ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา ถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในท้องที่แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เป็นปีที่ 5 ในรัชกาลปัจจุบัน โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
โดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในท้องที่แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 8 วรรคสอง (1) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 334 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในท้องที่แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2563”
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันในท้องที่แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ดังต่อไปนี้
(1) แปลงที่ 1 (ลำรางสาธารณะ) ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 31 ไร่ 1 งาน 89 ตารางวา
(2) แปลงที่ 2 (ลำรางสาธารณะ) ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 3 งาน 20 ตารางวา
(3) แปลงที่ 3 (ลำรางสาธารณะ) ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 3 งาน 51 ตารางวา
ทั้งนี้ ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้
มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
อย่างไรก็ตาม ในท้ายพระราชราชกฤษฎีกา มีเหตุผลในการประกาศใช้ คือ เนื่องจากที่ดินสาธารณประโยชน์ จำนวน 3 แปลง ในท้องที่แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นลำรางสาธารณะ ปัจจุบันพลเมืองเลิกใช้ประโยชน์ร่วมกันในที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าวแล้ว สมควรถอนสภาพที่ดินทั้ง 3 แปลงจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เพื่อมอบหมายให้กองทัพบกนำไปใช้ในการเสริมสร้างหน่วยให้กับหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้