ไม่พบผลการค้นหา
มติ ศบศ.เยียวยาแรงงานก่อสร้าง-ร้านอาหารในระบบที่ได้รับกระทบใน 6 จังหวัดไม่เกิน 7,500 บ. พ่วงรัฐให้อีก 2,000 บ. ไม่เลื่อนโครงการคนละครึ่ง ด้านนายกฯรับผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นสูงมาจากการค้นหาเชิงรุก ย้ำไม่รังเกียจคนไทยทุกคน ครวญถูกถล่มด้วยวาจาไม่สุภาพ

วันที่ 28 มิ.ย. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันททร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผย ว่าที่ประชุม ศบศ. วันนี้ได้ออกมาตรการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดตามมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 25 ในพื้นที่ควบคุม 6 จังหวัด เพื่อลดผลกระทบในระยะ 1 เดือน โดยใช้งบประมาณจากรัฐบาลและประกันสังคม 7,500 ล้านบาท โดยจะต้องจ่ายเพิ่มเติมให้ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม และจ่ายให้นายจ้างที่มีลูกจ้างในระบบประกันสังคมไม่เกิน 200 คน 3,000 บาทต่อหัว ซึ่งจะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลเช่นกัน 

นายกรัฐมนตรี ยังยืนยันจะดูแลผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม พร้อมย้ำถึงสาเหตุที่จะต้องปิดคลัสเตอร์แรงงาน เพราะมีการแพร่ระบาดเป็นจำนวน และจะทำให้เกิดผลกระทบในจุดอื่นไปด้วย ส่วนแรงงานที่ทยอยเดินทางกลับไปต่างจังหวัดนั้นจะต้องดูข้อมูลที่มีอยู่ ที่ผ่านมาตนก็เป็นห่วงในเรื่องนี้อยู่แล้ว เห็นได้ว่าตนได้สั่งการไปตั้งแต่เช้าวันเสาร์ ให้ทหาร ตำรวจ พลเรือน ลงพื้นที่ตรวจ เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายกลับบ้าน เพราะจะไปแพร่เชื้อในที่อื่น ซึ่งทหารหลายคนก็ได้รับความเสี่ยงสูง ตนได้สั่งดูแลในเรื่องของวัคซีนแล้ว 

สำหรับการเดินทางกลับบ้านของแรงงาน นายกรัฐมนตรี เชื่อว่าไม่มีใครอยากกลับไป เพราะหากกลับไปแล้วในพื้นที่จะถูกควบคุม ให้อยู่ในพื้นที่กำหนดและไม่มีงานทำ แต่หากยังอยู่ในคลัสเตอร์ที่เราควบคุมได้ ก็จะมีเงินเยียวยาให้ร้อยละ 50 รวมถึงมีอาหารดูแลด้วย 

นายกรัฐมนตรี ยอมรับเป็นห่วงร้านอาหารรายย่อย เพราะประชาชนไม่ออกไปใช้บริการ จึงขอความร่วมมือกับสมาคมก่อสร้างและร้านอาหาร จ้างประกอบอาหารจัดส่งไปให้แคมป์คนงานก่อสร้าง ซึ่งถือว่าเป็นอีก 1 ทางเลือกให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งเรื่องนี้ กทม.รับทราบแล้ว 

ทั้งนี้ ยอมรับยังมีคนไม่สบายใจและไม่พอใจกับมาตรการนี้ แต่ก็ต้องบริหารงานให้เป็นระบบ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาในอนาคต โดยจะนำมาตรการที่ประชุมในวันนี้ เข้าครม. พิจารณาเห็นชอบวันที่ 29 มิ.ย.นี้ พร้อมย้ำมาตรการเยียวยาจะใช้เฉพาะพื้นที่ 6 จังหวัดควบคุมสูงสุด ซึ่งไม่ใช่โครงการเราชนะ หรือ ม.33 เรารักกัน ส่วนโครงการคนละครึ่ง และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้เป็นไปตามกำหนดเดิม ไม่มีการเลื่อน 

