ในขณะที่ 7 พรรคฝ่ายค้าน เริ่มขยับผลักดันวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในสภา ควบคู่กับการเดินสายรณรงค์ตามหาฉันทามติร่วมกันจากประชาชนนอกสภา ทว่าท่าทีพรรคร่วมรัฐบาลที่กำหนดนโยบายเร่งด่วน ข้อ 12 ให้มีการศึกษาถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับยังไร้ความเคลื่อนไหว ไม่ปรากฏทิศทาง โดยเฉพาะจากทางฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ที่ยืนยันชัดว่า นี่คือเหตุผลในการเข้าร่วม ‘รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา’
วอยซ์ออนไลน์ จึงชวนพูดคุยกับ กษิต ภิรมย์ อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรมว.การต่างประเทศ และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ที่ผันตัวจากภาคการเมืองสู่ภาคประชาสังคม ถึงแนวทางการขับเคลื่อนให้เกิด ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ พาสังคมไทยออกจากระบอบ ‘กึ่งเผด็จการ’ กลับคืนสู่ระบอบ ‘ประชาธิปไตยเต็มใบ’ เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม
เปิดใจไขก๊อกปชป. – มุ่งหน้าถก ‘ฝ่ายค้าน-รัฐบาล’ แก้ไขกฎหมายสูงสุด
“ผมคัดค้านรัฐธรรมนูญในที่แจ้ง ได้อภิปรายในสภาสปท.เป็นหลักฐานว่า ผมไม่เห็นด้วย กับการเพิ่มชื่อ 3 คนที่จะเป็นนายกฯ คนนอก แล้วก็ลงประชามติ แน่นอนว่าลับ แต่สาบานได้ว่า คัดค้านรัฐธรรมนูญ จุดยืนผมมั่นคง” กษิต ยืนยันก่อนเปิดใจถึงสาเหตุการไขก๊อกจากพรรคประชาธิปัตย์
เขาเล่าต่อว่า ตัดสินใจนานแล้ว ไม่ได้อกหักหรือเสียใจ ซึ่งก็ยิ้มแย้มแจ่มใสดี ไม่ได้แอบไปร้องไห้อยู่ที่บ้าน ได้บอกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ต้นว่า จะไม่ลงเลือกตั้ง ไม่ต้องการตำแหน่งทางการเมือง ขออาสาปฏิรูปพรรคและแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อประชาธิปัตย์เข้าร่วมกับรัฐบาลประยุทธ์ ตนไม่มีที่ยืนก็ออกมา แล้วทำงานภาคประชาชน เสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตยของสังคมไทยต่อไป
นับจากหันหลังให้ถนนการเมืองก็เดินสายอภิปรายในบทบาทที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 หลายต่อหลายครั้ง เช่น เวทีเสวนาของแกนนำพรรคอนาคตใหม่
โดยมองว่า แม้จะมีจุดยืนที่แตกต่างกัน แต่เมื่ออยู่ในสังคมไทยด้วยกัน อยากอยู่ในกรอบประชาธิปไตย ต้องสามารถพูดจาแล้วทำความรู้จักกันได้ ซึ่งก็ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลายประการร่วมกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค
"พรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ที่จะจัดเวทีเสวนากันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมยินดีจะไปเข้าร่วม เพราะจุดหมายเป้าหมายในชีวิตของผมคืออยากจะเห็นประชาธิปไตยได้เกิดขึ้นอย่างจริงจังในประเทศ ดังที่มิตรประเทศเช่น ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ที่หลุดพ้นจากสภาวการณ์ที่ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมือง หรือการปกครองในรูปแบบเผด็จการต่างๆ ซึ่งต้องขจัดไปให้หมดสิ้น เราจะได้ก้าวไปอย่างสง่างามในเวทีโลก"
ชู อุดมคติ-อุดมการณ์ 2475 ผิดหวังรัฐธรรมนูญ ปี 60 พาไทยถอยหลังเข้าคลอง
สิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ยังดูห่างไกลกับความคาดหวังซึ่งที่ปรึกษาครป. ชี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดำเนินการตามคำสั่งของฝ่ายกองทัพในชื่อคสช. เขียนมาให้ฝ่ายข้าราชการประจำคือทหาร มีที่นั่งในรัฐสภา ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ คณะกรรมการปฏิรูป ซึ่งในสังคมเสรีประชาธิปไตย จะตั้งกรรมการแบบนี้ไม่ได้ เพราะเป็นกึ่งสังคมนิยม กึ่งคอมมิวนิสต์ กึ่งเผด็จการ จะมีคณะกรรมการอยู่เหนือสภาผู้แทนราษฎร หรือเหนือพรรคการเมืองได้อย่างไร
"เมื่อเรามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 รัชกาลที่ 7 พระราชทานประชาธิปไตยให้กับสังคมไทย ไม่ได้ให้กับคณะราษฎร หรือคณะนายทหาร หรือครอบครัวธุรกิจการเมือง ถ้าหากเราจะถอยหลังเข้าคลอง ไม่เคลื่อนไปให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ประชาธิปไตยก็ไปไม่ได้ ก็จะยื้อกันอยู่แบบนี้ จะมีฝ่ายหัวก้าวหน้ากับฝ่ายอนุรักษนิยม ไม่จบไม่สิ้น เมื่อเราตัดสินใจกันเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2475 ว่า ราชอาณาจักรไทยจะเป็นสังคมประชาธิปไตย ก็ต้องเพียรพยายามมุ่งหน้าไปได้ค่อนข้างไกลมากด้วย รัฐธรรมนูญ 2540 ปรับปรุงนิดหน่อยเป็นฉบับ 2550" ที่ปรึกษา ครป.ระบุ
ก่อนอธิบายถึงการถอยหลังเข้าคลองว่า ข้าราชการประจำนั่งกันสลอน ผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกไม่อาจทำอะไรได้มาก เพราะถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เน้นไปที่อำนาจข้าราชการประจำ คณะกรรมการชุดต่างๆเต็มไปด้วยข้าราชการและอดีตข้าราชการ สังคมไทยกลายเป็นรัฐราชการหรือข้าราชการเป็นใหญ่ ผ่านที่นั่งของ 5 นายพลทหาร และ 1 นายพลตำรวจ รัฐธรรมนูญ 2560 จึงไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นครึ่งประชาธิปไตย ครึ่งเผด็จการ หัวมังกุท้ายมังกรแบบนี้ไม่ได้
สะท้อนความเจ็บปวดถึง ‘ประยุทธ์’ แนะทำประชามติ แก้กติกามาเฟีย
แม้ 7 พรรคฝ่ายค้านเริ่มรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งใน-นอกสภาแล้ว แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากหาก ‘รัฐบาลประยุทธ์ 2’ ไม่ตอบสนอง
กษิต แนะนำว่า "พล.อ.ประยุทธ์ต้องฟังพวกเรา คุณประยุทธ์เป็นคนเฉลียวฉลาด เป็นแม่ทัพนายกอง อยู่ในอำนาจมาแล้ว 5 ปี ได้ไปเยือนต่างประเทศมาตั้งเยอะแยะ ภูมิใจออกทีวีได้พบกับผู้นำในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งคุณประยุทธ์ก็รู้อยู่แก่ใจว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ อำนวยให้คุณประยุทธ์ เพื่อนๆในกองทัพ และข้าราชการประจำ"
"ทำไมจึงทำอะไรที่มันสวนทางกับอุดมคติและอุดมการณ์ของวันที่ 24 มิ.ย. 2475 พวกเราก็เพียรพยายาม ประท้วงบนท้องถนนมากี่ครั้ง เสียชีวิตกันไปเท่าไรเพื่อจะเป็นประชาธิปไตย แล้วทำไมจึงมีคนกลุ่มหนึ่งพยายามดันประชาธิปไตยให้มันถอยหลัง ทำไมไม่ช่วยกัน พรุ่งนี้เช้าคุณประยุทธ์ตื่นมาอารมณ์ดี ก็ประกาศไปเลยว่า จะแก้รัฐธรรมนูญภายใน 1 เดือน ก็ทำได้ ไม่มีความลำบากอะไร เพียงแค่คุณประยุทธ์ ประกาศว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์แบบ คุณประยุทธ์ก็จะลาจากเวทีการเมืองอย่างสง่างาม เป็นรัฐบุรุษในการเสริมสร้างประชาธิปไตย"
เมื่อถามย้ำว่าจะทำอย่างไรให้พล.อ.ประยุทธ์ประกาศเป็นเจ้าภาพผลักดันการแก้ไขกฎหมายสูงสุด ที่ออกแบบมาให้แก้ไขได้ยาก 'กษิต' ตอบอย่างหนักแน่นว่า
"คุณประยุทธ์ต้องฟังผม ผมกำลังสะท้อนความรู้สึกของนักประชาธิปไตย นักเคลื่อนไหว ที่คำนึงเรื่องสิทธิและเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ผมเป็นคนหนึ่งที่สะท้อนอีกหลายๆคนที่เจ็บปวดกว่า 86 ปีมาแล้ว ที่ยังมีทหารการเมือง นักการเมืองสามานย์ เราจะอยู่กันแบบนี้ จะอยู่ด้วยความถดถอย ไม่มีความเจริญก้าวหน้า เราขายของเก่ากิน แต่มีอะไรทำให้เราภูมิใจหรือไม่ มีการค้นคว้าวิจัย นวัตกรรมหรือไม่ ไม่มี เพราะสังคมมันถูกปิดถูกครอบงำ อำนาจกระจุกตัว ความร่ำรวยกระจุกตัว ก็ต้องเปิดให้มันกว้าง"
"เมื่อประชาชนเป็นใหญ่ก็ไปขอจากประชาชนว่า จะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ทั้งฉบับหรือไม่ ไม่ต้องรอขั้นตอนในสภา เพราะที่เขียนไว้ เพื่อให้แก้ยาก หรือไม่ให้แก้เลย ตั้ง 7-8 ขั้นตอน หากเล่นกันตามเกมแบบนี้ไม่ใช่ เหมือนเป็นเกมมาเฟีย คุณตั้งกฎเกณฑ์มาแล้วเล่นเอง คนอื่นเล่นไม่ได้ จะให้เล่นได้ ก็ต้องกลับไปที่ประชาชนประยุทธ์ประกาศเลยว่า จะให้มีการทำประชามติ"
พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ต้องใจร้อนชูธงแก้ – ปัญหาปากท้องแค่ข้ออ้าง
ส่วนประชาธิปัตย์ที่ให้เหตุผลการเข้าร่วมรัฐบาลประยุทธ์เพื่อต้องการผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น อดีตสมาชิก ปชป. ตอบทันควันว่า ไม่ซื้อข้อชี้แจงอันนี้ พวกเราทุกคนไม่ใช่เด็กไร้เดียงสา ประชาธิปัตย์เป็นเอกเทศก็ยกร่างร่างรัฐธรรมนูญได้ คนเก่งในพรรคประชาธิปัตย์มีมากมาย คงต้องเป็นปัญหาของคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ท่านชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาว่า รออะไรอยู่ ควรต้องทำตัวเป็นเด็กหนุ่มใจร้อนสักนิด ชื่อประชาธิปัตย์ก็บ่งบอกความเป็นประชาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญ 2560 นี้ไม่เป็นประชาธิปไตย เมื่อไปนั่งเป็นรัฐบาลแล้วจะรออะไร ก็ไปกระซิบที่หูของคุณประยุทธ์ เรื่องหนึ่งก็ทำกันในกรอบของรัฐบาลร่วม
ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพล.อ.ประยุทธ์ อะไรคือปัจจัยที่รัฐบาลจะมาร่วมกับฝ่ายค้านและภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนการแก้ไขกฎหมายสูงสุด?
อดีตสมาชิกปชป. ชี้ชัดว่า ต้องเป็นจิตสำนึกของคุณประยุทธ์และสหายด้วยว่า เราจะอยู่กันด้วยรัฐธรรมนูญทีค่อนข้างจะกดขี่สิทธิและเสรีภาพของประชาชนนั้นไม่ได้ จะมีแรงต้านทานของประชาชนอยู่ตลอดเวลา มันอาจไม่ได้ออกมาอย่างที่ผมมาพูดเปิดเผยตรงนี้ แต่ผมคิดว่ามันจะมีคลื่นใต้น้ำ
สำหรับการอ้างเรื่องเศรษฐกิจเพื่อที่จะไม่แก้รัฐธรรมนูญก็เพราะรัฐธรรมนูญมันดีกับ พล.อ.ประยุทธ์แล้วก็กองทัพ ข้าราชการประจำ และพรรคพวก แล้วก็มิตรสหายเพื่อร่วมรุ่น วปอ. ใช่หรือเปล่า คุณประยุทธ์ไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญ เพราะต้องปลดเพื่อนฝูงตั้ง 250 คน ทำไมจะทำสองอย่างพร้อมกันไม่ได้ ไม่ใช่ให้คุณประยุทธ์มาเขียนเองสักหน่อย เขาไม่ได้ให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อมาอ้างเรื่องแก้เศรษฐกิจ ถ้าแบบนี้ก็หมายความว่า 5 ปีที่ผ่านมา ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงใช่หรือไม่
"ถ้าคุณประยุทธ์ไม่ทำอะไร ผมก็ขออนุญาตพูดว่า เพราะตัวเองได้ประโยชน์จากกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้" อดีตสมาชิกปชป.กล่าว
การกดขี่ไม่ใช่เสถียรภาพที่แท้จริง ย้อนบทเรียนคนไทยสู้เพื่อประชาธิปไตย
อดีต รมว.การต่างประเทศ ยังเปรียบเทียบบทเรียนในต่างแดนกับประเทศไทย ในแง่มุมที่ทหารมาแทรกแซงทางการเมืองด้วยว่า ประชาคมโลกเขาก็ไม่เอาด้วย ในแวดวงของอาเซียนก็มีส่วนหนึ่งที่เขาไม่เห็นด้วยกับการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เขาเป็นห่วงเป็นใย เพราะอยากให้คนมีสิทธิและเสรีภาพเต็มที่ เหมือนที่เขามีในบ้านเขา ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย เขาไปกันไกลแล้ว เรายังจมกันอยู่ตรงนี้
"ชื่อประชาธิปัตย์ก็บ่งบอกความเป็นประชาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญ 2560 นี้ไม่เป็นประชาธิปไตย เมื่อไปนั่งเป็นรัฐบาลแล้วจะรออะไร ก็ไปกระซิบที่หูของคุณประยุทธ์ เรื่องหนึ่งก็ทำกันในกรอบของรัฐบาลร่วม"
"แค่คุณประยุทธ์ ประกาศว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์แบบ คุณประยุทธ์ก็จะลาจากเวทีการเมืองอย่างสง่างาม เป็นรัฐบุรุษในการเสริมสร้างประชาธิปไตย"
เขายกตัวอย่างให้เห็นภาพเพิ่มเติมว่า ล่าสุดที่ประเทศซูดาน เผด็จการอยู่มา 30 ปี ประท้วงกัน 6 เดือน ทหารจะเข้ามายึดอำนาจ ประชาชนไม่ยอม ในที่สุดทหารกับพลเรือนก็ตกลงกันได้ แล้วก็จะใช้เวลาเปลี่ยนผ่าน 3 ปี ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตย ผู้นำทั่วโลกรู้อยู่แก่ใจเป็นเผด็จการเมื่อไร สังคมก็แตกแยก มีการเผชิญหน้าไม่ยั่งยืน การจะอยู่ร่วมกันได้ เวทีต้องเปิด ประชาธิปไตย ถ้าเป็นเผด็จการ กดอย่างเดียวก็ต้องระเบิดเข้าวันหนึ่ง คนไทยหรือคนทุกคน ต้องการสิทธิและเสรีภาพ ไม่ต้องการถูกกดขี่
"และอย่าสับสนเสถียรภาพบนท้องถนนกับความเป็นประชาธิปไตย เสถียรภาพไม่ได้อยู่แค่ถนน แต่ต้องอยู่ในใจด้วย แล้วในใจจะมีเสถียรภาพเมื่อสังคมเบิกบานด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ว่ามีเสถียรภาพด้วยการใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 กดขี่อยู่แบบนี้ ไม่ใช่เสถียรภาพที่แท้จริง หรือเสถียรภาพภายใต้รัฐบาลทหารที่ผ่านมาก็ไม่ใช่เสถียรภาพที่แท้จริง การมีส่วนร่วมไม่มี ก็อยู่กันด้วยความคลางแคงใจไม่ไว้ใจ ความโกรธแค้นเกลียดชัง"
อดีตรมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า คนไทยต่อสู้มากี่รอบแล้วเรื่องสังคมประชาธิปไตย คนที่เสียชีวิตไป ไม่ว่าจะเป็น 6 ตุลา 2519 , 14 ตุลา 2516 , พฤษภาทมิฬ 2535, พันธมิตร, กปปส. แม้กระทั่งทางด้านเสื้อแดง ก็มีความเชื่อถือที่อยากเห็นสังคมประชาธิปไตย โดยองค์รวมสะท้อนว่า ภาคประชาชนไม่ต้องการให้ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ หรือประชาธิปไตยครึ่งใบ เป็นไปไม่ได้ การจะให้ เป็นนักการเมือง สวมหมวกสองใบ อย่างนี้ไม่ถูกต้องในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ผมรังเกียจแม่ทัพเหล่านั้น แต่ผมเป็นนักประชาธิปไตยเห็นว่า ข้าราชการก็ไปทำงานข้าราชการ ไม่ใช่ทำงานการเมือง
ข่าวที่เกี่ยวข่้อง