ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลุ่มสภาที่ 3 จัดเวทีเสนอแนะทางออกไทยหลังโควิด พร้อมการเสวนา "ปฏิรูปธุรกิจไฟฟ้าอย่างไร ประชาชนจึงจะลดค่าใช้จ่ายสู้วิกฤตและได้ประโยชน์สูงสุด"
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ธนาคารโลกออกมาระบุว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกจะติดลบถึง 5.2 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าไทยจะติดลบถึง 8.8 - 9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเลวร้ายมาก โดยสิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ ทำตรงข้ามจากที่ทำมาตลอด 5-6 ปี และย้ำว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ ถ้าไม่แก้ปัญหาสังคมและการเมืองควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะความเชื่อมั่นทั้งในและจากต่างประเทศ พร้อมเสนอแนะ 10 ข้อที่สำคัญ คือ แก้รัฐธรรมนูญ, สร้างธรรมาภิบาล, ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินและยุติการจับกุมผู้แสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ รวมทั้งการลดราคาพลังงาน, การหารายได้เข้ารัฐ และให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีมาตรฐานอย่างเท่าเทียม
ชง 3 แนวทางบรรเทาทุกข์
นายธีระชัย ภูวนาทนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า เสนอรัฐบาล 3 ข้อ คือ 1.) บรรเทาเดือดร้อนเรื่องหนี้สินโดยเร่งด่วน ทั้งยกเลิกหนี้ทางการศึกษาหรือ "หนี้ กยศ."และยกเลิกหนี้เกษตรกรเป็นขั้นบันได ไม่เกิน 5 แสนบาท 2.) ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชา ทั้งค่าน้ำมัน, ไฟฟ้า-ปะปา และอื่นๆ 3.) ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์นายทุนใหญ่ โดยเฉพาะ จาก ม.44 ของหัวหน้า คสช. โดย สภาฯควรมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบทั้ง สัญญาที่เกี่ยวกับการโทรคมนาคมและโครงการ EEC
นายกฯ ที่ไม่เหมาะสมกับการบริหาร
นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชน 35 กล่าวว่า แม้มีการเลือกตั้งหลังรัฐประหารแล้ว แต่ประชาชนสิ้นหวังต่อรัฐบาล เพราะต้องดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองตั้งแต่ก่อนมีวิกฤติโควิด-19 และยิ่งมีปัญหาโควิด-19 ยิ่งหนักหน่วง เหมือนไม่มีรัฐบาลบริหารประเทศอยู่ พร้อมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีทบทวนตัวเอง เพราะไม่เหมาะสมที่จะบริหารประเทศต่อไป โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด-19 ที่ต้องเน้นการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจ และมองว่า การจะพัฒนาประเทศและสร้างความสมานฉันท์ในสังคมได้นั้น ต้องให้ทุกภาคส่วนร่วมในการนำเสนอโดยผู้มีอำนาจต้องรับฟัง ที่สำคัญต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยโดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม
ส่วนช่วงที่ 2 เป็นการเสวนา "ปฏิรูปธุรกิจไฟฟ้าอย่างไร ประชาชนจึงจะลดค่าใช้จ่ายสู้วิกฤตและได้ประโยชน์สูงสุด"
นายธีระชัย กล่าวถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเกี่ยวกับไฟฟ้า ทำให้เอกชนเข้ามาแข่งขันและรัฐวิสาหกิจเสียเปรียบ เพราะรัฐให้หลักประกันด้านกำไรแก่เอกชนที่ผลิตไฟฟ้ามากเกินไป ส่วนประชาชนยังได้ใช้ไฟฟ้าแพงทั้งที่การผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศล้นเกินอยู่ พร้อมเสนอทางออก คือ 1.) กำหนดบทบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.ให้ชัดเจน โดยเฉพาะหน้าที่ด้านผลิตไฟฟ้า 2.) ยกเลิกใช้ก๊าซจากอ่าวไทยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้น 25 เปอร์เซ็นต์ ของ กฟผ. ส่วนบริษัทเอกชนให้นำเข้าก๊าซมาผลิตไฟฟ้าเอง 3.) ยกเลิกสัญญาซื้อไฟฟ้าจากบริษัทเอกชน เปลี่ยนเป็นการเปิดประมูลรายปี ก่อนขยับเป็นรายไตรมาสและรายเดือนในระยะยาวแทน
อดีตผู้อำนวยการโรงฟ้าจะนะ ชี้ไทยค่าไฟอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
นายพิเชษฐ์ ชูชื่น อดีตผู้อำนวยการโรงฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การมีไฟฟ้าสำรองหรือผลิตไฟฟ้าล้นเกินในประเทศเป็นเรื่องปกติ โดยไทยมีไฟฟ้าสำรองประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ต่างประเทศผลิตเกินถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนค่าไฟฟ้าของไทยปัจจุบันถือว่าต่ำมาก เเพงกว่าประเทศลาวและอินโดนีเซียกับอีกบางประเทศเท่านั้น แต่ถูกกว่าอีก 100 กว่าประเทศ โดยกลุ่มประเทศยุโรปเสียค่าไฟฟ้าประมาณ 8-12 บาทต่อหน่วย ที่ประเทศเยอรมนีค่าไฟสังถึง 12 บาทต่อหน่วย แต่ไทยคิดเพียงหน่วยละ 3 บาทกว่าเท่านั้น ซึ่งราคานี้เป็นค่าเชื้อเพลิงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ หากต้องการใช้ไฟฟ้าถูกลง ก็ต้องหาเชื้อเพลิงราคาถูกมาใช้แทนฟอซซิสในการผลิตไฟฟ้า แต่การนำโซลาร์เซลเข้ามาไม่ได้ช่วยอะไร เพราะมีต้นทุนสูงกว่าพลังงานจากฟอซซิล
ค่าไฟแพงเป็นเหตุจากคอร์รัปชัน
ด้านนายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล อนุกรรมการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า หากเทียบค่าเงินและรายได้แต่ละประเทศ จะพบว่าคนไทยใช้ไฟฟ้าแพง จึงไม่เห็นด้วยว่าคนไทยใช้ไฟฟ้าถูกกว่าประเทศแถบยุโรป โดยเฉพาะการเทียบกับประเทศเยอรมนี ที่จ่ายค่าไฟฟ้ากว่าคนไทย 3 เท่า แต่ค่าเงินต่างจากไทยถึง 40 เท่า หรือ คนเยอรมันมีรายได้มากกว่าคนไทยหลายสิบเท่า ดังนั้น จึงถือว่าคนไทยจ่ายค่าไฟฟ้าแพงกว่าคนเยอรมัน ที่สำคัญหลังการแปรรูปตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นต้นมา
ซึ่งนายสุทธิพรมองว่า เป็นการคอรัปชันเชิงนโยบายของผู้มีอำนาจรัฐ ที่ให้เอกชนผลิตไฟฟ้าได้ ทำให้เกิดเศรษฐีใหม่ที่ได้ประโยชน์จากการค้าพลังงานไฟฟ้า แต่ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟฟ้าสำรอง ที่ทำให้ค่าไฟแพงขึ้นเท่าตัวซึ่งไม่เป็นธรรม เพราะในช่วงที่ไม่มีลมและแสงแดดให้ผลิตไฟฟ้า ก็ดึงไฟฟ้าสำรองของประเทศมาใช้ แต่หากไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมของเอกชนผลิตได้ตามปกติ ก็นำออกมาขาย กฟผ. และการที่รัฐบาลไม่แก้ไขเรื่องนี้ จึงถือได้ว่าเอากับเขาด้วยหรือมีส่วนในการคอรัปชันเชิงนโยบายในเรื่องการแปรรูปไฟฟ้านี้ด้วย
อ่านเพิ่มเติม