ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลญี่ปุ่นเร่งอนุมัติยาต้านไวรัส 'ฟาวิพิราเวียร์' ใช้รักษาโรคโควิด-19 แต่นายกฯ 'ชินโซ อาเบะ' ระบุยามีผลข้างเคียงคล้าย 'ทาลิโดไมด์' ที่ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์ เพราะอาจทำให้ทารกเติบโตผิดปกติ ขณะที่จีนยืนยันยานี้ใช้รักษาอาการโควิด-19 ได้ในระดับดี

ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น แถลงข่าวเมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลจะสั่งเพิ่มกำลังผลิตยาต้านไวรัส 'ฟาวิพิราเวียร์' ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า 'อาวิแกน' ผลิตโดยเครือบริษัทฟูจิฟิล์ม โฮลดิงส์ และตามปกติใช้รักษาอาการโรคไข้หวัดใหญ่ ทั้งยังจะพิจารณาอนุมัติตัวยาดังกล่าวในฐานะยารักษาอาการโรคโควิด-19 อย่างเป็นทางการ โดยหวังว่ากระบวนการต่างๆ จะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้

ขณะที่ The New York Times รายงานอ้างอิงคำแถลงของนายกฯ อาเบะ ที่ระบุด้วยตัวเองว่า ยาฟาวิพิราเวียร์มีผลข้างเคียงเช่นเดียวกับยาทาลิโดไมด์ (Thalidomide) ซึ่งเป็นยากดภูมิคุ้มกันที่ใช้รักษาอาการอักเสบทางผิวหนังและโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่นิยมใช้กันทั่วโลกช่วงทศวรรษ 1950-1960 และทำให้ทารกหลายพันรายคลอดออกมาพิการ และภายหลังจึงค้นพบว่ายาตัวนี้ห้ามใช้กับผู้หญิงตั้งครรภ์ เพราะจะทำให้ทารกในครรภ์เติบโตผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มี 80 ประเทศทั่วโลกที่แจ้งความจำนงต่อญี่ปุ่นว่าต้องการนำเข้าตัวยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 และญี่ปุ่นจะเพิ่มกำลังผลิตจากเดิมปี 70,000 โดสเป็น 2 ล้านโดสภายในเดือน มี.ค.2564 เพราะองค์การอนามัยโลก (WHO) และรัฐบาลหลายประเทศประเมินตรงกันว่าโรคโควิด-19 อาจยังอยู่ต่อไปอย่างน้อยอีก 2 ปี หรือจนกว่าจะคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคได้สำเร็จ แต่ WHO ก็เตือนเช่นกันว่า ไม่ควรฝากความหวังไว้ที่วัคซีนเพียงอย่างเดียว และกว่าวัคซีนจะพัฒนาได้สำเร็จก็อาจใช้เวลานานหลายปี

ด้วยเหตุนี้ บริษัทยาต่างๆ จึงเร่งพัฒนายาต้านไวรัสที่คาดว่าจะมีผลในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยกรณีของสำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้อนุมัติให้ยา 'เรมเดซิเวียร์' ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสและมีประสิทธิภาพในการรักษาไข้หวัดใหญ่ เป็นยารักษาอาการโควิด-19 ไปเมื่อวันที่ 4 พ.ค.เช่นกัน

ส่วนกรณีของไทย องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ทำสัญญากับประเทศจีนเพื่อนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ไปเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และเมื่อได้รับวัตถุดิบจะนำไปทดสอบ 3 อย่าง คือ การทดสอบการคงตัว ทดสอบการแตกตัว ทดสอบการดูดซึม หากผลทดสอบพบว่ามีประสิทธิภาพก็จะต้องส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบเรื่องคุณภาพมาตรฐานต่อไป ถ้าหากผ่านมาตรฐานก็จะเดินหน้าผลิตยาดังกล่าวในประเทศไทยได้ทันที 

ขณะที่สำนักข่าวซินหัวไทย รายงานเมื่อ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา อ้างอิงคำแถลงของ 'จางซินหมิน' ผู้อำนวยการศูนย์การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติจีน (CNCBD) สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยืนยันว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งได้รับการอนุมัติใช้งานทางคลินิกในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมานั้น "ไม่มีผลข้างเคียงชัดเจน" ในการทดลองทางคลินิก

นอกจากนี้ จีนยังได้ดำเนินการทดลองทางคลินิกกับฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศ พบว่ายานี้แสดงประสิทธิผลทางการรักษาโรคโควิด-19 "ในระดับดี"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: