ไม่พบผลการค้นหา
ส่อง 'สังคมแฟลตตำรวจ' ถึงการลงทุนกับเด็กที่ไม่ตอบโจทย์ เมื่อพื้นที่อาศัยมีความรุนแรงแอบแฝงในภาพจำ

หลังข่าวการเสียชีวิตของ ‘ป้ากบ’ หญิงเคราะห์ร้ายที่ถูกกลุ่มวัยรุ่นในพื้นที่อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ก่อเหตุด้วยการใช้กำลังทำร้ายจนนำไปสู่การเสียชีวิต ซึ่งมีรายงานว่าหนึ่งในผู้ก่อเหตุเป็นลูกนายตำรวจในพื้นที่ ทำให้สังคมได้ตั้งคำถามอีกครั้งว่าเหตุใดลูกเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย จึงเลือกกระทำความรุนแรงกับเหยื่อ

‘วอยซ์’ ชวน ทนายแจม-ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม.พรรคก้าวไกล ซึ่งอีกบทบาทของเธอคือภรรยานายตำรวจ และเป็นแม่ของบุตรอีกสองคน ผู้เคยใช้ชีวิตไว้ในแฟลตตำรวจ ที่เธอชวนมองเนื้อในของสภาพแวดล้อมที่พักอาศัยที่ควรจะปลอดภัย แต่จากประสบการณ์ที่เธอเคยสัมผัสกับเต็มไปด้วยคำถามว่าสถานที่แห่งนี้ไม่ได้มีความเหมาะสมกับเด็กที่กำลังเติบโตในวัยเยาว์

“มันไม่มีพื้นที่ให้เด็กเลย ถ้าเคยไปตามหลัง สน.ก็จะเห็นว่าลำพังแค่ที่จอดรถก็แทบจะไม่มีเลย เด็กก็ไม่รู้จะไปเล่นที่ไหน บางทีเด็กก็ไปจับกลุ่มกันเล่นบนถนน และด้วยความที่อยู่ใกล้ สน.ก็จะเห็นการกระทำที่รุนแรง อย่างแฟลตที่เคยอยู่ก็จะได้ยินเสียงโหยหวนของคนที่ถูกขัง หรือต้องเจอกับการทะเลาะกันของคนที่มาโรงพัก จึงมองว่าเป็นสถานที่ไม่ค่อยเหมาะกับการเลี้ยงเด็ก มันจะต่างจากของทหาร ที่บ้านพักก็จะอยู่อีกโซน และมีพื้นที่ให้เด็กเล่น”


สังคมลูกตำรวจ

ทนายแจมชวนมองให้เห็นอีกมิติปัญหาของเรื่องนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากเรื่องระบบตั๋ว ระบบส่วย ที่ตำรวจชั้นผู้น้อยต้องทำงานหนักไม่มีเวลาให้ครอบครัว และต้องแบกรับความเครียดจากการทำงาน และบางครั้งก็มาระบายด้วยความรุนแรงกับคนในครอบครัว จนทำให้ปัญหาในครอบครัวตามมาอีก

“พอมันไม่มีเวลา เด็กก็ไม่ได้รับการดูแลที่ดี อย่างแฟนเราเป็นลูกตำรวจใช่ไหม เขาบอกว่าตอนเด็กแม่แทบจะไม่ให้คบค้าสมาคมกับลูกตำรวจเลย ต้องพาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นเช่น เล่นกีฬา เล่นดนตรี ทำให้เขาเติบโตมาอีกแบบหนึ่ง เพราะส่วนใหญ่ที่โตมาในแฟลตตำรวจซึ่งพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ ต้องยอมรับความจริงว่าลูกตำรวจก็โตมาแล้วเกเรก็เยอะ”

เรื่องนี้ทนายแจมยังชี้ให้เห็นว่าเป็นอีกผลพวงของการจัดงบประมาณของตำรวจที่มีปัญหา เพราะไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ไปให้ความสำคัญกับการอารักขาความปลอดภัยหรือการสร้างตึกที่ไม่เกี่ยวกับที่พัก

