ไม่พบผลการค้นหา
กาตาร์เนรเทศแรงงานต่างชาติ ซึ่งนัดรวมตัวประท้วงเรียกร้องค่าจ้างที่ไม่ได้รับการจ่าย ในขณะที่การตาร์เองกำลังเตรียมตัวไปกับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาฟุตบอลโลกประจำปี ในเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงาน

มีแรงงานต่างชาติอย่างน้อย 60 ราย มารวมตัวกันที่นอกสำนักงานในกรุงโดฮาของ Al Bandary International Group บริษัทด้านการก่อสร้างและวิศกรรมขนาดใหญ่ เมื่อช่วงวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยลูกจ้างบางรายระบุว่า พวกตนไม่ได้รับค่าจ้างตามที่ตกลงกันไว้มาเป็นเวลากว่า 7 เดือนแล้ว

จากรายงานระบุว่า แรงงานต่างชาติผู้ประท้วงหลายรายถูกจับกุมตัว และบางรายถูกเนรเทศออกนอกประเทศ ทั้งนี้ ไม่มีรายงานตัวเลขที่แน่ชัดว่ามีแรงงานกี่รายที่ถูกจับกุมตัวและเนรเทศจากเหตุการณ์ประท้วงทวงค่าจ้างในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลกาตาร์อ้างว่าแรงงานต่างชาติที่ถูกเนรเทศ กระทำความผิดฐาน “การละเมิดกฎหมายความมั่นคง” ของประเทศ

นับตั้งแต่กาตาร์ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2553 กาตาร์ได้เริ่มลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลไปกับการก่อสร้างสนามกีฬา และโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทั่วทั้งประเทศ เพื่อรองรับการแข่งขันที่กำลังจะมาถึง อย่างไรก็ดี มีการตั้งคำถามถึงการปฏิบัติต่อแรงงานต่างชาติในกาตาร์มากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ ไม่มีความแน่ชัดว่าแรงงานที่ถูกจับกุมตัวและเนรเทศออกนอกกาตาร์ เป็นแรงงานที่อยู่ในโครงการการก่อสร้าง ที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลโลกที่กำลังจะมาถึงหรือไม่ โดยแรงงานทั้งหมดที่ถูกเนรเทศ ถูกตั้งข้อหาจากความผิดการละเมิดกฎหมายความมั่นคงของประเทศ จากการเป็น “ผู้ไม่สามารถรักษาความสงบ” โดยหลายรายถูกเนรเทศออกนอกประเทศไปแล้ว ในขณะที่รัฐบาลกาตาร์ระบุว่า ตนจะจ่ายเงินเดือนและมอบผลประโยชน์ที่ล่าช้าทั้งหมดให้กับคนงานที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ รัฐบาลกาตาร์ระบุว่า ตนกำลังทำการสืบสวนสอบสวนต่อ Al Bandary จากการค้างจ่ายค่าแรงแก่แรงานข้ามชาติแล้ว โดยแรงงานที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากเป็นชาวบังคลาเทศ อินเดีย เนปาล อียิปต์ และฟิลิปปินส์

นอกจากการผิดชำระเงินค่าจ้างแล้ว แรงงานบางรายเปิดเผยกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนว่า พวกเขาถูกบังคับให้นอนในห้องที่มีอากาศร้อน โดยไม่มีการเปิดเครื่องปรับอากาศทำความเย็น นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวจาก BBC ในตะวันออกกลางรายงานอีกว่า มีแรงงานข้ามชาติหลายคนเสียชีวิตลงในกาตาร์ จากอาการลมแดดหรือฮีตสโตรคจำนวนมาก เนื่องจากอากาศที่ร้อนระอุ รายงานเปิดเผยอีกว่าผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมและเนรเทศ ต่างออกมายืนประท้วงกันท่ามกลางอากาศที่มีอุณหภูมิสูงถึง 42 องศาเซลเซียส

FIFA ซึ่งเป็นองค์กรฟุตบอลนานาชาติ ยังได้ออกมาเรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองทุนชดเชยแรงงานข้ามชาติ ที่ได้รับผลกระทบจากการ “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” เป็นจำนวนกว่า 440 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท) อย่างไรก็ดี FIFA กลับไม่ออกมาแสดงความเห็นต่อกรณีการเนรเทศแรงงานข้ามชาติโดยรัฐบาลกาตาร์ในครั้งนี้ ในขณะที่ Al Bandary ปฏิเสธการให้ความเห็นใดๆ เพิ่มเติม

ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลกาตาร์กล่าวว่า มี 96% ของคนงาน ที่เข้าเกณฑ์ได้รับการคุ้มครองโดยระบบคุ้มครองค่าจ้างของกาตาร์ ซึ่งกำหนดให้นายจ้างต้องโอนค่าจ้างทั้งหมดผ่านธนาคารกาตาร์ภายในเจ็ดวันนับจากวันครบกำหนด โดยข้อผิดพลาดของระบบโอนเงินจะได้รับการแก้ไขในทันทีหากถูกพบ


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-middle-east-62645350?fbclid=IwAR3BLsVfWNUFr2jvDJnYD3-YVy87AbhXKvZB8-a_mNHSRN4xpVYIMzq0Qnk