ไม่พบผลการค้นหา
รวมความบอบช้ำของผู้ประกอบการรายย่อยว่าด้วยเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ และมาตรการต่างๆ ที่ออกมาโดยระบุว่าช่วยเหลือ SME แต่ดูเหมือนพวกเขาเชื่อว่าคนที่ได้รับประโยชน์เต็มๆ จะไม่ใช่ SME จึงมีคำถามถึงหน่วยงานกำกับดูแลมากพอสมควร

“วันนี้แบงก์ชาติเป็น regulator แล้วใครจะเป็นผู้กำกับ regulator”

แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยตั้งคำถามดังๆ กับการทำงานของแบงก์ชาติ

หลังจากทั้งสังคมเห็นกำไรอู้ฟู่ธนาคารพาณิชย์ปี 2566 ที่น่าจะแตะ 2.2 แสนล้าน แล้วเพ่งสายตาไปที่ ’ความต่างอันถ่างกว้าง’ ของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ 

ภาระดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเรื่องที่ประชาชนประสบพบเจอถ้วนหน้า เช่นกันกับบรรดาผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME ที่มีอยู่ราว 2.7 ล้านราย ครอบคลุมการจ้างงานเกือบ 6 ล้านตำแหน่ง

แสงชัยเป็นตัวแทนของ SME ไทยไล่เรียงความเจ็บปวดของ SME กับธนาคารพาณิชย์ และตั้งคำถามกับหน่วยงานกำกับดูแล (regulator) คือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลายเรื่อง โดยยืนยันว่า ถ้าไม่ ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ’ และไม่จัดการกับเรื่องความเป็นธรรมของดอกเบี้ย SME ไทยแย่แน่


ดอกเบี้ยเงินกู้สูงพิเศษ ธนาคารคำนวณยังไงไม่มีคำตอบ

“ต่างประเทศ ส่วนต่างดอกเบี้ยเขาแค่ 3-5% ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ ของเราจริงๆ ดีดไปที่ 10-15%”

แสงชัยยกตัวอย่างที่ทำให้หัวร้อนเพิ่มขึ้น โดยอธิายว่าตัวเลขนี้ไม่ได้เวอร์ เพราะดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 0.3-2.5% ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ อย่าไปดูดอกเบี้ยทั่วไป MRR MOR MLR ซึ่งอยู่ประมาณ 7% กว่า เพราะมันคือภาพลวงตา 

เพราะมันยังมีอย่างอื่นอีก เมื่อเเบงก์ชาติกำหนดเพดานดอกเบี้ยใน 5 ประเภทไว้ดังนี้ 

  • 1.อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต 16% ต่อปี
  • 2.อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของเเบงก์ชาติที่ไม่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน 25% ต่อปี
  • 3.อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของเเบงก์ชาติที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน 24% ต่อปี 
  • 4.อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับของแบงก์ชาติ 33% ต่อปี
  • 5.สินเชื่อที่เป็น Term Loan (เงินกู้ที่มีอายุเงินกู้แน่นอน เช่น 3 ปี หรือ 5 ปี) ไม่ว่าจะเป็น OD (Over Draft) ตั๋ว PN (บริการเงินกู้หมุนเวียนระยะสั้น โดยมีตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นเอกสารประกอบการกู้) หรือสินเชื่อบ้านต่างๆ เพดานอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ไม่เกิน 15% 

“ผมถึงบอกว่าต้นทุนทางการเงิน อยู่แค่ไม่เกิน 2.50% บวกค่าบริหารจัดการแล้วยังไงก็ไม่เกิน 5% แต่ธนาคารดันซัดส่วนต่างไป 1-3 เท่าตัว แบงก์ไม่รวยล้น ผมก็ไม่รู้จะพูดยังไงแล้ว” แสงชัยกล่าว

