ไม่พบผลการค้นหา
ครย.112 ยื่นหนังสือถึง รมว.ดีอีเอส ขอคำชี้แจงสาเหตุปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ล่ารายชื่อยกเลิกมาตรา 112

วันที่ 18 ส.ค. เมื่อเวลา 10.00 น. ณ ที่ทำการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ คณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย. 112) เข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส เพื่อสอบถามและขอคำชี้แจงถึงสาเหตุแห่งการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ https://www.no112.org ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถลงชื่อเพื่อยื่นต่อรัฐสภา ขอให้ยกเลิกประมาลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผ่านระบบออนไลน์ไปเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 จัดทำร่วมกันโดยคณะก้าวหน้า กลุ่มคณะราษเปซ และเครือข่ายนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในนาม ครย.112 

ครย.112 .jpg

สำหรับความคืบหน้าของการล่ารายชื่อภาคประชาชน พบว่า ตั้งแต่เริ่มรณรงค์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 จนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สามารถรวบรวมรายชื่อได้กว่า 230,000 รายชื่อ อย่างไรก็ดี ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565 เวลาประมาณ 23.00 น. เป็นต้นมา เว็บไซต์ดังกล่าวไม่สามารถเข้าใช้งานได้ตามปกติ เมื่อพยายามเข้าถึงเว็บไซต์ดังกล่าวผ่านการเชื่อมต่อของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่กลับปรากฏสัญลักษณ์ของกระทรวงดีอีเอส พร้อมข้อความระบุว่า

“เนื้อหานี้ถูกระงับเนื่องจากมีความผิดตาม พ ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเดิม และ/หรือเข้าข่ายการกระทำผิดตาม พร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 และที่แก้ไขเพิ่มเติม”

ครย.112 .jpg

ทั้งนี้ ในรายละเอียดของหนังสือที่ ครย. 112 เข้ายื่นวันนี้ ได้อ้างอิงถึงขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 20 ระบุว่า เว็บไซต์ที่จะถูกปิดกั้นได้ ต้องมีเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายนี้ หรือคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์เห็นว่ามีข้อมูลที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี และต้องให้รัฐมนตรีเห็นชอบก่อนยื่นคำร้องขออนุมัติการปิดกั้นต่อศาล และในชั้นศาลจะต้องเปิดโอกาสให้เจ้าของข้อมูลบนเว็บไซต์มีโอกาสได้โต้แย้ง คัดค้านได้ แต่เว็บไซต์ https://www.no112.org ไม่มีข้อมูลที่ผิดต่อกฎหมายใด หรือข้อมูลขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี และทางกลุ่มไม่เคยได้รับแจ้งถึงขั้นตอนการดำเนินการในชั้นศาลทำให้ไม่มีโอกาสใช้สิทธิโต้แย้งคัดค้าน และไม่เคยเห็นเอกสารที่เป็นคำสั่งจากศาลให้ปิดกั้นเว็บไซต์ดังกล่าว

ครย.112 .jpg

ด้วยเหตุนี้ ทางกลุ่มตั้งข้อสังเกตว่า การทำงานของกระทรวงดีอีเอส กลับมุ่งเน้นไปที่การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน โดยเฉพาะเนื้อหาที่กระทบถึงสถาบันฯ ซึ่งกระทรวงฯได้ออกคำสั่งไปแล้วกว่า 260 คำสั่ง และปิดกั้นปิด URL ไปแล้วกว่า 6,000 URL ชี้ให้เห็นว่า กระทรวงฯไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติงานตามหน้าที่หลักของกระทรวงในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

ดังนั้น จึงมีความสงสัยว่ากระทรวงดีอีเอสเป็นผู้ออกคำสั่งให้ปิดกั้นการเข้าถึงหรือไม่ และมีการขออนุมัติจากศาลอย่างถูกต้องหรือไม่ หรือใช้อำนาจในการออกคำสั่งตามกฎหมายใด พร้อมยืนยันทิ้งท้ายด้วยว่า ทางกลุ่มจะปักหลักรอจนกว่าจะได้เห็นคำสั่งศาลในการปิดกั้นเว็บไซต์ดังกล่าวอย่างชัดเจน เพื่อนำไปประกอบกับคำร้องเรื่องการปิดกั้นเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนต่อสภาฯต่อไป