นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน ประเทศไทยมักพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus: RSV) โดยเชื้อไวรัสนี้ติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น น้ำมูก เสมหะของผู้ป่วย เป็นต้น
โดยเชื้อไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก และจากการสูดหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยจากการไอ จามของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4-6 วัน และเมื่อป่วยจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วัน
โรคนี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ แต่อาการจะรุนแรงในเด็กเล็ก เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังเช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ เป็นต้น
อาการโดยทั่วไปอาจจะเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่อาการจำเพาะของเชื้อนี้ที่มักพบในเด็กเล็กคือ หลอดลมฝอยอักเสบ โดยเริ่มแรกจะมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จนถึงอาการรุนแรง เช่น หายใจหอบเหนื่อย อกบุ๋ม ได้ยินเสียงปอดผิดปกติ เสียงหายใจดังวี้ด รับประทานอาหารได้น้อย และซึมลง ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่า จะพบเด็กทั่วโลกเสียชีวิตจากการติดเชื้อ RSV ถึงปีละ 160,000 ราย โดยมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลก ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว 33.8 ล้านคน ในจำนวนนี้ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลถึง 3.4 ล้านคน
สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคย้อนหลัง ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ในปี 2560 เชื้อ RSV ระบาดในช่วงระหว่างเดือน ส.ค. - ต.ค. พบผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 9 แห่ง (โครงการ WHO RSV Surveillance Pilot) จำนวน 1,935 คน ติดเชื้อ RSV จำนวน 148 คน คิดเป็นร้อยละ 7.65 และในปี 2561 พบผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 9 แห่ง จำนวน 968 คน ติดเชื้อ RSV จำนวน 115 คน คิดเป็นร้อยละ 11.88 ซึ่งเชื้อดังกล่าว มีการระบาดเร็วกว่าเดิมคือเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และในช่วงฤดูกาลระบาด มีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าปีที่ผ่านมาเฉลี่ยร้อยละ 30.26
สำหรับการป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค แต่สามารถปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ดังนี้ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด ควรสอนให้เด็กๆ ล้างมืออย่างถูกต้อง และรักษาสุขอนามัยส่วนตัว หลีกเลี่ยงการไปสถานที่ที่ผู้คนหนาแน่น ไม่ควรพาเด็กไปเล่นในที่ที่มีเด็กเล่นอยู่ด้วยกันจำนวนมาก หลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่ เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงในขณะที่มีการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีอยู่
ผู้ป่วยควรงดการออกนอกบ้านในช่วงที่ไม่สบาย เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น และควรปิดปากปิดจมูกเวลาไอจาม ทำความสะอาดบ้าน รวมทั้งของเล่นเด็กเป็นประจำ ควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำมากๆ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง เมื่อบุตรหลานมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