้ง สังคมก็จะพอจับประเด็นได้ว่า “การมีรัฐธรรมนูญที่สร้างความแตกแยกขัดแย้งกัน ไม่น่าเป็นผลดีในการบริหารประเทศ ดังนั้น ผมฟันธงได้เลยว่าถึงเวลาที่ต้องแก้ และผมจะเป็นคนสนับสนุน คอยดูผมไว้ ถ้าไม่แตะสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ผมยินดีร่วมแก้ไข”

ไม่ว่าความเห็นของ ส.ว.เหล่านี้ จะเป็นเพราะมองเห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และหวังให้มีการแก้ไขอย่างแท้จริง หรืออาจเป็นการปรับตัวเพื่อลดแรงเสียดทานจากสังคมหรือไม่ เพราะ ‘สภาล่าง’ เองก็เห็นชอบข้อเสนอนี้มาถึง 324 ต่อ 0 เสียง หาก ‘สภาสูง’ จะดื้อแพ่งอยู่ แรงต่อต้านก็คงมากขึ้น

หรืออีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พร้อมใจกันไฟเขียว คือรู้อยู่แล้วว่า ต่อให้ผ่านสภาสูงไปได้ ก็ยังมีอีกด่านที่ ‘สูง’ กว่ารออยู่ และเป็นด่านชี้ชะตาการทำประชามติอย่างแท้จริง

ไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

ด่านสุดท้ายที่ลึกลับกว่าสภาสูง

คำนูณ อธิบายว่า หากวุฒิสภาเห็นชอบในการจัดทำประชามติเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร จะต้องเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า ก็สุดแท้แต่ ครม. จะมีความเห็นว่าอย่างไร ไม่ได้เป็นบทบังคับว่า ครม. ต้องจัดทำประชามติ

“ครม.ก็ต้องปรึกษาหารือกับ กกต. ว่าสมควรจะจัดทำหรือไม่ประการใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีเงื่อนไขว่าจะต้องจัดทำพร้อมวันเลือกตั้งทั่วไป นี่จะเป็นเทคนิกในรายละเอียดที่จะต้องดูว่าทำได้หรือไม่ ซึ่งผมยังไม่สามารถตอบได้”

โดยคำนูณได้ย้ำ 3 เงื่อนไขที่บรรยายไว้ข้างต้น ซึ่งอาจทำให้ยากเมื่อปฏิบัติจริง และหาก ครม. เห็นว่าไม่สามารถทำได้ ก็ต้องชี้แจงเหตุผลต่อประชาชน

“สำหรับผม ขณะนี้ยังไม่เห็นเหตุผลใดที่จะคัดค้าน เพียงแต่ ครม. ท่านจะเห็นอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง” “เพราะนี่ยังไม่ได้แปลว่าจะเกิดขึ้น เพียงแต่ว่าตกลงกันจะไปประชามติสอบถามประชาชนเท่านั้น ประชาชนจะตอบว่าอย่างไรก็ไม่รู้” คำนูณกล่าว

โฆษกวิปวุฒิสภา ทิ้งท้ายว่า นี่เป็นเพียงการเริ่มต้น และ “ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร” กว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเกิดขึ้นจริง

กิตติศักดิ์ ก็ย้ำว่า วุฒิสภามีความเห็นว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่ในการทำประชามตินั้น ‘อำนาจจริง’ จะอยู่ที่ ครม. กกต. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่จะร่วมกันพิจารณาว่าทำได้หรือไม่

“การทำประชามติ ในฐานะที่ผมพอมีประสบการณ์ทางการเมืองบ้าง ถ้าหากว่าทำตามนักการเมือง หรือทำตาม ส.ส. ก็อาจเอาไปเป็นผลประโยชน์ของพรรคการเมือง หรือนักการเมืองบางคน” กิตติศักดิ์ กล่าว

โดย พ.ร.บ.ประชามติ กำหนดเงื่อนไขว่าคำถามของประชามติต้องอยู่ในกรอบมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดว่า เมื่อมีเหตุสมควร ครม.สามารถขอให้มีการออกเสียงประชามติ ในเรื่องที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลใดหรือคณะใด

เท่ากับว่า อนาคตของประชามติ ไม่ได้อยู่ที่นักการเมืองในรัฐสภา แต่จะหลุดลอยไปอยู่ที่อีกหลายคนในทำเนียบรัฐบาล ในองค์กรอิสระ และกลุ่มคนที่กุมนิยามของกฎหมายเอาไว้

วุฒิสภาเป็นเพียงช่องทางแรกเพื่อเปิดไปสู่แดนสนธยาที่ลึกล้ำกว่าเท่านั้น ไม่ว่าจะได้เสียงจากรัฐสภา หรือ 50,000 กว่ารายชื่อของประชาชน ก็นำพาไปสู่ผลลัพธ์เดียวกัน หากข้อเสนอจัดทำประชามติพร้อมการเลือกตั้งถูกมองว่าทำไม่ได้จริง ก็อาจถูกพาไปสู่ทางตันเอาได้ แต่หากไม่ขัดกับมาตรา 166 ก็ถือว่ามีสิทธิ

นี่จึงอาจเป็นโจทย์สำหรับผู้อยาก ‘รีเซ็ตประเทศไทย’ จะต้องเตรียมรับมือต่อไปในเบื้องหน้า

ชยพล มาลานิยม
18Article
0Video
0Blog