ครวญถูกถล่มด้วยวาจาไม่สุภาพ แต่อดทน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลายประเทศก็ได้รับความเดือดร้อน เช่นกันและยิ่งกว่าประเทศไทย พร้อมยอมรับว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น เกิดจากการตรวจค้นหาเชิงรุก เพราะหลายคนติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ แต่เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ก็ต้องดูตัวเลขผู้หายป่วยกลับบ้านด้วย รวมถึงการบริหารจัดการโรงพยาบาล วันนี้ตนไม่ได้ทำงานรายวัน ไม่ได้ทำงานคนเดียว รัฐบาลยืนยันดูแลเต็มที่ รับฟังความเห็นของทุกคน ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบตน ตนดูทั้งหมด แต่สิ่งไหนที่ทำได้ก็รับมา แต่สิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่อยากจะดู ถ้าเป็นไปในเชิงสร้างความเกลียดชัง สร้างความขัดแย้งมากๆ ไม่เกิดประโยชน์

"ผมไม่ได้รังเกียจใคร เพราะถือว่าทุกคนเป็นคนไทย หลายอย่างผมก็เสียใจที่หลายคนใช้วาจากิริยาไม่สุภาพ ซึ่งถามว่าควรหรือไม่ แต่ผมก็อดทน"

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ยังเปิดเหมือนเดิม พร้อม ยืนยันลงพื้นที่ จังหวัดภูเก็ต 1 ก.ค นี้ ย้ำทุกคนต้องช่วยกัน ต่อให้นายกรัฐมนตรี ประกาศออกไปแล้ว ไม่ได้รับความร่วมมือ ก็ไม่เกิดอะไร หากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ประสบความสำเร็จ ก็จะดูในพื้นที่อื่นๆ ต่อไปอีก และไปยังพื้นที่แผ่นดินใหญ่ ซึ่งทำพร้อมกันทั้งหมดไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหา 

ส่วนปัญหาเตียงไม่เพียงพอ วันนี้กำลังดำเนินการเพิ่มเตียงสีแดง ซึ่งหากไม่พอ ก็จะมีการนำผู้ป่วยติดเชื้อไปรักษาในต่างจังหวัด ก็จะต้องเตรียมการ เพราะรู้อยู่แล้วมาตรการสาธารณสุข จะสามารถรับผู้ป่วยได้มากน้อยเพียงใด ทั้งสถานการณ์ปกติและไม่ปกติ พร้อมทั้งยังสั่งการให้เตรียมขยายให้รับผู้ป่วยสีแดงให้มากขึ้น โดยจะนำแพทย์จบใหม่เข้ามาเสริม เพราะแพทย์ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะต้องมาดูแล ถ้าไม่เห็นใจซึ่งกันและกันก็ไม่ได้ ความขัดแย้งก็จะสูงขึ้น การเมืองก็ขอให้หยุดไปก่อน ส่วนตัวไม่หวั่นไหว ตนยืนอยู่ตรงนี้ไม่เคยหวั่นไหว ตนเคยบอกแล้วว่า จะทำให้ดีที่สุด ตราบใดที่ยังทำได้ ตนรักประชาชน รักอย่างเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ โดยไม่ต้องการอะไรจากประชาชน มีอะไรที่ตนจะดูแลให้มากที่สุด ตนก็จะทำ รัฐบาลก็ช่วยกัน เพราะรัฐบาลเป็นหนึ่งเดียวในการดูแลประชาชน เรื่องอื่นๆ ก็ขอให้เป็นเรื่องของสภา ต้องมาดูผลงานที่คณะรัฐมนตรีทำ

เคาะเยียวยาแรงงานก่อสร้าง-ร้านอาหารไม่เกิน 7,500 บ.พ่วงรัฐให้อีก 2,000 บ.  

