ไม่พบผลการค้นหา
'ชัชชาติ' ลงเรือ ลุยน้ำท่วมเขตดอนเมือง ก่อนสำรวจระดับน้ำคลองเปรมประชากร วางแผนระยะยาว เร่งระบายน้ำ-สร้างเขื่อน-เพิ่มประสิทธิภาพคลอง ยันไม่วิกฤตหนักเหมือนปี 54 เพราะเป็นน้ำฝน ไม่ใช่น้ำเหนือ

วันที่ 9 ก.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตดอนเมือง ซอยช่างอากาศอุทิศ เพื่อติดตามปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ โดย ชัชชาติ กล่าวว่า บริเวณพื้นที่ซอยช่างอากาศอุทิศ เขตดอนเมือง ถือเป็นพื้นที่เปราะบางสำหรับน้ำท่วม ก่อนหน้านี้ติดตั้งระบบทยอยน้ำไปลงคลองเปรมประชากรทำให้ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีปัญหามาก แต่เมื่อคลองเปรมประชากรน้ำล้น ทำให้ไม่สามารถสูบน้ำจากในพื้นที่ออกได้ ดังนั้นคงต้องรอให้ผันน้ำจากคลองเปรมประชากรออกไปก่อน จึงจะสูบน้ำในเขตดอนเมืองออกไปได้หมด 

ชัชชาติ กล่าวว่า คลองเปรมประชากร มีปัญหาที่ไม่มีเขื่อน และมีบ้านเรือนริมคลองเยอะทำให้ไม่สามารถไปขุดลอกคลองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของคลองได้ ซึ่งในระยะยาวคงต้องดำเนินการทำเขื่อน และขุดลอกคลองเพื่อให้สามารถจุน้ำได้ดีขึ้น

ชัชชาติ.jpg

ขณะที่สถานการณ์คลองต่างๆ ในขณะนี้ ชัชชาติ แสดงความเป็นห่วง 3 คลองหลักของกทม. คือ คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองประเวศฯ ก่อนกล่าวว่า คลองลาดพร้าวยังวิกฤตอยู่เนื่องจากไม่มีประตูระบายน้ำ จึงไม่สามารถสูบน้ำขึ้นไประบายออกที่คลองหกวาสายล่างได้ จึงทำได้แค่บล็อกน้ำไม่ให้เข้ามาเติมในคลองลาดพร้าว 

ส่วนคลองเปรมประชากร ก็จะต้องเร่งระบายออก 2 ฝั่งทางเหนือประตูระบายน้ำเปรมใต้ เพื่อออกไปทางคลองรังสิต และทางใต้คือ เร่งระบายน้ำไปทางคลองบางซื่อ และจะมีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเพื่อเร่งระบายออกให้เร็วขึ้น ซึ่งคาดว่าต้องใช้ระยะเวลา1-2 วันก็น่าจะทำให้พื้นที่ถนนหลัก และซอยต่างๆดีขึ้น

ชัชชาติ.jpg

ชัชชาติ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นทั่วโลก โดยหลังจากนี้ต้องมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วมากขึ้น และการระบายน้ำมาลงคลองก็ต้องมีประสิทธิภาพ เพราะคงจะรออุโมงค์ระบายน้ำอย่างเดียวไม่ได้ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณเยอะ ดังนั้นจึงต้องเร่งระบายน้ำ ทำให้คลองเข้มแข็งขึ้นในระยะยาวด้วย อีกทั้งน้ำท่วมในปีนี้แตกต่างจากน้ำท่วมปี 2554 เพราะตอนนั้นที่ท่วม เป็นเพราะน้ำเหนือที่ปล่อยลงมา แต่ตอนนี้กรุงเทพเจอกับน้ำฝนมากกว่า 

ขณะที่การระบายน้ำสามารถระบายได้สามทางทางที่หนึ่งระบายน้ำออกทางเหนือ ลงสถานีสูบน้ำคลองเปรมใต้ ลงคลองรังสิต ทางด้านตะวันตก ลงสถานีสูบน้ำกรมชล ผ่านคลองบ้านใหม่ บางเขน บางชื่อ สามเสน ลงแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านใต้ คลองผดุงกรุงเกษม 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ความรู้สึกตอนเป็นประชาชนเมื่อประสบภัยน้ำท่วม กับความรู้สึกตอนเป็นผู้ว่าฯ ต่างกันอย่างไร ชัชชาติ ตอบว่า ตอนเป็นประชาชนเวลาน้ำท่วมก็จะห่วงแค่บ้านตัวเอง แต่พอมาเป็นผู้ว่าฯ ต้องเป็นห่วงทุกคนเป็นห่วงกรุงเทพฯ เรามีความรับผิดชอบกว้างขึ้น ความรู้สึกเป็นห่วงก็มากขึ้น และอยากช่วยแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด

ชัชชาติ.jpg

เมื่อถามว่า ได้มีการประสานงานกับทางกองทัพอากาศแล้วหรือยัง หลังวานนี้ (8 ก.ย.) ที่ประชุมผู้บัญชาการฯ ได้มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์น้ำท่วม และจะเปิดค่ายเพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในจุดวิกฤตได้อพยพไปพักพิง ชัชชาติ กล่าวว่า ตอนนี้ตนยังไม่ได้มีการพูดคุย แต่อย่างไรก็ตามจะมีการประสานงานในหลายๆ ภาคส่วนช่วยกันแก้ปัญหาน้ำท่วม 

จากนั้นในเวลาประมาณ 12.30 ชัชชาติ ได้ลงเรือเพื่อตรวจระดับน้ำ และการระบายน้ำในคลองเปรมประชากร และกล่าวว่า หัวใจสำคัญในการระบายน้ำคือคลอง ถึงมีอุโมงค์ หรือแก้มลิงก็ไม่สามารถระบายน้ำได้เต็มที่หากคลองยังระบายน้ำไม่ได้