ไม่พบผลการค้นหา
“รักกันด้วยเงิน หมดเงินเขาก็ไป รักกันด้วยใจ หมดใจเขาก็ไปเหมือนกัน” หนึ่งในประโยคธรรมะจากพระหนุ่มแห่งแดนอีสาน ที่เชื่อว่าคนเราไม่จำเป็นต้องมีศาสนาก็ได้

วัดมณีวนาราม หรือ วัดป่าน้อย ตั้งอยู่บนถนนหลวง ในเขตเมืองอุบลราชธานี ที่นี่เป็นที่พักของ ‘หลวงพี่เเต้ม’ พระมหาณัฐพงศ์ ชยวุฑฺโฒ พระภิกษุที่ใช้ความตลกเเละภาษาที่เข้าใจง่าย นำเสนอแนวคิดพุทธศาสนาได้อย่างโดดเด่น มียอดผู้ติดตาม กดไลก์และแชร์ในเฟซบุ๊กเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

“อาตมาก็แปลกใจอยู่เหมือนกันที่มีคนเข้ามาสนใจจำนวนมาก” พระหนุ่มวัย 25 ปี น้ำเสียงสดใส 

จากเด็กเกเรติดเพื่อนเอาแต่เที่ยวเล่น การถูกบังคับให้บวชในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ยังไม่สิ้นสุดในร่มกาสาวพัสตร์


จาก 15 วันสู่ 1 ทศวรรษ 

หลวงพี่เเต้ม หรือชื่อเดิม ‘ณัฐพงศ์ บุญรักษ์’ เกิดและโตที่ จ.มุกดาหาร หลังจากจบ ม.3 คุณครูประจำชั้นประกาศให้เด็กชายทุกคนต้องเข้าโครงการบวชเณรในช่วงปิดเทอมเป็นเวลา 15 วัน เพื่อแลกกับวุฒิการศึกษา กลายเป็นสาเหตุให้เขาและเพื่อนๆ ต้องสละทางโลกสู่ทางธรรมชั่วคราวที่วัดศรีประดิษฐาราม

“พระอาจารย์พี่เลี้ยงบอกว่า เมื่อสิ้นสุดโครงการใครไม่อยากสึกสามารถอยู่ต่อได้ เปิดเทอมค่อยสึก พอครบ 15 วันเพื่อนก็สึกกันหมด เหลืออาตมาคนเดียว” หลวงพี่เเต้มหัวเราะ “บวชแล้วมันสงบจิตสงบใจจริงๆ เจริญพร”

หลวงพี่แต้ม

เมื่อวันถึงเปิดเทอม ด.ช.ณัฐพงศ์ ในวันนั้นก็ยังไม่สึก ใช้เวลาซึมซับประสบการณ์จากพระภิกษุรุ่นพี่ ท่ามกลางการยุยงจากเพื่อนๆ ให้ออกมาร่วมก๊วนเล่นสนุกกันเหมือนเดิม 

“หลวงพ่อท่านให้ติดตามไปอบรม ไปบรรยายตามโรงเรียนต่างๆ เราฟังท่านแล้วก็เกิดความชอบอยากเป็นผู้เผยแพร่ธรรมะ ส่วนเพื่อนๆ ก็บอกจะอยู่นานทำไม ออกมาเล่นดิ ไขว้เขวอยู่นะ แต่เราคิดถึงแม่ด้วย ทำให้ใจเราหนักแน่นขึ้น” 

ที่บอกว่าคิดถึงแม่ เพราะมีเหตุการณ์ในอดีตที่ทำให้เขาลืมไม่ลง 

ยามบ่ายวันหนึ่ง แม่เรียกร้องให้ลูกชายขับรถมอเตอร์ไซค์ไปส่งที่ธนาคาร ด้วยความเร่งรีบเพราะนัดเพื่อนเอาไว้ เขาขับรถด้วยความเร็ว คุณแม่ส่งเสียงเตือน “อย่าขับเร็วนะลูก” ครั้งที่หนึ่ง สอง และสาม “โอ๊ย…ไม่เป็นหรอกแม่” เขาประมาท 

ทันใดนั้นสุนัขพันธุ์ไทยวิ่งตัดหน้า มอเตอร์ไซค์เสียหลัก !

“ภาพสุดท้ายที่เห็นคือมือของแม่พยายามคว้าชายเสื้อเรา รถไม่ล้ม แต่แม่กลิ้งไปข้างถนน”

ด.ช.ณัฐพงศ์ รีบพาแม่ไปโรงพยาบาลด้วยความกระวนกระวาย 

“ไม่เจ็บลูก ไม่เป็นไร” คนเป็นแม่โกหกเพราะกลัวลูกเสียใจ แท้จริงอาการทรุดหนักมีเลือดช้ำใน หลังเดินทางมาร่วมงานรับปริญญาที่กรุงเทพฯ ในเช้าวันถัดมา 

“อาตมาคิดได้เลย ระหว่างเพื่อนกับแม่อะไรสำคัญกว่ากัน เพื่อนเรามีตั้งเยอะแยะแต่แม่เรามีคนเดียว” หลวงพี่แต้มบอกอีกหนึ่งเหตุผลที่ตัดสินใจอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์เพื่อให้แม่สบายใจ 

จากเด็กวัยคึกคะนอง ร้อนรน ติดเพื่อน โลกของธรรมะ ทำให้เณรแต้มได้พบเจอกับสติและความสงบ

“เป็นความสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัยสิ่งภายนอก เป็นความสุขที่เกิดในใจของเรา”

หลวงพี่แต้ม

ภาษาร่วมสมัย - ที่ปรึกษาคลายทุกข์

หลวงพี่แต้ม เรียนจบจากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สะสมชั่วโมงบินในการเป็นวิทยากรเผยแพร่พุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งตัดสินใจเปิดแฟนเพจเฟซบุ๊กเพื่อหวังสื่อสารกับวัยรุ่นในวงกว้าง 

ทดลองสื่อสารมาหลากหลายรูปแบบ เริ่มจับทางได้ว่าการใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เชิงบวก มีความร่วมสมัย โดยยึดหลักธรรมะเป็นแก่น คือสิ่งที่ผู้คนนิยม ตัวอย่างเช่นเรื่องความรัก ที่หลวงพี่แต้มเรียกยอดการมีส่วนร่วมได้อย่างคึกคัก 

หลวงพี่แต้มบอกว่าพระพุทธเจ้านั้นเคยบอกไว้ ‘ทุกสิ่งทุกอย่างไม่แน่นอน’ นั่นสอดคล้องกับเรื่องปัญหาความรักของผู้คน จนกลั่นกรองออกมาเป็นคำคมที่ว่า “รักกันด้วยเงิน หมดเงินเขาก็ไป รักกันด้วยใจ หมดใจเขาก็ไปเหมือนกัน” 

พระภิกษุวัย 25 ปีบอกว่าแม้ฟังเผินๆ อาจดูตลก แต่หากตระหนักให้ดี แต่ละประโยคมีความหมายและข้อคิดสอดแทรก 

นอกเหนือจากภาพข้อความที่นำเสนอ หลวงพี่แห่งเมืองอุบล ยังเปิดพื้นที่ให้พุทธศาสนิกชนได้เข้ามาระบายความทุกข์และทบทวนตัวเอง

เคสหนึ่งเป็นหญิงสาววัยทำงาน คิดฆ่าตัวตาย เนื่องจากสามีนอกใจแอบไปมีภรรยาน้อย เธอเศร้าและคิดว่าชีวิตนี้ไม่มีใครรักอีกแล้ว หมดคุณค่าในตัวเอง 

“เขาพิมพ์มาเยอะมาก ถ้าเป็นหนังสือก็ได้หลายบท” หลวงพี่บอก 

“อาตมาถามแกว่า ปัจจุบันนี้ใครอยู่ข้างๆ แกเลยบอกว่าลูก ลูกกำลังนอนอยู่ค่ะ อาตมาเลยบอกว่า โยม..ถ้าโยมคิดถึงแต่สิ่งที่จากไป จนลืมใส่ใจสิ่งที่เหลืออยู่ โยมจะเป็นทุกข์ สิ่งที่จากไปหมดคุณค่าไปแล้วแต่สิ่งที่อยู่ตรงหน้ามีคุณค่าต่อโยมมาก ใครที่เหลืออยู่คือคนที่มีคุณค่าและโยมก็มีคุณค่าต่อเขา” 

ทุกวันนี้หญิงสาวยังมีลมหายใจ ทำมาหากินสู้ชีวิตต่อ 

พระหนุ่มรายนี้บอกว่า มนุษย์เราเมื่อได้ระบายแล้วจะรู้สึกเบาใจ สิ่งสำคัญคือการรับฟังในวันที่ไม่มีใครฟังเขา เสมือนเป็นที่ปรึกษา ไม่ตัดสิน ไม่สั่งสอน ชี้ถูกชี้ผิด ให้เขาได้ทบทวน และตัดสินใจเลือกทางที่ดีที่สุดของชีวิตด้วยตัวเอง ผ่านการมองโลกบนพื้นฐานความเป็นจริง 

“เขาอาจจะรู้คำตอบอยู่แล้วในใจเขา แต่แค่หาคนรับรองและรับฟังเขาไม่ได้”

แต่ละวันมีผู้ส่งข้อความหลังไมค์มาปรึกษาหลวงพี่เฉลี่ย 4-5 คน แม้ปัญหาจะแตกต่าง ตั้งแต่เรื่องการเรียน การทำงาน ชีวิตคู่ แต่ส่วนใหญ่เพียงแค่ต้องการผู้รับฟังเพื่อดึงสติกลับไปแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง 

มีคนนินทาและตั้งคำถามกับรูปแบบการสื่อสารที่หลายครั้งชูความตลกขึ้นมานำ 

หลวงพี่บอกว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ อาตมาพยายามอธิบายให้เขาเหล่านั้นเข้าใจถึงเจตนาและเป้าหมายของการสื่อสาร ที่มุ่งให้เข้าถึงผู้คนในวงกว้าง น่าติดตามและน่ารับฟัง โดยยึดหลักธรรมะไว้ พูดง่ายๆ ว่าแค่เปลี่ยนวิธีการถ่ายทอดและเผยแผ่


ไม่จำเป็นต้องมีศาสนา

ปี 2020 เริ่มมีผู้คนจำนวนมากปฏิเสธที่นับถือศาสนาหรือเห็นเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเหมือนในอดีต 

“มีคนมาถามเหมือนกันว่า ผมไม่นับถือศาสนาผิดไหม อาตมาตอบไปว่า โยมไม่ว่าจะมีศาสนาหรือไม่มีก็ตาม ถ้าอยู่บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ เป็นคนดี ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปกติสุข “ก็ไม่จำเป็น” เพราะโยมมีความดีอยู่ในจิตใจอยู่แล้ว ศาสนาเป็นเรื่องความเชื่อและศรัทธา บังคับกันไม่ได้ และไม่จำเป็นต้องไปยัดเยียด” 

หลวงพี่แต้ม

ยามที่ทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา มหาเศรษฐีหลายท่านบอกให้ล้มแล้วลุก ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ แต่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นดังนั้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมและปัจจัยในชีวิตที่แตกต่างกันอย่างมโหฬารระหว่างคนรวยและจน 

หลวงพี่แนะนำแบบพุทธศาสนาว่า ชีวิตคนเราไม่แน่นอน อันดับแรกเมื่อเราแก้ไขสิ่งใดไม่ได้ ให้คิดถึงสิ่งที่เราเหลืออยู่ 

“ตอนนี้เราเหลืออะไร เราเหลือลมหายใจ ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจอยู่ เราก็สามารถต่อยอดสิ่งต่างๆ ได้” 

เขาไม่ปฏิเสธว่ามีบางช่วงเวลาที่ท้าทายให้สึกออกมาหาประสบการณ์ทางโลก แต่ถูกพระอาจารย์ที่เคารพทักไว้ 

“สึกไปเราจะให้ประโยชน์กับคนส่วนน้อย แต่ถ้ายังบวชอยู่เราจะทำประโยชน์ให้คนส่วนมากได้” หลวงพี่แต้มทิ้งท้ายไม่ลืมพูดถึงแม่ที่เขารัก “คุณแม่ก็สบายใจ เห็นลูกชายบวชเป็นพระ” 

ภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก หลวงพี่มหาแต้ม

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog