28 ก.พ. เมื่อเวลา 09.15 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ได้เดินทางมาอ่านคำสั่งห้ามชุมนุมสาธารณะมาตรา 11 วรรคสาม เลขที่ 98/2566 บริเวณด้านหน้าศาลฎีกา ซึี่งเป็นพื้นที่ปักหลักชุมนุมประท้วงอดอาหารเรียกร้องสิทธิการประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง ของตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม อรวรรณ ภู่พงษ์ พร้อมกับนักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง และเครือข่ายกลุ่มอื่น
เนื้อในคำสั่ง ระบุว่า แจ้งความมายัง อรัญญิกา จังหวะ ตามคำสั่งให้แก้ไขการชุมนุมสาธารณะ สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ลงวันที่ 27 เดือน ก.พ. 2566 ปรากฏว่าท่านไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จึงห้ามการชุมนุมสาธารณะในกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ตั้งแต่เวลา 11.00 ของวันที่ 28 ก.พ. 2566 เป็นต้นไป ลงชื่อ พ.ต.อ. เสนาะ พูนเพชร ผู้กำกับการ (สอบสวน) ฯกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 รักษาราชการแทน ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม
สำหรับกรณีดังกล่าว เกิดขึ้นจาก วานนี้ (27 ก.พ.) ตำรวจได้มีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมแก้ไขการชุมนุม ระบุสาเหตุว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมลงมาบริเวณผิวจราจร มีรถผู้ชุมนุมจอดในที่ห้ามจอดและกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ ทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับความเดือดร้อน และพบว่าป้ายมีข้อมูลหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นผู้อื่นทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย
ด้านตะวันและแบม ได้สื่อสารถือกรณีดังกล่าวผ่าน เฟซบุ๊ก ระบุว่า เราได้ยินเสียงตำรวจมาไล่ตลอดสองวันนี้และบอกว่ามีคนชื่อคุณอรัญญิกา มาจดแจ้งการชุมนุม อยากบอกพี่ตำรวจว่าพวกเราไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเขา
คุณอรัญญิกาน่าจะหมายถึง เพื่อนๆ ที่มาทำเรื่องหยุดยืนฝากขังตลอดมาเป็นเวลา 200 กว่าวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ประสบความสำเร็จและมีผู้คนมาเข้าร่วมมากมาย ถ้าคุณตำรวจต้องการที่จะไล่ ก็มาไล่และสลายพวกหนูค่ะ
เพราะว่าเพื่อนๆที่มายืนหยุดขังแม้เขาจะเรียกร้องในสิ่งเดียวกับที่พวกหนูทำอยู่ แต่เขาไม่ได้มามีส่วนกับเต็นท์ที่พี่ตำรวจไม่เห็นด้วย หรือตัวพวกหนูที่พี่ต้องการจะบุกเข้ามาสองวันแล้ว ถ้าตำรวจเห็นว่าสิ่งที่พวกเราทำมันผิดก็มาเลยค่ะ
แต่นางสาวทานตะวันและนางสาวอรวรรณ จะเป็นคนละพวกกับนางสาวอรัญญิกา อย่าไปหาเรื่องเขา แล้วขอยืนยันว่าเราไม่ต้องการให้ใครที่เราไม่ต้องการเข้ามาตรวจร่างกายของพวกเรา กสม. หรือ รพ.ตำรวจพวกหนูไม่เอา ยอมกัดลิ้นตัวเองตายดีกว่าค่ะ
พวกหนูไม่ต้องการสร้างความลำบากให้ใคร ก็จะขอร้องตำรวจว่าอย่าใช้วิธีการนี้เพราะพี่ตำรวจน่าจะรู้อยู่แล้วว่าพวกเราเป็นคนละพวกกัน ถ้าประธานศาลฎีกาหรือตำรวจอยากไล่พวกหนูก็ประกาศออกมาเลย ตอบหนังสือหนูที่ขออนุเคราะห์พื้นที่ก็ได้ว่าจะไล่พวกหนูค่ะ เพราะการทำแบบนี้มันเป็นการทำลายการต่อสู้ของเพื่อนๆที่มายืนหยุดขังคนอื่นด้วย
อย่างไรก็ตาม iLaw ตาม ระบุว่า พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ถ้าหากตำรวจจะใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ต้องทำเป็นลำดับ และ “ต้องร้องขอคำสั่งจากศาลแพ่ง” โดยต้องทำเป็นลำดับขั้นตอน คือ
1.การชุมนุมที่จะถูกสลาย ต้องเข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 21 ได้แก่ การชุมนุมที่ไม่สงบ ไม่ปราศจากอาวุธ ไม่มีการแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า 24 ชั่วโมง หรือไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่อนผันการแจ้งการชุมนุมกรณีที่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าไม่ถึง 24 ชั่วโมง หรือการชุมนุมที่ใช้สถานที่ต้องห้าม เช่น ภายในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง ซึ่งตำรวจสั่งให้ผู้ชุมนุมแก้ไขแล้วแต่ไม่แก้ไข รวมทั้งการชุมนุมที่ยืดเยื้อเลยเวลาที่แจ้งการชุมนุมไว้
2.ตำรวจต้องประกาศให้แก้ไข หรือเลิก ตำรวจต้องประกาศให้เลิกการชุมนุมก่อน โดยต้องกำหนดเวลาที่ให้เลิกการชุมนุมไว้อย่างชัดเจน การชุมนุมที่ขัดต่อมาตรา 21 (2) ตำรวจต้องประกาศให้ผู้จัดการชุมนุมแก้ไขให้ถูกต้องก่อน โดยต้องกำหนดระยะเวลาให้แก้ไขด้วย
3.การจะสั่งให้เลิกชุมนุม ต้องร้องขอต่อศาลแพ่ง ถ้าหากผู้ชุมนุมไม่เลิกการชุมนุม ตำรวจจะต้องไปร้องต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนือพื้นที่ที่มีการชุมนุม ให้มีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม หมายความว่า ระหว่างรอคำสั่งศาลเท่านั้น หากผู้ชุมนุมมิได้ก่อภยันตรายร้ายแรงใดๆ ก็ไม่มีเงื่อนไขที่เจ้าหน้าที่จะใช้กำลังสลายการชุมนุมได้
4.ต้องติดคำสั่งศาล หรือประกาศให้ทราบก่อน ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม จะต้องกำหนดเวลาเลิกการชุมนุมไว้ในคำสั่งและเจ้าหน้าที่ดูแลการชุมนุมจะต้องนำคำสั่งดังกล่าวมาปิดประกาศในพื้นที่ที่ผู้ชุมนุมจะเห็นได้โดยง่าย และอาจประกาศคำสั่งศาลด้วยวิธีอื่นให้ผู้ชุมนุมได้ทราบโดยทั่วกันด้วย
5.เมื่อผู้ชุมนุมยังไม่เชื่อฟัง จึงจะใช้กำลังเข้าจับกุมได้