ไม่พบผลการค้นหา
บทสัมภาษณ์ของ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 7 มกราคม 2561 มีส่วนที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง เพราะประเมินสภาพการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งได้แหลมคม ในฉบับ “นักการเมือง” ที่รู้ทัน “นักการเมือง” ด้วยกันเอง เขามองว่า เมื่อ ส.ส.เข้าสู่สภา ให้จับตาดู “การเปลี่ยนขั้ว-งูเห่าการเมือง” ขณะที่ “ประยุทธ์” ก็จะเจอภาวะที่เปราะบางในหลายสถานการณ์ แม้จะถืออาวุธ และรู้กลยุทธ์ทางการเมืองเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ

แม้ว่าวันเลือกตั้งจะถูกขยับออกไปเรื่อยๆ ทว่า การทำนาย-การประเมิน ถึงความเป็นไปที่จะเกิดขึ้นในรัฐสภา ก็มีให้อ่าน-ฟังอยู่เป็นระยะ หนึ่งในนั้นมาจาก อดีต ส.ส. ฝีปากกล้า “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” ที่ให้สัมภาษณ์กับมติชนรายวันเมื่อเร็วๆ นี้ (อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม)

เป็นการประเมินการเมือง ตามฉบับคนที่เคยอยู่ในแวดวงการเมือง และรู้ทันนักการเมืองด้วยกันเองชนิดมองตาก็รู้ใจ และเป็นการประเมินในเชิงการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เป็นหลัก-อุดมการณ์เป็นรอง เราอาจสรุปถึงข้อเสนอของชูวิทย์ได้ดังนี้

+รัฐธรรมนูญ 2560 “เปิดโอกาสให้คนย้ายพรรคได้ ย้ายอุดมการณ์ได้ เปลี่ยนแปลงได้” หลังการเลือกตั้งจะมีต่อรองกันอีกหลายยก โดยเฉพาะการใช้ตำแหน่งเข้าต่อรอง เช่น ตำแหน่งรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี ชูวิทย์บอกว่า ตำแหน่งเหล่านี้ “ดีกว่าจะเป็นนักการเมืองฝ่ายค้านเฉยๆ” ทำให้หน้าฉาก จะได้เห็นผู้สมัครชิง ส.ส.ทุกคน ทุกพรรค ต่างประกาศก้าวถึงอุดมการณ์ทางการเมืองชัดเจนไปหมด ขณะที่หลังฉาก คือ ขอให้ตัวเองได้เป็น ส.ส.ก่อน “หลังจากนั้นจะมีคนเป็นงูเห่า เพื่อแบ่งก๊วนต่อรองตำแหน่งทางการเมือง”

+ประยุทธ์ กับ คำขู่ “ยุบสภา” อันเป็นคำขู่ที่คนเป็น ส.ส.หวาดกลัวมากที่สุด ชูวิทย์บอกว่า “นักการเมืองร้องจ๊ากเลยเพราะต้องลงหาเสียงใหม่ ไปเริ่มต้นใหม่ พวกนี้กลัว กลัวการเลือกตั้งใหม่...เข้ามาได้แล้วก็ต้องอยู่ให้ได้นานที่สุด เอาต้นทุนที่เสียไปกลับมา” สถานการณ์เช่นนี้จะบีบให้บรรดา ส.ส. ตัดสินใจใหม่ในทางการเมือง โดยเป็นไปได้ที่จะยินยอมประนีประนอมกับข้อเสนอต่างๆ ของฝ่ายเผด็จการ

+ชูวิทย์ประเมินอย่างขวาจัดที่สุด โดยเขามองว่า นายกรัฐมนตรียังคงเป็นคนหน้าเดิม เพิ่มด้วยกุนซือที่เข้าใจการเมือง “รัฐบาลผ่านมา 5 ปีแล้ว กองทัพค่อนข้างที่จะรู้กลยุทธ์ทางการเมือง และกุมเครื่องมือทางการเมืองไว้แล้ว” ชูวิทย์ประเมินด้วยว่า กองทัพไม่ใช่แค่เท่าทันการเมือง แต่กองทัพเท่าทันมวลชนที่เคลื่อนไหวในช่วงหลายปีนี้ด้วย “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และกลุ่มคนอื่นๆ ทหารมีข้อมูลและจะสามารถหยุดองคาพยพกลุ่มคนเหล่านี้ได้”

+บ้านเมืองสงบ “การที่จะประท้วง ปาระเบิด ปิดบ้านเมือง ผมคิดว่าไม่มี”

+พรรคการเมืองที่อยู่ตรงกลาง รอร่วมรัฐบาล เช่น พรรคลูกบรรหาร-พรรคอนุทิน เนวิน ชูวิทย์จัดเป็น “พรรคพวก” ในทางการเมือง ถ้ามี 2 ตัวเลือกคือ “ทักษิณกับประยุทธ์” ชูวิทย์บอกว่า พรรคการเมืองเหล่านี้เลือกประยุทธ์แน่นอน เพราะการเลือกประยุทธ์เท่ากับเลือกเสถียรภาพทางการเมือง “ถ้าเลือกนายทักษิณอยู่ได้แค่ครึ่งปีแล้วเดี๋ยวก็มากันอีก อยู่ได้สามเดือนห้าเดือนหรือเปล่าก็ไม่รู้ ฉะนั้น พวก ส.ส.พวกนี้ ไม่ใช่คนที่มองอะไรไม่รู้เรื่อง เขาไม่ได้หวังอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว แต่อยากจะอยู่นานที่สุด ต้องหาวิธีที่จะทำอย่างไรให้ เป็น ส.ส.อยู่ในสภาได้นานที่สุด”

+มีเรื่องให้ประยุทธ์ปวดหัวรออยู่อีกมาก โดยเฉพาะการเผชิญกับการเมืองระบบรัฐสภาของจริง ที่จะได้เห็นนักการเมืองอาชีพออกมาวิพากษ์รัฐบาล “จะมีพวกตั้งกระทู้ถาม หรือพวกที่ยิ่งทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ยิ่งปวดหัว อารมณ์ที่ว่าตอนนี้เสียบ่อยจะยิ่งเสียบ่อยกว่า เพราะจะกวนไม่หยุดและเอาไม่อยู่”

+เขาปิดท้ายด้วยว่า “ผมเชื่อว่าก็จะมีการเลือกตั้งอีกครั้งในเวลาไม่ถึงปี”

แตกหนึ่งนามสกุล เป็นหลายเขต-หลายพรรค

หนึ่งในปรากฎการณ์ที่ชี้ชวนให้เห็นถึงแนวโน้มที่ชูวิทย์ได้ว่าไว้ คือ “การแตกหนึ่งนามสกุล เป็นผู้สมัครหลายเขต-หลายพรรค” พี่หรือน้อง หรือเมีย ของอดีต ส.ส. พรรคหนึ่ง ไปลงเลือกตั้งอีกพรรคหนึ่ง ปรากฎการณ์ที่มีการแตกนามสกุล-กระจายเขตเลือกตั้งเช่นนี้ เป็นหนึ่งในภาพสะท้อนถึงมูลค่าของสนามเลือกตั้งครั้งนี้ว่า มหาศาล เพราะคะแนนเสียงตกน้ำทุกคะแนนจะถูกนับรวมทั้งหมด ทำให้ทุกคะแนนเสียงมีค่าของจริง

เมื่อทุกคะแนนเสียงมีค่าเช่นนี้ การต่อรองผลประโยชน์ในทุกหัวระแหงจึงสูงตามไปด้วย

การแตกนามสกุล-กระจายเขตเลือกตั้ง ช่วยป้องกันความเสี่ยงในทางการเมืองและในทางเศรษฐกิจ คุยได้หมด เปิดรับทุกการต่อรองโดยมีผลประโยชน์ต่างๆ แลกเปลี่ยน

+ นายชุมพล จุลใส หรือลูกหมี ลงชิง ส.ส.เขต 1 ชุมพร ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ พี่ชาย นายสุพล จุลใส จะลงชิง ส.ส. เขต 3 ชุมพร ในนามพรรคลุงกำนัน

+นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ลงชิง ส.ส.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ น้องชาย นายพิชัย บุณยเกียรติ อดีตนายก อบจ.นครศรีธรรมราช ลงชิง ส.ส.ในนามพรรคพลังประชารัฐ

+นายเสนาะ เทียนทอง ประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ลงชิง ส.ส.ในนามพรรคเพื่อไทย ขณะที่ หลานชายและหลานสาว นายฐานิสร์ และนางตรีนุช เทียนทอง ลงชิง ส.ส.ในนามพรรคพลังประชารัฐ   

+นายจองชัย เที่ยงธรรม ลงชิง ส.ส.เขต 3 สุพรรณบุรี ในนามพรรคภูมิใจไทย ขณะที่ลูกชาย นายเสมอกัน เที่ยงธรรม ลงชิง ส.ส. เขต 4 สุพรรณบุรี ในนามพรรคชาติไทยพัฒนา

+นายประภัตร โพธสุทน เลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา ลงชิง ส.ส. เขต 3 สุพรรณบุรี ในนามพรรคชาติไทยพัฒนา ขณะที่ หลายชาย นายยุทธนา โพธสุทน ลงชิง ส.ส. เขต 4 พรรคพลังประชารัฐ

