วันที่ 20 เม.ย. 2565 ที่อาคารรัฐสภา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือร้องเรียนจากตัวแทนชมรมผู้ค้าสลากเสรีแห่งประเทศไทย และชมรมผู้ค้าสลากเสรี กรณีการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคาของ เสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยประจำนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสลากแพง
โดยตัวแทนร้องเรียนว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 ทางกองสลากออกวิธีการคัดกรองผู้ค้าสลาก โดยให้ผู้ซื้อสลากสแกนผ่าน QR Code หรือแอปพลิเคชัน กับผู้ค้าสลากรายย่อยปี 2558 แต่ผู้ค้าสลากโควต้าองค์กรและจังหวัด ไม่ต้องทำการยืนยันตัวตนและสแกนเช่นเดียวกับลูกค้ารายย่อยปี 58 ทั้งที่เป็นผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลในกลุ่มเดียวกัน รวมถึงการดำเนินการตรวจค้นแพลตฟอร์มซื้อขายสลากออนไลน์ ที่คณะอนุกรรมการมีการตรวจค้น 3 แห่ง คือมังกรฟ้า เสือแดง และกองสลากพลัส แต่กลับมีการดำเนินคดีกับมังกรฟ้าเพียงแพลตฟอร์มเดียว ทางผู้ค้ารายย่อยจึงเกิดความไม่ไว้วางใจในการปฏิบัติงานของ เสกสกล ซึ่งส่อมีเจตนาเพื่อผลประโยชน์ให้นายทุนหรือไม่
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวหลังการรับหนังสือว่า เข้าใจการทำงานของทั้งฝ่ายเอกชนและฝ่ายราชการ เมื่อวันนี้ตนมาทำหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชน ได้รับรู้ปัญหาโดยตลอด แล้วเราจะแก้ไข และดำเนินการกับผู้กระทำความผิด ซึ่งปัจจุบันก็ถูกบีบให้ออกไปแล้ว จะทำการเชิญประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขสลากแพง เข้ามาชี้แจงเพื่อให้รับทราบข้อเท็จจริงจากประชาชน
"เรื่องที่เกิดขึ้นนี้เกี่ยวกับคนในระบบราชการที่ไม่เข้าใจปัญหาของพี่น้องประชาชน ตัวเองอยู่ในระบบมีความรู้ความคิดมีประสบการณ์เทคโนโลยี แต่กับพี่น้องประชาชนระดับรากหญ้าที่อยู่ห่างไกลเขาไม่มีอะไรเลย เราจะใช้ระบบของคุณกับทุกคนก็คงจะไม่ได้" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ระบุ
วันที่ 20 เม.ย. 2565 ที่อาคารรัฐสภา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีสืบสวนข้อเท็จจริงเรื่องคลิปเสียงโควตาสลาก ว่า ทางกรรมาธิการฯ ได้เชิญ ษิทธรา เบี้ยบังเกิด ทนายความเข้ามาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ในวันที่ 26 เม.ย. 2565 และจะเชิญ เสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยประจำนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสลากแพง และ จุรีพร สินธุไพร ข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้ามาชี้แจงในวันที่ 27 เม.ย. 2565
โดยแบ่งการตรวจสอบเป็น 2 ประเด็นคือ การใช้เงินในการเลือกตั้งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และประเด็นการเรียกรับทรัพย์สิน ประเด็นแรกนั้นมีความง่าย คาดว่าสามารถดำเนินการให้เสร็จและส่งให้ กกต. จัดการต่อไปได้ ส่วนประเด็นที่ 2 นั้น ต้องตรวจพยานหลักฐานต่างๆ และอาจจะมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติม
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การลาออกของ เสกสกล อาจจะเป็นการส่งสัญญาณเตรียมพร้อมเข้าชนกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ใช่หรือไม่นั้น
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ระบุว่า "มาชนอะไรกับผม คุณนักมวย ผมนักยูโดนะ แรมโบ้เป็นใคร อย่ามามองผมอายุมากจะมาชนๆ เดี๋ยวก็เจอหรอก"
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวต่อว่า ปกติเมื่อมีเหตุลักษณะนี้เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีจะต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และรีบดำเนินการโดยด่วน ควรต้องพักราชการไว้ก่อน แล้วต้องทำการสอบสวน หากพบว่าไม่มีความผิดจริง จึงกลับมาทำงานใหม่ได้ แต่เท่าที่ติดตามดู นายกฯ ไม่มีการดำเนินการใดๆ เลย
"จนกระทั่งฝ่ายเสนาธิการของเขา เสนอและบอกว่าเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ก็จะต้องให้แรมโบ้ออกไปก่อน ด้วยการให้แรมโบ้ลาออก ไม่ใช่คุณประยุทธ์ไล่ออก ถือว่าคุณประยุทธ์ยังไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง เพราะไม่ได้ให้แรมโบ้ แต่แรมโบ้ออกเอง"
สำหรับกรณีที่ ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ได้เข้าร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กรณีสิ่งปลูกสร้าง บุกรุกลำน้ำนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า ไม่มีความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว และมองว่าเป็นการ ฟ้องร้องโดยที่ไม่มีความเข้าใจในประเด็น
"ผมเห็นเขาแถลง เขาเป็นคนติ๊งต๊อง ไม่ค่อยเข้าใจประเด็น คดีที่จะร้องผม ไม่ว่ากรณีท่าเทียบเรือบ้านที่สามเสน หรือที่ดินทองผาภูมิ ก็ตาม ผมถือครองอย่างถูกต้องทั้งหมด และคดีก็ยุติไปเรียบร้อยแล้ว"
หากคดีนี้ ตนมีความผิดจริง แต่ข้อเท็จจริงก็ปรากฏแล้วว่า ท่าเทียบเรือได้ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2543 แล้วเรื่องถมที่ดินที่ทองผาภูมิก็ตั้งแต่ปี 2550 ซึ้งตอนนั้นตนยังไม่ใช่ ส.ส. ดังนั้นการกระทำเมื่อเวลานั้นจึงไม่เกี่ยวกับการสอบจริยธรรม ส.ส. อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ตนเชื่อว่าไม่มีความผิด
ส่วนเรื่องจะฟ้องร้อง ปารีณา กลับหรือไม่นั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ระบุว่า มีทนายความ ที่คอยดำเนินการให้ตนอยู่แล้ว โดยที่ตนไม่จำเป็นต้องสั่งการเอง