นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย อภิปรายตั้งประเด็นคำถาม ถึงกรณีการส่งรัฐมนตรีไปเป็นหัวหน้าพรรค และ 1 คนไปเป็นเลขาธิการพรรคสะท้อนแนวคิด การสืบทอดอำนาจหรือไม่ รวมถึงการใช้ชื่อนโยบายประชารัฐของรัฐบาลเป็นชื่อพรรคเป็นส่วนหนึ่งของการสืบทอดอำนาจหรือไม่
ขณะเดียวกันนโยบายบัตรประชารัฐเหตุใดรัฐบาลต้องอัดเม็ดเงินลงไปก่อนการเลือกตั้งเพียงไม่กี่วันเอาเปรียบกันหรือไม่
นอกจากนี้ นายชวลิต ยังชี้ให้เห็นด้วยว่ามีการนำงบมาใช้โดยไม่มีแผนงานไม่ผ่านสภามาแฝงในพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2561 ผ่านสนช.อย่างเงียบๆ ประกาศในราชกิจจาฯวันที่ 11 พ.ย. 2561 บัญญัติในมาตรา 45 สามารถให้คณะรัฐมนตรีใช้เงินสำรองรายจ่าย ถึง 50,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา และยังใช้เงินงบ ประมาณแบบขาดดุลมาตลอด 5 ปี
นายชวลิตกล่าวว่าปัญหาความเชื่อมั่นทางการเมืองมี 2 ประเด็นคือประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกคนเห็นว่าจำเป็นต้องแก้แต่กลับมีวลีว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมาเพื่อพวกเรารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ จากวลีดังกล่าวรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงไม่เป็นกลางเอาเปรียบสารพัดในการเลือกตั้ง
'ยุทธพงษ์' จี้นโยบายปราบคอร์รัปชั่น ชี้ไม่เชื่อรัฐบาลจะทำได้จริง
หลังจากนั้น นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดมหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายนโยบายการปราบปรามการคอร์รัปชั่นว่า ไม่เชื่อว่ารัฐบาลนี้จะทำได้จริงเพราะจากการติดตามการทำงานก่อนหน้านี้พบว่ามีหลายเรื่องที่ส่อถึงความไม่ปกติเช่นการจัดซื้อจัดจ้างของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบว่าอธิบดีป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ไปถ่ายรูปกับเจ้าของบริษัท ซึ่งถูก ป.ป.ช. ชี้มูลว่ามีการฮั้วประมูลและโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มีบริษัทเข้าร่วมประมูล
โดย 3 บริษัท มีบริษัทหนึ่งที่เสนอวงเงินประมูลสูงแต่มีประสบการณ์การก่อสร้างท่าเรือมาก่อนกลับแพ้การประมูลขณะที่ บริษัทที่ไม่มีประสบการณ์กลับชนะการประมูลซึ่งบริษัทนี้มีธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานและก่อนหน้านี้ช่วงจัดตั้งคณะรัฐมนตรี นายอนุชา นาคาศัย สมาชิกกลุ่มสามมิตรเคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีไม่เป็นไร แต่อยากให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เป็นรัฐมนตรีพลังงาน
พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้ตนไม่เชื่อว่ารัฐบาลนี้จะป้องกันการทุจริตได้โดยระหว่างการอภิปราย
พล.อ.ประยุทธ์ฟังอย่างสนใจจนกระทั่งเวลา 13.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้ลุกขึ้นมา พร้อมกับกล่าวว่าขออนุญาตท่านประธานในที่ประชุมเนื่องจากติดภารกิจสำคัญ ที่ต้องไปพูดคุย กลับกรมการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ทำให้นายยุทธพงษ์แสดง ความไม่พอใจพร้อมกับว่านายกรัฐมนตรีจะไปไหน ขอให้อยู่ฟังการอภิปรายตนจบและตอบคำถามด้วยเพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ หันมาตอบว่าตนจะเข้ามาตอบคำถามของนายยุทธพงษ์อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ เดินออกไปแล้วนายยุทธพงษ์ยังไม่หยุดอภิปรายต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ที่ไม่อยู่ฝั่งจนทำให้บรรดา ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นประท้วงจำนวนมาก