ด้าน ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่าที่ประชุม ศบศ.มีมติให้ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดฉบับที่ 25 ใน 6 จังหวัดประกอบด้วย กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ในกลุ่มธุรกิจ ก่อสร้าง ไซต์งาน ร้านอาหารต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่สั่งควบคุมเป็นเวลา 1 เดือนโดยเฉพาะในแรงงานสัญชาติไทยที่อยู่ในระบบประกันสังคม กระทรวงแรงงานจะจ่ายชดเชยในเหตุสุดวิสัย ร้อยละ 50 ของฐานเงินเดือน แต่สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท และรัฐให้เงินชดเชยเพิ่มอีก 2,000 บาท เนื่องจากบางบริษัทถูกลดค่าจ้าง รวมเป็นเงิน 9,500 บาท โดยจากการสำรวจที่รัฐบาลต้องเยียวยา มีแรงงานในระบบกว่า 690,000 คน ส่วนนอกระบบยังไม่มีการคาดการณ์ 

ขณะที่แรงงานต่างชาติที่ขึ้นทะเบียนกับระบบประกันสังคมของไทยจะได้รับเงินชดเชยเหตุสุดวิสัย ร้อยละ 50 เท่านั้น  ส่วนการช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกอบการจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท ต่อลูกจ้าง 1 คน สูงสุดไม่เกิด 200 คน พร้อมย้ำว่าคนที่จะได้รับเงินเยียวยาต้องอยู่ในระบบประกันสังคม เนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าทำงานประเภทไหน 

โดยมาตรการดังกล่าวนี้ ใช้งบประมาณจากกระทรวงแรงงาน 3,500 ล้านบาท และจากงบเงินกู้ อีก 4,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 7,500 ล้านบาท ทั้งนี้ ยืนยันไม่มีการเลื่อนโครงการคนละครึ่งเฟส 3 ยังคงเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ก.ค.นี้ 

รมว.แรงงานเผยผู้ประกอบการนอกระบบรับเงิน 3,000 บาทลงทะเบียนผ่านแอปถุงเงิน

ขณะที่ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เสริมว่าผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบประกันสังคม ก็จะมีข้อมูลในกลุ่มที่ลงทะเบียนในแอปพลิเคชันถุงเงิน ซึ่งจะดำเนินการแบ่งเป็นสองแบบ คือ ถ้าผู้ประกอบการยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จะเปิดให้มาขึ้นทะเบียน หลังจากนี้ก็จะเข้าสู่มาตรการการเยียวยาต่อไป สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้างไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ขอให้เข้าไปลงทะเบียนในแอปพลิเคชันถุงเงิน เพื่อเข้าสู่โครงการคนละครึ่ง ที่เปิดให้ผู้ประกอบการ ร้านอาหาร และเครื่องดื่มจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 เช่นกัน โดยให้กระทรวงมหาดไทยไปสำรวจ ในการลงทะเบียนของผู้ประกอบการ โดยการจ่ายเงินกองทุนประสังคมทำได้ทันที แต่เงินเยียวยาอีก 2,000 ต้องให้ ครม.เห็นชอบ ภายในสัปดาห์หน้า 

พร้อมกันนี้กระทรวงแรงงานจะประสานสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยที่มีคนงานในสมาคมกว่า 1 แสน ซึ่งทางสมาคมจะดูแลเอง เพราะต้องการให้อยู่กับที่ไม่เกิดการเคลื่อนย้าย ย้ำกระทรวงแรงงานเดินหน้าตรวจเชิงรุก และกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง พร้อมทั้งได้ประสานโรงงานผลิตอาหารเพื่อสนับสนุนอาหาร ให้คนงาน เพื่อควบคุมการระบาดในกรอบ 1 เดือนนี้ ยอมรับมีแรงงานหลบหนีจากพื้นที่ควบคุม แต่ผู้ประกอบการต้องช่วยกันดูแล