เขาตั้งคำถามที่สำคัญและอยากได้คำตอบจากผู้กำกับดูแลอย่างแบงก์ชาติด้วยว่า

“วันนี้ผมอยากถามว่า มันมีมาตรฐานวิธีคำนวนความเสี่ยงเพื่อคำนวนอัตราดอกเบี้ยให้ประชาชนและเอสเอ็มอีที่เป็นธรรมไหม”

“ทุกวันนี้เราเห็นแต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ชัดเจน ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้น เราไม่เห็นของกันและกัน วันนี้แบงก์กล้าเปิดเผยข้อมูลนี้ไหมว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของแบงก์อยู่ที่เท่าไหร่ แล้วแบ่งมาเป็นคลัสเตอร์เลย เช่น บุคคลธรรมดาที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านต่อปีอยู่ที่เท่าไหร่ กลุ่มนิติบุคคลรายได้ไม่เกิน 300 ล้าน 500 ล้าน อยู่ที่เท่าไหร่”

“เวลาเรากู้ มันจึงกลายเป็น MOR MRR ++ บวกๆ ซึ่งหมายถึงบวกค่าความเสี่ยง บวกนู่นบวกนี้ ไม่รู้บวกเท่าไหร่ เรากินข้าวราคา 900++ ยังรู้เลยว่ามันหมายถึงการบวก vat กับ service charge ในอัตราเท่าไหร่ แต่พอเรากู้เงิน เราไม่รู้เลยว่า ชีวิตของเรามีค่าความเสี่ยงในสายตาธนาคารเท่าไหร่” 

เมื่อถามว่า แล้วทำไมสมาพันธ์ SME ไม่ลองไปคุยกับแบงก์ชาติ? เขาตอบว่าเคยคุยแล้วเมื่อกลางปี 2566 แต่ไม่ได้คำตอบ แถมการนิยาม SME ของแบงก์ชาติก็สร้างความสับสนยิ่ง

“ผมเคยคุยกับแบงก์ชาติระดับผู้อำนวยการอาวุโส โดยมีสภาพัฒน์เป็นตัวกลางเมื่อปีที่แล้ว คุยเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม เราก็ซักถามว่า แบงก์ชาติมีกราฟหรือข้อมูลอัตราดอกเบี้ย SME ไหม ว่าสถาบันการเงินที่เป็นธนาคารพาณิชย์และธนาคารรัฐ คิดอัตราดอกเบี้ยเอสเอ็มอีเท่าไหร่ ปรากฏว่า แบงก์ชาติดันไปเอาสินเชื่อ 100 ล้านลงมารวมเป็นเอสเอ็มอีทั้งหมด สมาพันธ์ฯ จึงแย้งไปว่า ทำไมไม่เอานิยามเอสเอ็มอีตาม สสว. ที่ระบุว่า เอสเอ็มอีภาคการผลิต รายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท ภาคบริการและการค้ารายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท หากเอากลุ่มนี้เอาพอตกราฟ จะเห็นว่า เอสเอ็มอีมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ประมาณเท่าไหร่ ถ้านิติบุคคลจะทำง่ายมาก เราจะได้เห็นสภาพปัญหา และช่วยกันหาแนวทางในการแก้ปัญหา” 

“ทีนี้แบงก์ชาติก็ไม่มีคำตอบให้ บอกแค่ว่า เราเรียนทฤษฎีไฟแนนซ์เดียวกัน ผมจึงบอกว่า เวลาคุณนิยาม ดันไปเอากลุ่มสินเชื่อ 100 ล้านมารวม คนที่กู้ได้หลักร้อยล้าน ต้องมีรายได้เท่าไหร่ สินทรัพย์เขาต้องเท่าไหร่ มันคนละเรื่องกันเลย”


ช่วงโควิดถึงมือ SME เท่าไร: Soft Loan - ลดเงินส่ง FIDF  

หากย้อนไปช่วงโควิด-19 แบงก์ชาติออกโครงการสินเชื่อ Soft Loan มุ่งเน้นช่วยเหลือเอสเอ็มอี ปัญหาสำหรับแสงชัยก็คือ เขาอยากรู้ว่าโครงการนี้ช่วย SME ไปเท่าไร และช่วยรายใหญ่ไปเท่าไร เนื่องจากนิยาม SME ของแบงก์ชาตินั้นรวมผู้ประกอบการที่สามารถกู้เงินได้ 100 ล้านบาทด้วย  

