วันนี้ (10 มกราคม 2568) นายกฯ สั่งด่วนใน ครม. ทุกส่วนราชการต้องเร่งจัดการ pm2.5 ขั้นเด็ดขาด สั่ง สตช. และ ก.คมนาคมต้องกวดขันจับรถควันดำ โดยเฉพาะปิคอัพแต่งเครื่อง พ่นควันดำเกลื่อนเมือง ก.อุตฯ รง.ต้องงดรับซื้อพืชจากการเผา ส่วน ก.พาณิชย์ห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากการเผา ก.กลาโหมเร่งกวดขันจับกุมลักลอบนำเข้าชายแดน ก.มหาดไทยต้องห้ามไซต์งานก่อสร้างที่ก่อมลพิษ ก.ตปท.ให้จับเข่าคุยเพื่อนบ้าน
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ได้ มีข้อสั่งการในที่ประชุม ครม. เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 โดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับพืชผลทางการเกษตรที่ มีการเผา โดยให้ก.อุตสาหกรรม เร่งกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ประกอบการงดการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ และสั่งการให้ ให้ ก.ทรัพยากรฯ ร่วมกับ สนง.ตำรวจแห่งชาติบังคับใช้กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดกับผู้เผาป่า / เผาตอซังข้าว / ข้าวโพด / อ้อย และพืชอื่น ๆ รวมทั้งประกาศกำหนดเขตควบคุมมลพิษ และให้ ก.พาณิชย์ ร่วมกับ ก.เกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการห้ามนำเข้าอ้อยไฟไหม้ รวมทั้งพืชเกษตรอื่น ๆ ที่ผ่านการเผา ให้ ก.กลาโหมขอให้หน่วยงานความมั่นคง และ ก.การคลัง โดยกรมศุลกากร ตรวจสอบการลักลอบการนำเข้าพืชที่ผ่านการเผาทุกชนิด ตามแนวชายแดนต่างๆอย่างเข้มงวด
จากนั้นนายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการ ส่วนราชการอื่นๆที่จะสามารถลด ค่าPM 2.5 ในภาคอื่น ๆได้ โดยให้ ก.คมนาคม และ สตช.ตรวจสอบและห้ามใช้ยานพาหนะที่ปล่อยควันดำเกินมาตรฐานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะรถปิคอัพ / รถโดยสาร / รถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่ปล่อยควันดำรวมทั้งรถขนส่งมวลชนของ ขสมก. และรถร่วมบริการเส้นทางต่างๆ ที่อยู่ในความดูแลของรัฐ ให้ ก.มหาดไทยกำชับ กทม. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ให้ควบคุมการก่อสร้างในเขตพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันการปล่อย PM2.5 จากสถานที่ก่อสร้างรวมทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้กับผู้ประกอบการซึ่งฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือมาตรการดังกล่าว อย่างจริงจัง
ให้ ก.มหาดไทย (กรมโยธาฯ) กำหนดแนวทางป้องกันมิให้เกิดการปล่อย PM2.5 ในโครงการก่อสร้างของรัฐ เพื่อให้ทุกหน่วยงานของรัฐนำไปกำหนดใน TORของการจ้างก่อสร้างต่อไป เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว และให้ ก.ดิจิทัลฯ ร่วมกับ ก.อุดมศึกษา และ ก.ทรัพยากรฯ พัฒนา platformฐานข้อมูลกลางเกี่ยวกับ hotspot และ ventilation โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม หรือ low cost sensors เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ในการแก้ปัญหาการฟุ้งกระจายของ PM2.5 อย่างบูรณาการ และขอให้ ก.ต่างประเทศ หารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อร่วมมือและให้ความช่วยเหลือในการลดปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังมีข้อสั่งการต่อไปว่า ในด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ให้ ก.มหาดไทย กำชับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย / ผู้ว่าราชการจังหวัด / และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเตรียมการป้องกันกรณีที่มีการลักลอบเผาและเกิดไฟไหม้ลุกลามในวงกว้างและเป็นต้นเหตุของ PM2.5
นางสาวศศิกานต์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ฝุ่นควันที่สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจและผลเสียต่อสุขภาพอย่างมหาศาล จึงได้เร่งผลักดันการแก้ปัญหา PM 2.5 ให้ครอบคลุมในทุกมิติ โดยเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพจากการหายใจอากาศที่มีฝุ่นควันพิษ PM 2.5 โดยกำหนดมาตรการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในรูปแบบที่ให้เป็นตัวเงิน (in cash) และรูปแบบการสนับสนุนและการกำกับตามกฎหมาย ยกระดับมาตรฐาน บริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ (in kind) นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการเผาอ้อยในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว ดังนี้
ระยะเร่งด่วน
1) ผลักดันนโยบายการตัดอ้อยสดลดการเผาอ้อย ลดฝุ่น PM 2.5
2) สนับสนุนเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยยืม นำไปใช้สางใบอ้อยทดแทนแรงงานคน
3) การยกเว้นอากรศุลกากรการนำเข้าสำหรับเครื่องจักรกลการเกษตร
4) การชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยสำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรใช้ในไร่อ้อย
5) ดำเนินการร่วมกับ BOI เพื่อขอรับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 120% ของเงินลงทุน กรณีโรงงานน้ำตาลลงทุนซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อสนับสนุนลดฝุ่นละออง PM 2.5 จากภาคการเกษตรให้กับกลุ่มเกษตรกร
6) นำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อติดตามและลดการเผาอ้อย
.
ส่วนระยะยาว
1) การกำหนดปริมาณมาตรฐานในการผลิตน้ำตาลทรายขั้นต่ำของโรงงาน
2) กำหนดปริมาณอ้อยที่ถูกลักลอบเผาอ้อย ฤดูการผลิตปี 2567/2568 ไม่เกินร้อยละ 25
3) มาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2567/2568 – ปี 2569/2570
4) มาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 (แผน 3 ฤดูการผลิต)
รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนมาตรการที่เกี่ยวข้องและผลักดันความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินการแก้ปัญหา PM 2.5 อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อคืนอากาศที่สะอาดให้กับประชาชนและสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุลต่อไป และจากข้อมูลติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2567 - 9 มกราคม 2568 ในภาพรวมพบจังหวัดที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน 37.5 มคก./ลบ.ม. หรือระดับสีส้ม จำนวน 53 จังหวัด