ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 มอบนโยบาย 3 ข้อ เน้นย้ำการใช้งบประมาณให้คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด ขอให้ช่วยกันผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

วันที่ 22 เม.ย.2567 เวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 โดยมี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วย แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เข้าร่วมประชุม คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้

นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายต่อที่ประชุมว่า นโยบายในแต่ละสาขา ควรเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและคน ในช่วงของต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้ครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มต้น ต้องการฝึกฝนหรือเรียนรู้เพื่อสร้างอาชีพต่อไปในอนาคต โดยได้มอบนโยบายในการทำงาน จำนวน 3 ข้อ ดังนี้

ข้อ 1 ขอให้ทำแผนการ “รับ Register” เพื่อคัด 1 ครอบครัว 1 soft power ให้เร็วที่สุด เพื่อเราจะได้แยกความรู้ความสามารถตามความชำนาญและสาขาอาชีพ และนำคนไปเข้าหลักสูตรฝึกอบรม ซึ่งควรจะมีทั้ง Online และ Onsite ตามความสามารถ รวมถึงต้องจัด Class และวิธีการคัดเลือกผู้เข้าเรียนให้ทั่วถึง และยุติธรรม

ข้อ 2 ขอให้เตรียม “เนื้อหา Content” ที่จะใช้ในการ Upskill/Reskill ให้ตรงกับความชำนาญ และเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ First Impression ในการเรียนรู้สำคัญมาก เราไม่อยากเห็นประชาชนสมัครเข้ามาแล้วพบว่าไม่ได้มีเนื้อหาอะไรที่จะสอน เราไม่อยากเห็นภาพคนเข้าโครงการ แต่เนื้อหาไม่น่าสนใจ เกิดเป็น Bad Experience และทำให้คน Drop off ไปได้ และที่สำคัญ วิธีการเรียนการสอน ต้องเข้าใจง่าย มีมาตรฐานที่ดี

และข้อที่ 3 การจัด Event ต้องขอให้เป็นการ “ต่อยอด” จากที่ภาคอุตสาหกรรมทำอยู่แล้ว รัฐควรพิจารณาในการต่อยอด Event ที่ทำแล้วจะช่วยขยายผลได้มาก ต่อยอดจากภาคอุตสาหกรรมให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น และต้องให้แน่ใจว่าการต่อยอดนั้นเป็นประโยชน์มากขึ้น มีความคุ้มค่าในการลงทุน ฉะนั้น ขอให้มีตัวชี้วัดชัดเจนว่า การมีรัฐลงทุน จะช่วยขยายผลได้อย่างไร

คารม กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพิ่มเติม และรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โดย นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณคณะกรรมการฯ ทุกท่าน ที่ได้ดำเนินโครงการซอฟต์พาวเวอร์ในด้านต่าง ๆ เกิดผลดีต่อประเทศไทย ทำให้ต่างชาติรู้จักความเป็นไทยมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้ เห็นชอบในหลักการการจัดประชุมนานาชาติด้านซอฟต์พาวเวอร์ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ และเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณการจัดประชุมฯ โดยมอบหมายให้สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางฯ ต่อไป รวมทั้งเห็นชอบในหลักการข้อเสนอโครงการของอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์เป้าหมายทั้ง 11 สาขา ปี 2567 พร้อมทั้งเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณโครงการของอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์เป้าหมายทั้ง 11 สาขา ปี 2567 โดยที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางฯ ต่อไป

“นายกรัฐมนตรีกำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณารายละเอียดของโครงการ ลดความซ้ำซ้อนการดำเนินงาน พร้อมกับเน้นย้ำเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณต้องถูกต้องตามระเบียบราชการ ตรงตามวัตถุประสงค์ ให้คำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ที่ได้รับเป็นสำคัญ โดยให้เรียงลำดับความสำคัญของโครงการในการพิจารณางบประมาณ ขอให้คณะกรรมการ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันขับเคลื่อน ผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์สูงสุด หากติดขัดปัญหาตรงไหนขอให้รายงานมาให้ทราบ เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาช่วยให้เกิดผลสำเร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้” คารม ย้ำ