ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกประจำสำนักประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวเมื่อวันอังคาร (5 ธ.ค.) ว่า การเจรจาของประธานาธิบดีรัสเซีย กับผู้นำชาติตะวันออกกลาง จะมุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี และการพูดคุยกันในวาระสงครามอิสราเอล-ฮามาส
เปสคอฟกล่าวอีกว่าการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านตลาดน้ำมันจะอยู่ในวาระการเจรจา เนื่องจากรัสเซียได้มีความร่วมมือกับทั้ง 3 ประเทศผ่านทาง OPEC+ ซึ่งประกอบด้วยองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (OPEC) และพันธมิตรต่างๆ ที่นำโดยรัสเซีย
“การอภิปรายเหล่านี้จัดขึ้นในการประชุม OPEC+ แต่แน่นอนว่าความร่วมมือในด้านนี้มักจะอยู่ในวาระการประชุมเสมอ” เปสคอฟกล่าว ทั้งนี้ กลุ่ม OPEC+ ซึ่งปูตินมีส่วนช่วยในการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 ได้ประกาศลดปริมาณการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจครั้งใหม่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสร้างความผันผวนในตลาดน้ำมันโลก
ยูรี อูชาคอฟ ที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศของปูตินกล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซียภายในองค์กรความร่วมมือด้านน้ำมัน OPEC+ นั้นได้ “ประสบกับผลสำเร็จ” อูชาคอฟยังกล่าวอีกว่า “การประสานงานที่ใกล้ชิดระหว่างรัสเซียและซาอุดีอาระเบียในรูปแบบดังกล่าว เป็นการรับประกันที่น่าเชื่อถือได้ในการรักษาสถานการณ์ที่มีเสถียรภาพ และคาดการณ์ได้ในตลาดน้ำมันโลก”
ความพยายามของปูตินที่จะผลักดันให้มีการกระชับความสัมพันธ์กับรัฐอ่าวและรัฐอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของประธานาธิบดีรัสเซีย ที่จะแสดงให้เห็นว่าความพยายามของชาติตะวันตกที่จะโดดเดี่ยวรัสเซียออกจากประชาคมโลก ผ่านการคว่ำบาตรหลังจากการทำสงครามกับยูเครนนั้นประสบกับความล้มเหลว
ประธานาธิบดีรัสเซียเดินทางออกนอกประเทศน้อยลงอย่างมาก หลังจากที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ออกหมายจับปูตินเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา จากข้อกล่าวหาว่าปูตินสั่งให้มีการลักพาตัวเด็กชาวยูเครนข้ามประเทศไปยังฝั่งรัสเซีย อย่างไรก็ดี ทั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบียไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาก่อตั้ง ICC ส่งผลให้ทั้งสองชาติไม่อยู่ในพันธะที่จะต้องจับกุมตัวปูติน หากประธานาธิบดีรัสเซียเดินทางเข้าไปในดินแดนของแต่ละชาติ
ในทัศนะต่อการโจมตีฉนวนกาซาของอิสราเอลในตอนนี้ เพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ปูตินพยายามมองว่าสงครามอิสราเอล-ฮามาส ถือเป็นความล้มเหลวในทางการทูตของสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวหาว่า สหรัฐฯ เลือกที่จะ "แจกเอกสาร" ทางเศรษฐกิจแก่ชาวปาเลสไตน์ และละทิ้งความพยายามในการช่วยสร้างรัฐปาเลสไตน์
ปูตินยังเสนอแนะว่ารัสเซียสามารถเข้ามามีบทบาทเป็นตัวกลางในการเจรจา อันเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ฉันมิตรที่รัสเซียมีกับทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวว่า “ไม่มีใครสงสัยได้ว่าเรากำลังเข้าข้างใครเพียงฝ่ายเดียว”
ที่มา: