ไม่พบผลการค้นหา
‘โกวิท’อธ.อัยการ สพอ.จับมือ อธ.อัยการภ.4จัดอบรม อัยการภาค 4 ปฏิบัติภารกิจตาม พรบ.อุ้มหายฯช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิของประชาชน 'ผู้ถูกอุ้มทรมาน' รวดเร็วทันท่วงที

เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ โรงแรม อวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น พงษ์ศักดิ์ รัตนะพิสิฐ อธิบดีอัยการภาค 4 เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมการปฏิบัติภารกิจตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้กับพนักงานอัยการและข้าราชการธุรการที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเขตพื้นที่สำนักงานอัยการภาค 4 

โดยมี โกวิท ศรีไพโรจน์ อธิบดีอัยการสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ (สพอ.) วีระชาติ ศรีบุญมา ผู้อำนวยการสถาบันฝึกอบรมการดำเนินคดีชั้นสูง ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง เลขานุการรองอัยการสูงสุด ทีปกร โกมลพันธ์พร อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และ ยุทธศักดิ์ ศิริสินธว์ อัยการประจำกอง เข้าร่วม

โกวิท กล่าวว่าสำหรับวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดโครงการฝึกอบรมการปฏิบัติภารกิจตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ก็เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับพนักงานอัยการให้มีความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการตามที่กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

รวมถึงระเบียบและแนวทางในการปฏิบัติตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองและสามารถช่วยเหลือผู้ถูกควบคุมตัวที่ถูกทรมานได้อย่างปลอดภัย รวดเร็ว และชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้จะได้เรียนรู้ถึงขั้นตอนการประสานงานภายในหน่วยงานและองค์กรอื่นในการร่วมกันปฏิบัติภารกิจตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีการแก้ไขในปี 2566 โดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายนั้น เป็นกฎหมายใหม่ที่มีวัตถุประสงค์สำคัญในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนโดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่แจ้งการควบคุมตัวให้กับพนักงานอัยการทราบ

เพื่อให้พนักงานอัยการตรวจสอบและคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัว หากพบว่ามีบุคคลใดถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการอันโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย พนักงานอัยการหรือบุคคลที่กฎหมายกำหนดมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้มีคำสั่งยุติการกระทำเช่นว่านั้นได้ทันที