นี่เฉพาะ 5 นามสกุลดังเท่านั้น เพราะยังมีปรากฎการณ์เช่นนี้อีกในหลายเขต

นี่เป็นเพียงตัวอย่างการต่อรองผลประโยชน์ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น เป็นการต่อรองผลประโยชน์ภายใต้เงื่อนไขที่ทุกคะแนนเสียงมีค่า-ถูกนับ-มีราคา

การต่อรองผลประโยชน์ไม่ได้จบแค่ที่วันเลือกตั้งแน่ๆ แต่จะลากยาวไปถึงวันเลือกนายกรัฐมนตรี จะลากยาวไปถึงวันอภิปรายงบประมาณ จะลากยากไปถึงวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในระหว่างนี้ จะปรากฎแนวโน้มแบบที่ชูวิทย์ว่าไว้คือ “งูเห่าเต็มสภา”

ไม่อาจประเมินกองทัพต่ำเกินไป

อีกเรื่องหนึ่งชูวิทย์ประเมินไว้ คือ สถานการณ์ที่กองทัพเท่ากันการเมือง และการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนขนาดที่ตัวเขาเองใช้คำว่า “ทหารมีข้อมูลและจะสามารถหยุดองคาพยพกลุ่มคนเหล่านี้ได้” คิดตามจากข้อเสนอของชูวิทย์ ผ่านสองสามกรณีที่เกิดขึ้นในรอบสองเดือนที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่า พวกเขามาถึงจุดที่พร้อมใช้ทุกวิธีการทั้งโดยผ่านการใช้ข้อกฎหมาย-วิธีการนอก/เหนือกฎหมาย ในการกำจัดผู้เล่นหรือตัวละครที่โดดเด่นของฝ่ายประชาธิปไตย

กรณีมุ่งทำลาย “โบว์-วัฒนา” ผ่านการกระจายคลิปลับซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลขั้นสูงสุดก็ดี กรณีการเข้าจับกุมตัว “นายพรชัย ศรีสุริยันโยธิน” อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคเพื่อไทย ขณะที่พาคณะของ “คุณหญิงสุดารัตน์” ลงพื้นที่หาเสียงที่บุรีรัมย์ก็ดี ซึ่ง “ภูมิธรรม” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย มองว่า “อาจทำให้ถูกมองได้ว่ามีการใช้อำนาจรัฐคุกคามนักการเมือง-เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง”

ไปจนถึง กรณีที่ ป.ป.ช. เร่งรื้อคดีที่มี “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้งก็ดี หลังมีกระแสข่าวว่า ชัชชาติ จะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย กรณีหลังนี้ “ภูมิธรรม”​ ออกมาประกาศชัดว่า “ช่วงทำธุรกิจอยู่ ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอกลับเข้าสู่การเมืองถูกตรวจสอบขึ้นมาทันที...ทุกอย่างถูกดองไว้ แต่กลับรื้อคดีในช่วงที่มีการเลือกตั้ง” ในทางกลับกันคดีนาฬิกากลับถูกยื้อไว้ จนสุดท้ายระบุว่าไม่ผิด-ไม่พึงดำเนินการสืบสวนต่อ

เมื่อ “ยงยุทธ” แห่งพรรคเพื่อชาติ เปิดประเด็นว่า “ขอโอกาสพาทักษิณกลับบ้าน”

ก็ตามด้วยความเห็นจาก “ประวิตร” บิ๊กนาฬิกาว่า “กลับมาได้ แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย”

ฉับพลันก็ตามมาด้วยวาทะโต้กลับที่ถูกแชร์อย่างมหาศาลในโลกออนไลน์ จาก “ทักษิณ” โจมตีโดยตรงไปยัง “กระบวนการยุติธรรมแบบป้อมๆ”

ปิดท้ายด้วยการที่ประวิตรบอกเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับทักษิณว่า “เป็นรุ่นน้อง แต่ไม่ได้เป็นน้อง” ขณะที่ “ประยุทธ” ปิดประตูเจรจาทุกรูปแบบด้วยประโยคว่า “เจรจากับผู้หลบหนีคดีไม่ได้”

เมื่อระดับ “หัว” โจมตีกันแบบเปิดหน้า-ข้ามโลกเช่นนี้ ก็แปลว่า ปฏิบัติการทำลายผู้เล่นฝั่งประชาธิปไตยที่จะได้เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆหลังจากนี้จะยิ่งรุนแรงขึ้น ในระดับที่อาจถือเป็นการกลั่นแกล้งกันในทางการเมือง!!  


วยาส
24Article
0Video
63Blog