“แล้วทราบไหมว่า โครงการสินเชื่อ Soft Loan นั้น แบงก์ชาติคิดดอกเบี้ยกันแบงก์พาณิชย์ไทย 0.01% ส่วนแบงก์พาณิชย์ไทย เอาไปปล่อยต่อ 2% กำไร 1.9% เลยนะ โดยเขาเอาสินเชื่อไปปล่อยลูกค้าชั้นดีของแบงก์ทั้งหมดเลย คำถามคือ แล้วอย่างนี้จะช่วยเอสเอ็มอีอย่างไร หากคุณเอาไปปล่อยลูกค้าชั้นดีที่เป็นเอสเอ็มอีก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่ใช่เอสเอ็มอี แล้วเงินเหล่านี้ตกถึงมือใคร”

ในช่วงการระบาดของ COVID-19 แบงก์ชาติยังได้ปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) จากธนาคารพาณิชย์ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 0.23% ต่อปี เป็นการชั่วคราว หลังจากที่ตอนนั้นแบงก์พาณิชย์มีปัญหาเรื่องความเสี่ยง ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ช่วยลดต้นทุนทางการเงินของระบบธนาคาร ซึ่งปกติแล้วแบงก์พาณิชย์ไทยต้องส่งเงิน 0.46% ของเงินฝากต่อปี โดยแบงก์ชาติให้เหตุผลว่า เพื่อให้ธนาคารสามารถนำเงินไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้เพิ่มมากขึ้น

“ผมถามแบงก์ชาติว่าเงิน 32,000 ล้านบาทต่อปี ที่แบงก์ชาติไปลดอัตราให้ธนาคารพาณิชย์ไทย 3 ปี มูลค่าเกือบแสนล้าน ไปอยู่ที่เอสเอ็มอีตรงไหนบ้าง ผมขอถามไปดังๆ อยากให้แบงก์ชาติประกาศมาให้หน่อยว่าที่คุณลดเงินสบทบกองทุน FIDF ลงครึ่งนึง โดยอ้างว่าให้ธนาคารพาณิชย์ไทยได้ปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีเพิ่มมากขึ้น อยากถามว่าเงิน 3 ปีมูลค่าเกือบแสนล้านนี้ ไปอยู่กับประชาชนและเอสเอ็มอีตรงไหน เราอยากทราบข้อมูลและให้ความเป็นธรรมกับแบงก์ชาติด้วย”

“เรากำลังพูดถึงเรื่องที่แบงก์ชาติมีพฤติกรรมอันน่าสงสัยว่า โอบอุ้มธนาคารจนเกินความจำเป็น ยกตัวอย่าง แบงก์ชาติเคยประกาศจะขยายเพดานอัตราดอกเบี้ยเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ผมเคยออกไปแย้งกับแบงก์ชาติว่า คุณประกาศขยายอัตราเพดานดอกเบี้ยให้ธนาคารได้อย่างไร โดยอ้างว่า เพื่อที่ธนาคารจะได้บริหารความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอีมากขึ้น”

“ผมมองว่า เมื่อแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อก็คือไม่ปล่อย แต่แบงก์จะใช้โอกาสนี้ปล่อยสินเชื่อโดยทำอัตราดอกเบี้ยกำไรสูงๆ สมมุติว่า ผมเป็นเอสเอ็มอี เดิมทีเพดานดอกเบี้ยเอสเอ็มอีอยู่ที่ 15% เมื่อผมไปกู้กับแบงก์ ผมโดนดอกเบี้ยอยู่ที่ 14% วันดีคืนดีแบงก์ชาติประกาศขยายเพดานดอกเบี้ยไปที่ 20% จากที่ผมโดนดอกเบี้ยที่ 14% แบงก์ก็อาจปล่อยสินเชื่อให้ผมที่ 17% ถามว่าผมเอาไหม ถ้าผมต้องใช้เงินก็ต้องเอา และแบกรับดอกเบี้ย 17% เอาไว้” 

“สิ่งที่แบงก์ชาติทำ จะทำให้เกิดช่องว่างในการที่แบงก์พาณิชย์ไปสปริงบอร์ดดอกเบี้ยกับประชาชนเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งผมไม่เห็นที่อยู่ดีๆ แบงก์ชาติจะมาประกาศขยายเพดานดอกเบี้ยแล้วมาบอกว่า ดีกว่าไปกู้หนี้นอกระบบ เรามักได้ยินทฤษฎีนี้บ่อยๆ ว่า เพดานดอกเบี้ยเอสเอ็มอีปัจจุบัน 33% ยังไงก็ดีกว่าไปกู้หนี้นอกระบบ หรือหากให้ความช่วยเหลือประชาชนหรือเอสเอ็มอีมากเกินไปก็จะเกิด Moral Hazard”

“วันนี้เราไม่ได้คาดหวังแล้วว่าธนาคารพาณิชย์จะมาช่วยเอสเอ็มอี พราะเขาก็ดำเนินธุรกิจ วันนี้เราคิดว่า กลไกสำคัญคือธนาคารรัฐ ธนาคารเฉพาะกิจในกลุ่มของ SFIs (ธนาคารออมสินม ธกส., ธอส., ธนาคารอิสลามฯ, SME Bank และ EXIM BANK และกองทุนต่างๆ ผมคิดว่าตรงนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เอสเอ็มอีมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น จริงๆ แบงก์ที่ช่วยได้เยอะคือ ธนาคารออมสิน ธกส. SME D Bank กองทุนประชารัฐฯ รวมถึง บสย. มาช่วยเรื่องค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงได้ง่ายขึ้น”

“อีกเรื่องที่ผมอยากสนับสนุนคือ บสย. ไม่ต้องไปค้ำประกันสินเชื่อให้กับแบงก์พาณิชย์ เพราะในเมื่อแบงก์พาณิชย์ต้องการปล่อยสินเชื่อแบบล่ำซำ แล้ว บสย. จะไปค้ำให้ทั้งหมดทำไม สมมุติ บสย. ซึ่งทำหน้าที่เป็นนายประกัน แทนที่จะเอาเงินมาใส่แบงก์รัฐ แล้วเอาลูกค้า SME มาอยู่แบงก์รัฐ เพื่อมาค้ำประกัน กลับกลายเป็นว่า บสย. กลับไปค้ำประกันให้แบงก์พาณิชย์ เพื่อให้แบงก์พาณิชย์เอาไปทำกำไร คุณคิดว่ามันโอเคไหม เอาลูกค้ามาอยู่กับแบงก์รัฐดีกว่า”

“เรากำลังจะประชุมเพื่อหารือการทำหนังสือถึงนายกฯ เรื่องการให้ความเป็นทำเรื่องอัตราดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ตอนนี้เราหารือกันคร่าวๆ เรื่องการออกแบบกลไกกำกับดูแลแบงก์ชาติ ในการออกมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง วันนี้แบงก์ชาติเป็น regulator แล้วใครจะเป็นผู้กำกับ regulator เพราะแบงก์ชาติเป็น regulator ที่สำคัญมากในระบบเศรษฐกิจการเงินการธนาคารทั้งประเทศ แล้วจะมีกลไกอย่างไรที่จะสร้างความมั่นใจว่า จะไม่มีการเกี้ยเซี๊ยะกันในการออกมาตรการของแบงก์ชาติ กับสถาบันการเงินธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ตัวชี้วัดต่างๆ คุณเผยแพร่ออกมาต่อสาธารณะอย่างไร”

แสงชัยกล่าวถึงสเต็ปต่อไป