“อย่างเคสของตำรวจท่องเที่ยว พอได้งบประมาณมาก็เอาไปสร้างตึกเต็มไปหมด แต่ สน.เก่ามาก แทนที่คุณจะพัฒนาพื้นที่ ทำให้สภาพแวดล้อมที่มันดีกว่าเดิม คือตำรวจมันมีปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย อย่างข่าวที่เด็ก(ลูกตำรวจ)ไปทำร้ายคน มันก็สะท้อนปัญหาเชิงลึก มากกว่าที่จะมองว่าเด็กมันชั่ว เด็กมันเลว แต่การที่เด็กจะเป็นอาชญากรได้มันไม่ใช่อยู่ดีๆเด็กจะเป็นเองนะ บางทีมันก็โตมาพร้อมกับสภาพแวดล้อมที่มีความรุนแรงหรือเปล่า มันต้องมองเรื่องนี้ด้วย”


งบที่ไม่ลงทุนกับชั้นผู้น้อย

ทนายแจมยังมองว่าเรื่องที่สังคมกำลังโจมตีเด็กที่เป็นลูกตำรวจนั้น ก็ควรมองให้ลึกว่าเด็กเติบโตมาอย่างไร บางทีก็น่าเห็นใจทั้งเรื่องงบประมาณที่จะมาดูแลก็น้อย ไหนจะเรื่องที่พ่อหรือแม่ ต้องถูกกดดันจากผู้บังคับบัญชา ทำให้ซึมซับความเครียดหรือความรุนแรงจากสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก

“ในฐานะที่อยู่ในคณะกรรมาธิการงบประมาณปี 67 เราก็เห็นว่างบประมาณมันไม่ไปลงที่คน แต่ไปลงที่ถนน ไปลงที่อาคาร มันขาดการที่ทำให้เห็นถึงการใส่ใจในเรื่องสวัสดิการ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพยายามทำงานหนัก เพื่อให้เจริญก้าวหน้า ยิ่งพนักงานสอบสวนต้องทำงานด้วยความกดดัน ต้องรับคดี ต้องทำสำนวน แล้วต้องเข้าเวรต่อ ไหนจะเรื่องอัตรากำลังที่ไม่เพียงพอ เพราะตำรวจมีกองบัญชาการเต็มไปหมด กลายเป็นว่าทุกวันนี้ตำรวจที่โรงพักคนไม่พอ เพราะคนไม่อยากไปอยู่ ทั้งเรื่องสภาพแวดล้อมไม่ดี งานก็หนัก เพราะอัตรากำลังมันไปตามนาย ตามผู้มีอำนาจ ไปตามคนรวย ตามนักการเมือง เพื่อจะให้ตัวเองก้าวหน้าในหน้าที่ ดังนั้นเราจึงหยุดพูดเรื่องตั๋วไม่ได้ไง

“ในเรื่องอาชญากรเด็ก หลายเคสที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่เกิดมาในครอบครัวข้าราชการ เพราะมีการกดดันลูก ต้องตั้งใจเรียนตั้งแต่อนุบาล อย่างเคสลูกตำรวจเวลาสังคมมองเหตุการณ์ที่เกิดจากอาชญากรเด็ก สิ่งที่ควรทำคือคุยกับเด็กให้ได้ว่าเหตุผลที่เขามาเป็นอาชญากรคืออะไร นี่คือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่สุด ไม่ใช่การไปเพิ่มโทษ มันคือการแก้ที่ปลายเหตุ แล้วมันก็จะเกิดเหตุแบบนี้อีก เพราะสาเหตุที่เขาทำมันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องกฎหมายมันอ่อน แต่มันเกิดจากสังคมและการเลี้ยงดูที่บ่มเพาะมันทำให้เด็กเป็นอาชญากร