ซึ่งนายพรเพชร วิชิตชลชัยรองประธานรัฐสภาในฐานะประธานในที่ประชุมพยายามจะควบคุมการประชุมแต่บรรยากาศประชุมกับยิ่งวุ่นวาย นายยุทธพงศ์ กล่าวว่าอยากให้พวกตัวประกอบ 10 บาทประท้วงแล้วหลบหลังฉากไปเพราะสิ่งที่พูดเป็นสิ่งสำคัญและอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ฟัง ทำให้นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภาลุกขึ้นประท้วงขอให้นายยุทธพงศ์ ถอนคำพูดและ "หากตนพูดบ้างว่าเป็นส.ส.ขี้ข้านายยุทธพงศ์ จะว่าอย่างไร" สร้างความฮือฮาให้บรรดาสมาชิกรัฐสภาลั่นห้องประชุม
ทั้งนี้การประท้วงยังไม่จบเพราะนายยุทธพงศ์ลุกขึ้นตอบโต้ว่า "ผมมาจากการเลือกตั้งไม่เหมือนท่านเลียรองเท้าทหารมา" ก่อนจะมาถอนคำพูดในภายหลังเพื่อให้การประชุมสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยฝากให้นายกรัฐมนตรีรวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ติดตามเรื่องดังกล่าวและชี้แจงข้อเท็จจริงต่อรัฐสภาในเรื่องที่อภิปรายภายใน 3 วัน
"อนุสรณ์" ชี้ ไม่เห็นภาพ นโยบาย 12 ด้าน เห็นแต่ 12 ไม่ ในการแถลงนโยบาย
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการแถลงนโยบายรัฐบาลที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายหลัก 12 ด้าน นโยบายเร่งด่วนอีก 12 เรื่อง ว่า เป็นการแถลงนโยบายที่ประชาชนไม่เกิดความเชื่อมั่น ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความไม่รู้ ไม่มีประสบการณ์ในระเบียบวิธีปฏิบัติของการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เลยทำให้ประชาชนเห็นภาพการแถลงนโยบายของรัฐบาลในลักษณะ 12 ไม่ ดังนี้
1.ไม่เข้าใจหลักการแถลงนโยบาย
2.ไม่สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐและยุทธศาสตร์ชาติ
3.ไม่มีแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย
4.ไม่มีอะไรใหม่
5.ไม่เฉพาะเจาะจง
6.ไม่ลงลึกในรายละเอียด
7.ไม่มีเอกภาพทางความคิด
8.ไม่ยอมรับว่าที่ผ่านมามีปัญหา
9.ไม่เห็นทิศทางนำพาประเทศที่ชัดเจน
10.ไม่มีแผนดำเนินนโยบายที่ชัดเจน
11.ไม่มีมารยาท
12.ไม่เคารพสภา ไม่เคารพประชาชน
โดย นายอนุสรณ์ แสดงความคิดเห็นไว้ว่า การแถลงนโยบายรัฐบาลครั้งนี้มีประชาชนติดตามจำนวนมาก เนื่องจากบรรยากาศอย่างนี้หายไปนานมาก แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ 5 ปีที่ผ่านมาบอกว่าจะปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในสภาเห็นชัดว่าความขัดแย้งยังคงอยู่หรือไม่ หากวางแผนทำรัฐประหารมา 3 ปีอย่างที่ฝ่ายค้านอภิปราย และวางแผนสืบทอดอำนาจให้ยาวนานที่สุด พอจะถูกตรวจสอบ ก็แก้ปัญหาโดยการบอกว่าเรื่องเก่า ทั้งที่ 9 ใน 36 รัฐมนตรีก็มาจากรัฐบาลยึดอำนาจ หลายคนยังนั่งอยู่ในตำแหน่งเดิม รัฐมนตรีที่ลุกขึ้นมาไม่เคยตอบตรงคำถาม หลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องเดิม ไม่พูดสิ่งที่จะทำในปัจุบัน แต่กลับไปเอาสิ่งที่ไม่ได้คิด ไม่ได้เขียนอยู่ในนโยบาย มาสวมรอยว่าจะไปสู่จุดนั้น เสมือนหนึ่งผลงานตัวเอง ประชาชนจึงรู้สึกสิ้นหวัง