ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯแพทองธาร ย้ำ นศ วปอ.67 จะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยกันพัฒนาประเทศ สอดรับกับรัฐบาลที่เตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคาม ที่หลากหลาย หวังนศ.วปอ. นำความรู้มาร่วมกันวางนโยบาย เพื่อพัฒนาประเทศไปพร้อมกัน

วันนี้ (8 พ.ย. 2567) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการศึกษาหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 67 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ผู้อํานวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานดังกล่าว   

IMG_20241108101215000000.jpg

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการศึกษาหลักสูตรตอนหนึ่งว่า โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หากเปรียบเทียบกับเมื่อ 20 ที่แล้ว จากปี 2000 ถึง 2024 จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สภาพสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เรื่องเทคโนโลยี AI รวมถึงค่านิยม และความเชื่อเปลี่ยนแปลงไปเป็นโลกคนละใบและไม่เหมือนเดิม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น ต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือ รู้จักกับปัญหาใหม่ ๆ และหาทางออกของปัญหานั้น ๆ อาทิ การเผชิญภัยคุกคามของมนุษยชาติ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ ปัญหาเรื่องก็รุนแรงขึ้น ที่จะส่งผลต่อประชาชนทุกระดับ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจากที่ได้ไปประชุมในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน มีการแบ่งปันองค์ความรู้เรื่องของภูมิศาสตร์ ด้วยเห็นพ้องกันว่าปัญหาที่ประสบอยู่ในปัจจุบันเป็นปัญหาที่คล้าย ๆ กัน เช่น ปัญหา PM 2.5 ปัญหาน้ำท่วม และดินโคลนถล่ม ที่ จ. เชียงราย เป็นต้น ซึ่งจากหารือร่วมกันต่างยินดีที่ร่วมมือช่วยเหลือเพื่อหลุดพ้นจากปัญหาดังกล่าวไปพร้อม ๆ กัน ทั้งนี้ การที่ได้เข้ามาเรียนหลักสูตร วปอ. ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เพราะทุกภาคส่วนเป็นส่วนสำคัญในการวางแผนนโยบายและการวางแผนพัฒนาในองค์กรนั้น ๆ  

'รัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อรองรับภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องภัยความมั่นคงในหลายประเด็น อาทิ ประเด็นความขัดแย้งของประเทศต่างๆที่จะส่งผลกระทบในหลายๆ มิติ เช่น เศรษฐกิจ การแข่งขันทางเทคโนโลยี เป็นต้น

ทั้งนี้ปัจจุบัน รัฐบาลสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยพัฒนาด้านการเกษตรเพื่อให้ภาคการเกษตรของประเทศมีความมั่นคงแข็งแรง และพร้อมที่จะส่งออก สินค้าทุกคนประเภท ไปประเทศจีนเพิ่มขึ้น' 

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงประเด็นทางออกของเศรษฐกิจไทย ที่ผ่านมาว่า ตนได้พูดคุยหารือกับกระทรวงการคลัง และในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านเห็นว่าการปรับโครงสร้างหนี้ หรือช่วยในเรื่องหนี้ เป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเรื่องเศรษฐกิจ แต่สิ่งสำคัญคือการหารายได้ใหม่ให้กับประเทศ หาเม็ดเงินใหม่ ๆ เข้าประเทศ โดยรัฐบาลมุ่งใช้ซอฟต์พาวเวอร์เป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดการจ้างงานช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เสริมความแข็งแรงของระบบเศรษฐกิจประเทศ จนสามารถหนีจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง สำหรับประเด็นความขัดแย้งในประเทศเมียนมาเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลต่อความมั่นคงของไทย มีผู้ลี้ภัยเข้ามายังประเทศไทยมากกว่า 200,000 คน นับตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤติ ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน รวมทั้งปัญหา PM2.5 แรงงาน ยาเสพติด อาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cybercrime) ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้นำเมียนมาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน นอกจากนี้ รัฐบาลจะเร่งดำเนินนโยบายด้านดิจิทัล โดยตั้งเป้าหมายว่า จะเพิ่มสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็น 30% ของ GDP ภายในปี 2573 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางไซเบอร์ของประเทศไทย

ส่วนเมื่อวานนี้ได้เข้าร่วมประชุม GMS ที่คุนหมิง ประเทศจีน และหนึ่งในเรื่องสำคัญที่หารือ คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ที่นำมาสู่การเกิดภัยพิบัติ ทั้งน้ำท่วมหรือดินโคลนถล่ม รวมไปถึงปัญหา PM 2.5 ทั้งนี้ การจะแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือของหลายประเทศ ซึ่งต่างกำลังดำเนินการแก้ไขไปในทิศทางเดียวกัน ถือเป็นตัวอย่างสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินนโยบายความมั่นคง และยังมีอีกหลายนโยบายที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ หวังว่าทุกคนจะได้รับทราบในลำดับถัดไปของหลักสูตร วปอ. 

"ขอให้นักศึกษาหลักสูตร วปอ. มีความสุขในการเรียนหลักสูตร วปอ. รุ่น 67 หลังจากจบหลักสูตรไปแล้ว ขอนำความรู้ที่ได้จากหลักสูตรไป พัฒนานโยบายเพื่อพัฒนาประเทศไปพร้อมๆ กัน" นายกรัฐมนตรี กล่าว

IMG_20241108101039000000.jpg