ไม่พบผลการค้นหา
สื่อต่างประเทศประเมินบรรยากาศการเมืองไทยก่อนเลือกตั้ง 'พล.อ.ประยุทธ์' ไม่ต่างกับ 'สายล่อฟ้า' แม้บางพรรคการเมืองจะประกาศหนุนให้เป็นนายกฯ ต่อ แต่ข้ออ้างคณะรัฐประหารบอกว่า 'นักการเมืองคือปัญหา' แต่สุดท้ายก็กลายมาเป็นนักการเมืองเสียเอง

นิกเกอิเอเชี่ยนรีวิว เผยแพร่บทวิเคราะห์ชื่อว่า Thai junta steps into unfamiliar terrain ahead of first electoral test เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2561 ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐบาลทหารของไทย กำลังจะก้าวเข้าสู่บททดสอบก่อนจะถึงการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 4 ปีกว่า หลังจากกองทัพก่อรัฐประหาร แต่ผลสำรวจความคิดเห็นหลายสำนักบ่งชี้ว่า พรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีคะแนนนิยมตามหลังพรรคฝ่ายประชาธิปไตย

บทความของนิกเกอิฯ ระบุด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเปรียบได้กับ 'สายล่อฟ้า' ในบรรยากาศการเมืองช่วงก่อนเลือกตั้ง เพราะเขาไม่เคยผ่านบททดสอบทางการเมืองมาก่อน แต่ก้าวขึ้นสู่อำนาจจากการรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 และอยู่ในอำนาจนานกว่าอดีตรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารชุดก่อนๆ ในอดีต ทั้งยังเคยกล่าวว่านักการเมืองเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กองทัพต้องรัฐประหาร แต่ในที่สุด เขาก็กลายเป็นหนึ่งในบรรดานักการเมืองเสียเอง 

นิกเกอิฯ ระบุว่า รัฐบาลทหารและพรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มีความได้เปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ ในการหาเสียงเลือกตั้ง อ้างอิงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์เดินสายพบประชาชนตั้งแต่ก่อนที่จะประกาศปลดล็อกคำสั่งห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ทั้งยังออกมาตรการสนับสนุนและช่วยเหลือทางการเงินแก่ประชาชนในด้านต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งแทบจะไม่ต่างจากนโยบายประชานิยมในสมัยอดีตรัฐบาล

ถ้าหากพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ ได้ที่นั่งเพียง 126 จากทั้งหมด 500 ที่นั่งของสภาผู้แทนราษฎร ผนวกกับ สว. ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 เสียง ก็ทำให้พรรคหนุน ทหารมีสิทธิที่จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ ทำให้เขาดูมีความมั่นใจว่าจะได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งปีหน้า

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ประเมินว่า พล.อ.ประยุทธ์ กำลังเข้าสู่เวทีการเมืองอย่างเต็มตัว และต้องต่อสู้กับนักการเมืองที่มีประสบการณ์อีกเป็นจำนวนมาก รวมถึงอดีตนักการเมืองที่สังกัดในพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปไตย์ และพรรคเล็กๆ ที่แยกตัวมาจากพรรคใหญ่ ซึ่งต่างก็มีประสบการณ์เป็นรัฐบาลมาแล้วทั้งคู่ โดยเฉพาะ 'พรรคเพื่อไทย' ซึ่งมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากกลุ่มผู้ที่ยังสนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นอกจากนี้ เงื่อนไขก่อนการเลือกตั้งที่เอื้อประโยชน์ต่อรัฐบาลทหาร รวมถึงกลไกการเลือกตั้งที่ดูเหมือนจะถูกออกแบบมาให้พรรครัฐบาลทหารได้เปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการ ภาคประชาชน รวมถึงพรรคการเมืองที่ประกาศตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตยหลายพรรค จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากการเลือกตั้งในปีหน้าจะถูกจับตามองและตั้งข้อสังเกตจากนานาประเทศ