“เราไม่ได้มองว่าเด็กเขาไม่ผิดนะ แต่เรามองว่ามันมีที่มาที่ไปที่เด็กเขาออกมาทำแบบนี้ การที่เราไปขุดเขาขึ้นมาด่ามันไม่ได้ช่วยอะไรเลย มันไม่ได้ทำให้คนตายฟื้นขึ้นมา แต่เรากำลังฆ่าคนอีกหลายคน เราไม่ได้ฆ่าแค่เด็ก 5 คน แต่เราฆ่าครอบครัวเขาด้วย มันคงไม่มีใครเห็นดีเห็นงามกับลูกหรอกถ้าไปทำเรื่องไม่ดี”


เสนอยกเรื่องเด็กเป็นวาระแห่งชาติ

ด้วยเหตุนี้ศศินันท์ได้เสนอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องเด็กยกเป็นวาระแห่งชาติ แต่ที่เห็นในแผนยุทธศาสตร์มักจะเน้นไปที่เรื่องความมั่นคง เรื่องปราบยาเสพติด และตั้งแบบนี้มาทุกปีก็ไม่เคยแก้ปัญหาเรื่องอาชญากรเด็กได้ เพราะเดินกันผิดทาง ถ้าจะแก้ปัญหากันจริงๆ ควรจะศึกษาประเทศที่แก้ปัญหาในเรื่องอาชญากรเด็กได้สำเร็จ ว่าเขาดำเนินการยังไง

“เขาแก้ปัญหาโดยการลงทุนกับเด็ก อย่างของไต้หวัน เขาเอาเรื่องเด็กเป็นความมั่นคงของชาติเลยนะ เพราะมองว่าประเทศชาติจะเป็นอย่างไร ก็อยู่ที่เด็กไง เขาจึงทุ่มสรรพกำลังไปที่เด็ก ไม่ใช่เขียนงบไปคนละทาง แต่ละกระทรวงต้องคุยกันว่าจะบูรณาการอย่างไร ไม่ใช่พอเกิดเหตุก็เอาไปฝึกไปค่ายทหาร อบรมคุณธรรม ประเทศเราลงทุนกับเด็กที่ปลายทาง แล้วมันก็ไม่เคยแก้ปัญหาได้ เพราะสุดท้ายแล้วต้นทางมันต้องกลับไปแก้ในวัยเด็กเลย ในช่วงตั้งแต่เด็กเกิดใหม่จนถึง 6 ขวบ เป็นวัยที่ได้งบประมาณน้อยมาก แล้วระบบการศึกษาก็ไม่ได้ใส่ใจเท่าไหร่”


พัฒนาการต้องมีพื้นที่จินตนาการ

ในฐานแม่ลูกสองเธอยังยกตัวอย่างโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า พัฒนาการของเด็กในข่วงวัยเด็กแรกเกิด จนถึง 6 ขวบ สมองเขาเยอะกว่าผู้ใหญ่ แล้วมันจะค่อยๆลดลงไปจากการที่เขาไม่มีพื้นที่ให้ใช้งานสมอง จะเห็นว่าโรงเรียนทางเลือกการเรียนการสอนของเขา จะเปิดพื้นที่ให้เด็กได้เล่น ได้ทำกิจกรรม ได้จินตนาการ แต่การศึกษาของภาครัฐกลับมุ่งเน้นไปที่การท่องจำ การคัดลายมือ แทนที่จะฝึกให้เขารู้จักรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ต้องไปรอสอนตอนโต มันไม่ทันแล้ว

“ปัญหาเรื่องเด็กที่เรามานั่งบ่นกันในสภาฯ ทุกอย่างมันเกิดจากการที่เราไม่ลงทุนกับเด็ก เกิดจากละเลยจนทำให้เกิดปัญหาสังคมอย่างในปัจจุบัน เด็กวัยทีนเขาไม่ต้องการให้คุณมาบอกนะว่า สิ่งที่ควรทำไม่ควรทำ แต่สิ่งที่เขาต้องการคือการรับฟังต่างหาก ถ้าคุณจะชี้ให้เขารู้จักถูกผิด ควรจะให้ความสำคัญตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบเลย” ทนายแจม ทิ้งท้าย

พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog