นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ ระบุว่า กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเสียงข้างมากให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมไม่มีความผิดจากการถือครองนาฬิกาหรูโดยไม่แจ้งแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้นั้น ไม่ผิดไปจากคาดการณ์ แต่คำวินิจฉัยน่าเหลือเชื่อในหลายเรื่อง เช่น ข้อสรุปของการตรวจสอบที่มาการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.เชื่อว่าบุคคลที่มีสถานะเป็นถึงรองนายกรัฐมนตรี มีหน้ามีตาทางสังคมจะใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยการยืม
นายจาตุรนต์ ระบุด้วยว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ช่วยคลายความสงสัยให้สังคมได้ ขณะเดียวกันเห็นว่าที่มาของคณะกรรมการป.ป.ช. ชุดปัจจุบันขาดความชอบธรรม หลายคนมีที่มาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้ามและมีความใกล้ชิดกับบุคคลสำคัญในรัฐบาล จึงต้องตั้งคำถามว่า การตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน จะมีความเป็นอิสระหรือไม่ รวมถึงการตรวจสอบจากภาคประชาชน และ สื่อมวลชนก็ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ หาก คสช.ยังอยู่ในอำนาจ
นายจาตุรนต์ ระบุว่า ที่มาขององค์กรอิสระต้องแก้ไข โดยเฉพาะในส่วน ป.ป.ช. หากสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้เร็ว ก็จะแก้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เป็นอยู่พ้นจากตำแหน่งแล้วสรรหาใหม่ตามรัฐธรรมนูญ
ด้าน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประธานกรรมการรณรงค์หาเสียงพรรคไทยรักษาชาติ ระบุว่า มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ยุติการตรวจสอบเรื่องนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร โดยอ้างว่ามีข้อมูลไม่เพียงพอ ถือเป็นสัญญาณอันตรายต่อระบบการตรวจสอบขององค์กรอิสะ และสถานการณ์เรื่องนาฬิกาหรู จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่ทำลายความเชื่อมั่นของประเทศในสายตานานาชาติ เพราะแม้นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปจับมือกับนานาประเทศ ก็ไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า ไทยมีการตรวจสอบทุจริตที่จริงจัง
ทั้งนี้ อยากให้ประชาชนร่วมตัดสินใจให้ชัดว่า ยังต้องการให้อำนาจลักษณะนี้อยู่ต่อไปหรือไม่ ซึ่งการนำกรณีนี้มาชี้วัด ไม่ใช่การโจมตีทางการเมือง แต่เป็นการสะท้อนว่า หากจะมีการสืบทอดอำนาจรัฐ ก็จะส่งผลให้การตรวจสอบทุจริตบิดเบี้ยวในลักษณะนี้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากประชาชนต้องการจะล่ารายชื่อเพื่อยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ปลดคณะกรรมการ ป.ป.ช.ออกจากตำแหน่ง ก็ถือว่าเป็นสิทธิตามกฎหมายที่สามารถทำได้ แต่ประชาชนต้องมั่นใจว่า ประธานรัฐสภาต้องมาจากกระบวนการเลือกตั้ง ไม่ถูกครอบงำจากผู้มีอำนาจ เพราะหากรัฐบาลยังคงสืบทอดอำนาจต่อไป ก็ไม่มั่นใจว่า การล่ารายชื่อของประชาชนจะเป็นผลหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 236 กำหนดให้ ส.ส. ส.ว. หรือ สมาชิกของทั้งสองสภา จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20,000 คนมีสิทธิเข้าชื่อกล่าวหากรรมการ ป.ป.ช.ผู้ใดกระทำการตามมาตรา 234 (1) คือ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้ยื่นต่อประธานรัฐสภาพร้อมด้วยหลักฐาน หากประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหาให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระจากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์เพื่อไต่สวนหาข้อเท็จจริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง