มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จับมือ สสส. ถอดบทเรียนผ่านเวทีเสวนา 'แม่…ภาระที่แบกรับซ้ำยังถูกทำร้าย' ตีแผ่ความทุกข์ของคนเป็นแม่และเมีย โดยรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นตอของปัญหาสำคัญใน 4 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 ด้านสุขภาพ ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อในปอด มิติที่ 2 ด้านอุบัติเหตุทางถนน กว่า 20% ของอุบัติเหตุทางถนน เกิดจากการ 'ดื่มแล้วขับ'
มิติที่ 3 ด้านเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 90,000 ล้านต่อปี และมิติที่ 4 ด้านความรุนแรงในครอบครัว ที่มีทั้งผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว และเนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ สสส.จึงร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รณรงค์สร้างจิตสำนึก ตระหนักรู้ถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักจะเป็นปัจจัยร่วมของปัญหา
ซึ่งจากสถิติที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลสำรวจชี้ชัดว่า ครึ่งปี 2563 ผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงเพิ่มขึ้น มีปัญหาเรื่องเพศที่เกิดขึ้น และมีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวโดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด–19 ผู้หญิงได้รับผลกระทบอย่างมาก ไม่ใช่แค่ถูกเลิกจ้าง แต่ยังถูกกระทำความรุนแรง โดยมีปัจจัยกระตุ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
จรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการรวบรวมข่าวจากหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่เดือน ม.ค.–มิ.ย. 2563 พบว่า มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 350 ข่าว เนื้อหาข่าวมีการระบุเชื่อมโยงถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 74 ข่าว หรือ ประมาณ 21.2% ของข่าวความรุนแรงในครอบครัวทั้งหมด แบ่งเป็นข่าวการฆ่ากันตาย 201 ข่าว คิดเป็น 57.4% รองลงมา ข่าวการทำร้ายกัน 51 ข่าว คิดเป็น 14.6% ข่าวการฆ่าตัวตาย 38 ข่าว คิดเป็น 10.9% ข่าวความรุนแรงทางเพศของบุคคลในครอบครัว 31 ข่าว คิดเป็น 8.9% ข่าวการตั้งครรภ์ไม่พร้อม 10 ข่าว คิดเป็น 2.9%
เมื่อเปรียบเทียบข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในรอบครึ่งปี 2563 เทียบกับปี 2559 พบว่าสูงขึ้นถึง 50% และสูงขึ้นกว่าปี 2561 12% โดยในรอบครึ่งปี พ.ศ.2563 ข่าวอันดับ 1 ยังคงเป็นข่าวการฆ่ากันในครอบครัว เป็นข่าวสามีกระทำต่อภรรยาสูงถึง 65 ข่าว สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความเครียด เมาเหล้า ติดยาเสพติดแล้วคลุ้มคลั่งหาเรื่องทะเลาะ รวมถึงมีอาการป่วย ข่าวภรรยากระทำต่อสามี 9 ข่าว มีมูลเหตุมาจากถูกสามีทำร้ายร่างกายก่อน ปัญหาความขัดแย้ง แค้นสามีนำเงินไปซื้อเหล้า หรือถูกสามีข่มขู่ ยิ่งไปกว่านั้นพบข่าวความรุนแรงทางเพศของบุคคลในครอบครัวสูงถึง 31 ข่าว แบ่งเป็นข่าวการข่มขืนโดยบุคคลในครอบครัวสูงถึง 30 ข่าว และข่าวการอนาจารโดยบุคคลในครอบครัว 1 ข่าว
ซึ่งจากข่าวความรุนแรงในครอบครัวเห็นได้ว่า 'แม่–เมีย' ต้องแบกรับทั้งความคาดหวังของสังคมที่หล่อหลอมให้ดูแลครอบครัว ยังต้องรองรับอารมณ์ของสามี บางรายถูกสามีทำร้ายร่างกาย บางรายถูกสามีฆ่า บางรายสามีข่มขืนลูก หรือคนในครอบครัวข่มขืนลูก ในระดับครอบครัวจึงเห็นได้ชัดว่าผู้หญิงต้องแบกรับภาระที่หนักกว่าผู้ชาย
ทางออกของปัญหา คือ ต้องรื้อสร้างวิธีคิดใหม่ โดย 1.ต้องให้เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องของทั้งพ่อและแม่ ทั้งการเลี้ยงลูก การทำงานบ้าน ต้องมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ไม่ปล่อยให้เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อเกิดปัญหาความเครียดก็สามารถพูดคุยหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน 2.หน่วยงานภาครัฐต้องประชาสัมพันธ์ช่องทางการให้ความช่วยเหลือที่เป็นมิตร มีพื้นที่ให้ผู้ประสบปัญหาสามารถขอความช่วยเหลือได้ 3.หน่วยงานภาครัฐควรสร้างทางเลือกการมีอาชีพให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่กำลังตกงานให้สามารถพึ่งตนเองได้ และ 4.คนในสังคมต้องไม่นิ่งเฉยต่อปัญหาความรุนแรงในครอบครัว หรือมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องในครอบครัว เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อระงับเหตุได้อย่างทันท่วงทีอ