ไม่พบผลการค้นหา
'เศรษฐา​' มอบนโยบาย​ 'ทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก' เน้นปรับโฉมใหม่​ เป็นการต่างประเทศที่กินได้​ ย้ำจุดยืนประเทศ​ เป็นกลาง​ -​ เป็นมิตรทุกฝ่าย​ ใช้เป็นโอกาสทางการค้า​ -​ การลงทุน​ ลั่น​ ต้องมีรักษาเกียรติภูมิประเทศ​ ลบข้อครหา​ใช้สถานฑูตรับรองอภิทธิ์ชน​ดูงานต่างประเทศ ตอบสนองความต้องการประชาชนให้​สมภาษี​

วันที่ 21 พ.ย. เศรษฐา​ ทวีสิน​ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกล่าวมอบนโยบายเปิดการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ประจำปี 2566​ ว่า เป็นโอกาสอันดีที่ “ทีมประเทศไทย” (Team Thailand) ทั้งภายในประเทศและที่ประจำการอยู่ต่างประเทศ ทั้งนักการทูตประจำประเทศต่าง ๆ นักการทูตที่มีความเชี่ยวชาญ (Specialist) เช่น ทูตเกษตร ทูตพาณิชย์ และหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบเฉพาะ เช่น BOI ได้มาร่วมกันกำหนดแนวทางและกลยุทธ์ขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศสู่ยุคใหม่ ให้เป็นการทูตที่จับต้องได้​ “เป็นการต่างประเทศที่กินได้” สร้างความกินดีอยู่ดี โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการปรับกรอบการคิดและแนวทางการทำงาน โดยเริ่มจากการตั้งคำถามชวนคิดว่า ประชาชนและภาคธุรกิจต้องการเห็นอะไรในการต่างประเทศ และมีผลตอบรับ (Feedback) อย่างไร รวมทั้งให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง (customer-centric) มีแนวความรู้สึกทางธุรกิจ Business sense และมีความรู้สึกถึงความเร่งด่วน Sense of urgency และเพื่อตอบคำถามนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm) ในการทำงาน ให้ความสำคัญกับ “ทำไม” (Why) มากขึ้น ต้องตอบให้ได้ว่า “ทำไปทำไม” และ “ผลกระทบ (Impact) คืออะไร” พร้อมเปลี่ยนวิธีการคิดจาก “ทำไมถึงทำไม่ได้” เป็น “ทำยังไงถึงจะทำได้” และ “ทำยังไงถึงจะสำเร็จ” เพื่อให้รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่เน้นประชาชนทุกคนเป็นศูนย์กลาง (Customer-centric government) โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอกรอบการทำงานและวางกลยุทธ์ ซึ่งได้จากการเรียนรู้การทำงานกับระบบราชการ และประสบการณ์การทำงานในภาคธุรกิจของนายกรัฐมนตรี 

โดยแบ่งกรอบงานเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก งานที่เกี่ยวข้องกับการเป็นทูตเศรษฐกิจ ส่งเสริมทั้งการค้าขาย และการลงทุน รัฐบาลมีนโยบายหลักที่มุ่งขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยอาศัยภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมขับเคลื่อน ขณะที่รัฐบาลมีบทบาทในการสนับสนุน และเอื้อให้การค้าต่างประเทศและการลงทุนเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เช่น การนำสินค้าไทยไปขายในต่างแดน การทำให้ดัชนีความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of doing business) ดีขึ้น รวมถึงการเร่งการเจรจา FTAs ให้สำเร็จ เป็นตัวกลางในการประสานงานกับภาคเอกชนให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ เป็นที่ปรึกษา ช่วยชี้แนะตลาด ปัจจัยสำคัญ สื่อสารให้ข้อมูลประเด็นทางเศรษฐกิจ 

นายกรัฐมนตรี​ ย้ำจุดยืนของไทยในความเป็นกลางที่เป็นมิตรกับทุกฝ่าย แต่ไม่ไร้จุดมุ่งหมาย ปรับใช้กับวิธีการวางตัว วางจุดยืนของประเทศให้เหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ เป็นข้อมูลที่จะชี้โอกาสสำหรับการค้าและการลงทุน ซึ่งคือ “การต่างประเทศที่คนไทยสามารถจับต้องได้”

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ขอให้ทีมประเทศไทยช่วยกันคิด วางแผนการทำงานร่วมกันให้ครอบคลุมทั้งการค้าขายทั้งนำเข้าและส่งออก และการลงทุนทั้งในประเทศและนอกประเทศ เป็นฟันเฟืองสำคัญของ “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” 

ขณะเดียวกันสถานฑูต ถือว่าบทบาทที่เกี่ยวข้องกับเกียรติภูมิ ศักดิ์ศรี และการช่วยเหลือคนไทยและธุรกิจไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องเกียรติภูมิของประเทศและการดูแลพระเกียรติของราชวงศ์ ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อเกียรติภูมิของประเทศชาติ 

โดยนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการสร้างวัฒนธรรมใหม่ มองเกียรติและศักดิ์ศรี คือการทำงานอย่างเป็นมืออาชีพในหน้าที่ที่รับผิดชอบ ทั้งเรื่องการประสานภาครัฐ และการสร้างความสัมพันธ์กับนานาชาติที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน พร้อมย้ำถึงภาระกิจที่ยิ่งใหญ่ คือการให้การช่วยเหลือ ประสานงานให้หน่วยงานราชการ คณะผู้แทนไทย สามารถบรรลุวัตถุประสงค์กลับมาให้กับประเทศ ให้คนไทย และขอให้หนักแน่นในหน้าที่นี้ เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่ดีเป็นนักการทูตมืออาชีพ

นายกรัฐมนตรี​ ยังเน้นย้ำอีกว่า​ ถึงหน้าที่ของสถานทูต​ไม่อยากให้มีข้อครหา​ ทุกคนทำงานหนัก​ ซึ่งตนไม่ต้องการให้มารับภาระดูแลอภิสทธิ์ชนที่เดินทางไปดูงานต่างประเทศ ไม่ควรใช้ข้าราชการสถานฑูตหรือสถานฑูต​ เป็นสถานที่กินเลี้ยงสังสรรค์​ พร้อมย้ำว่าเกียรติและศักดิ์ศรี​ คือการทำงานที่รับผิดชอบ​ มากกว่าเป็นสถานที่จัดเลี้ยงรับรองคนไทยกันเอง​ ตนขอให้หนักแน่นในหน้าที่​ เพราะเงินทุกบาทที่ใช้มาจากภาษีประชาชน​ และภาคธุรกิจ​ที่สร้างรายได้ให้ประเทศ​ ว่าจะทำหน้าที่ให้สามารถตอบสนองประชาชนได้อย่างไร​