วันที่ 20 มิ.ย. 2565 ที่พรรคเพื่อไทย วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ประธานคณะทำงานด้านนโยบายการเกษตรพรรค พร้อมด้วย สกุณา สาระนันท์ ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย คณะทำงานด้านนโยบายการเกษตร และ นายสัตวแพทย์ (นสพ.) ชัย วัชรงค์ คณะทำงานด้านนโยบายการเกษตร พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงข่าว ประเด็น 'แผนรับมือโรคระบาดในสัตว์ และวัคซีนลัมปีสกิน (ทิพย์)'
วิสุทธิ์ ระบุว่า เมื่อเห็นข่าวว่ามีการประกาศนำเข้าวัคซีนลัมปีสกินแล้ว จึงคาดว่าปีนี้คงไม่มีปัญหาการนำเข้าวัคซีนล่าช้าอีก แต่ตนกลับได้หนังสือร้องเรียนจากพี่น้องปศุสัตว์ ว่าโรคลัมปีสกินกลับมาลุกลามอีกครั้ง เนื่องจากขาดวัคซีนในพื้นที่ ตนจึงตั้งคำถามว่า วัคซีนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมปศุสัตว์ เคยประกาศไว้ว่านำเข้ามาแล้ว ถือว่าเป็นวัคซีนทิพย์ที่ไม่มีอยู่จริงหรือไม่ เหตุใดจึงไม่กระจายวัคซีนไปยังปศุสัตว์จังหวัด หรือปศุสัตว์อำเภอ และเหตุใดเกษตรกรในพื้นที่จึงยังไม่ได้รับวัคซีน
ขณะที่ สกุณา กล่าวว่า รัฐบาลควรจะรู้อยู่แล้วว่าการกลับมาของโรคระบาดนี้เป็นไปตามวัฏจักร ขณะนี้การระบาดขยายไปในหลายพื้นที่ แต่ดูเหมือนว่าคงปศุสัตว์จะยังไม่สามารถควบคุมโรคได้ดังที่เคยแถลงข่าวไว้ ตามหลักการแล้ว วัคซีนจะต้องกระจายให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นปี แต่ในวันนี้ก็ยังไม่สามารถทำได้ทั่วถึง ชาวบ้าน ต.โนนสะอาด ให้ข้อมูลว่า วัวที่ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังกลับมาเป็นโรคอีก จึงต้องตั้งคำถามต่อคุณภาพของวัคซีนว่าเป็นวัคซีนเก่าหรือไม่
สกุณา ยังเรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับความจริงว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กรมปศุสัตว์ ไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ อีกทั้งปัญหาเก่าก็ยังแก้ไม่ทัน พร้อมขอให้ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ออกมารับผิดชอบ ในเมื่อท่านไม่มีรายชื่อในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ควรออกมาเร่งแก้ปัญหานี้ ถ้าท่านไม่ใส่ใจความทุกข์ร้อนของเกษตร ก็เชิญท่านลาออกเสียดีกว่า
"ดูเหมือนว่าท่านไม่ได้ใช้ประสบการณ์ความสูญเสียในปีที่ผ่านมา มาเป็นบทเรียนในการจัดการกับปัญหาเลย ท่านปล่อยให้ปัญหานี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปล่อยให้เกษตรกรเผชิญปัญหาไปตามยถากรรม สุดท้ายทุกอย่างก็จบลงที่การชดเชยการเยียวยา ซึ่งนับเป็นความพ่ายแพ้ของการบริหารจัดการกับโรคระบาด ถ้าท่านจะจัดการอย่างนี้ ดิฉันคิดว่าเกษตรกรในพื้นที่ของดิฉันก็สามารถมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีได้เช่นเดียวกัน" สกุณา กล่าว
ด้าน นสพ.ชัย เผยว่า หลังจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ซึ่งลุกลามทั่วประเทศตราบจนปัจจุบัน เพียง 1 ปี ก็เกิดโรคลัมปีสกินตามมาอีก ตามหลักการต้องรับมือกับปัญหาอย่างเร็วเพื่อยับยั้งความเสียหาย บางโรคที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ก็ต้องใช้วิธีตัดวงจร คือเร่งปิดเขตและทำลายประชากรสัตว์ติดเชื้อ พร้อมชดเชยให้เกษตรกรอย่างรวดเร็ว ถ้าโรคที่มีวัคซีนแล้ว ก็ควรนำเข้าวัคซีนและระดมสรรพกำลังฉีดอย่างปูพรมให้ได้ 90% ของประชากรสัตว์ ให้ได้ภายในเวลา 1 เดือน
ถึงแม้ประเทศไทยยังไม่มีการผลิตวัคซีนได้ในช่วงที่เกิดการระบาด แต่ในหลายประเทศทั่วโลกมีการผลิตที่ได้มาตรฐานอยู่แล้ว เช่น ตุรกี โมรอคโค อียิปต์ ถ้ารัฐบาลมีการทำการล่วงหน้าก็สามารถเร่งรัดนำเข้าวัคซีนมาได้เลย
"แต่น่าเสียดาย ภาครัฐเท่าที่ทำมา และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เป็นเครื่องชี้ชัดว่า รัฐบาลล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการบริหารจัดการด้านการปศุสัตว์ของประเทศ เพราะปล่อยให้โรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นและแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ความล่าช้านั้นเกิดจากกระบวนการบริหารจัดการของภาครัฐ ที่ผิดพลาดตั้งแต่กระดุมเม็ดแรก" นสพ.ชัย ระบุ
นอกจากนี้ กระบวนการทางกฏหมายที่ต้องตั้งคณะกรรมการ ทำให้การแก้ปัญหาโรคระบาดไม่ทันท่วงที กว่าจะขออนุมัติงบไปยังหน่วยงานต่างๆ โรคก็กระจายไปในหลายพื้นที่แล้ว กว่าเกษตรกรที่ยอมทำลายสัตว์ติดเชื้อเพื่อตัดวงจรจะได้รับเงินชดเชยก็กว่า 8-9 เดือน ส่งผลให้เกษตรกรเดือดร้อนไปจนถึงล้มละลาย เนื่องจากรัฐบาลขาดการวางแผนล่วงหน้าโดยสิ้นเชิง
นสพ.ชัย ยืนยันว่า หากเป็นพรรคเพื่อไทยบริหาร จะไม่รอให้เกิดการระบาดแล้วค่อยประชุม ต้องแก้กฏกระทรวงให้การชดเชยต่อเกษตรกรชัดเจน ต้องตั้งงบฉุกเฉินล่วงหน้าที่ทันต่อสถานการณ์ พร้อมตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อเตรียมการล่วงหน้า ศึกษาประเมินความเสี่ยงของโรคที่อาจจะเกิด เพื่อจัดหาวัคซีนไว้ก่อน พร้อมสนับสนุนให้ก่อตั้งโรงงานแปรรูปสัตว์ที่ถูกสั่งทำลายนำมาใช้ประโยชน์เป็นโปรตีน ทำให้ยังมีมูลค่า ไม่สูญเปล่า