แต่เกิดขึ้นตลอด 6 ปี ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวกพ้องที่อวดอ้างกฎหมายจากปลายกระบอกปืนที่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศที่พวกเราไม่มีส่วนร่วมกำหนด ทว่าผลลัพธ์ที่ออกมากลับไม่มีอะไรคืบหน้า นอกเสียจากการผลาญภาษีประชาชน
ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ แผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ปี 2561 พบว่า ในภาพรวมกำหนดวงเงินและแหล่งเงินรวมทั้งสิ้น 991 ล้านบาท และอีกจำนวน 425 ล้านต่อปี พร้อมด้วยงบประมาณตามปกติของหน่วยงานที่รับผิดชอบ
แต่ตลอดกว่าทศวรรษของรัฐบาลประยุทธ์ ไม่เคยมีใครได้เห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากความถดถอย แผนการใช้จ่ายภาษีประชาชนกว่า 1.5 พันล้านบาท สำหรับการปฏิรูปประเทศข้างต้น ทั้งระยะสั้น 1 ปี หรือระยะยาว 5 ปี มีเพียงรายละเอียด ปรากฏอยู่ในหน้ากระดาษความยาว 415 หน้า มี 10 ประเด็นปฏิรูป เต็มไปด้วยถ้อยคำสวยหรูที่ไม่เคยเกิดขึ้น
เช่น เป้าหมายที่ 3 คือ มีกลไกทางกฎหมายเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม ด้วยการจัดตั้ง คณะกรรมการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม ภายในปี 2561 มีหน้าที่จัดทำข้อเสนอแนะมาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม ด้วยวงเงิน 150 ล้านบาท นอกนั้นให้ใช้งบประมาณตามปกติของหน่วยงานที่รับผิดชอบ
เป้าหมายที่ 7 คือ มีกลไกให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายโดยสะดวกและเข้าใจกฎหมายได้ง่ายรวมทั้งการพัฒนาระบบฐานข้อมูลของกฎหมายคำพิพากษา คำวินิจฉัย หรือการตีความกฎหมายให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก กรอบระยะเวลาการดำเนินการในภาพรวมภายใน 4 ปี (พ.ศ. 2561 - พ.ศ. 2564) และดำเนินการต่อเนื่องในระยะยาว ด้วยวงเงิน 100 ล้านบาท และ 5 ล้านบาทต่อปี นอกนั้นใช้งบประมาณตามปกติของหน่วยงานที่รับผิดชอบ
เป้าหมายที่ 8 ปฏิรูปการเรียนการสอนและการศึกษาอบรมวิชากฎหมาย เพื่อพัฒนานักกฎหมายให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่ดี มุ่งหวังให้หลักสูตรการศึกษานิติศาสตร์มีคุณภาพ ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ มีนิติทัศนะ และยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม และสามารถประยุกต์ใช้ให้เกิดความเป็นธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ กรอบระยะเวลาการดำเนินการในภาพรวม 4 ปี (พ.ศ. 2561 – พ.ศ. 2564) และดำเนินการต่อเนื่องในระยะยาว วงเงิน 50 ล้านบาท นอกนั้นใช้งบประมาณตามปกติของหน่วยงานที่รับผิดชอบ
การปฏิรูปประเทศของรัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจจึงไม่ต่างจากข้ออ้างเพื่อการซื้อเวลา ด้วยการเล่นเกมปาหี่ จากภาษีประชาชน สะท้อนชัดจากการแต่งตั้งพวกพ้อง จากฝ่ายประจำ ฝ่ายประชาสังคม สลับหมุนเวียนมาทำหน้าที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ส.ว. และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ชนิดเป็นว่าเล่น
อย่างคณะกรรมการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม ชุดแรก เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2560 จำนวน 10 คน ก่อนจะมีการปรับตั้งคณะกรรมการปฏิรูปชุดใหม่ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2563 อีกจำนวน 15 คน ซึ่งไร้คำตอบว่า เหตุใดณะกรรมการชุดแรก จำนวน 10 คน ที่ยังไม่สามารถทำหน้าที่จนเป็นที่ประจักษ์ได้คุ้มค่ากับเบี้ยประชุมครั้งละ 7,500 บาท สำหรับประธาน และ 6,000 บาท สำหรับกรรมการ จึงมีการปรับเปลี่ยนตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ให้มากกว่าเดิมอีก 5 คน เพื่อมารับค่าตอบแทนที่ปรับจ่ายรายเดือนๆ ละ 9,000 บาทสำหรับประธาน และ 7,200 บาท สำหรับกรรมการ
ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากคณะกรรมการชุดใหม่ ที่มาทำหน้าที่ถึงเดือน ส.ค. 2565 จะอยู่ราว 2,635,200 บาท ไม่รวมค่าใช่จ่ายของคณะกรรมการชุดแรก ที่ไม่อาจสืบค้นเจอว่า ประชุมไปกี่ครั้ง หรือทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง รู้แต่เพียงค่าตอบแทนของหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำอย่างตำรวจ กลางน้ำอย่างอัยการ และปลายน้ำอย่างศาล นั้นมหาศาลหลักแสนต่อเดือน โดยไม่นับสิทธิประโยชน์อื่น
ส่วนค่าตอบแทนที่ประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศได้รับ คือ การตอกย้ำถึงความอยุติธรรมที่ยังดำรงอยู่ในสังคมไทยไม่เปลี่ยนแปลง ไม่คุ้มค่ากับภาษีที่ถูกขูดรีด การปฏิรูปของรัฐบาลทหารสืบทอดอำนาจเป็นเพียงเรื่องหลอกลวงที่รอการพิพากษาจากประชาชน
อ้างอิง
http://www.mratchakitcha.soc.go.th/search_result.php
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/205/111.PDF
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/024_2/1.PDF