วันที่ 9 มี.ค. 2566 พลอย เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 1 พรรคก้าวไกล ระบุว่า พลอยและ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้ไปเตียวแอ่วกาดมาลิน (The Chiangmai Complex ) หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อพบปะพ่อค้าแม่ค้า และน้อง ๆ นักศึกษา ตนขอขอบคุณทุกเสียงตอบรับจากทางพ่อค้าแม่ค้า และพี่ ๆ น้อง ๆ ทุกคนที่ให้ความสนใจและให้การตอบรับพลอยและคุณธนาธรอย่างดี ขอขอบคุณพี่ ๆ น้อง ๆ ที่เข้ามาถ่ายรูปและให้กำลังใจพลอย และขอขอบคุณพ่อค้าแม่ค้าที่ให้ขนมมาทานกันด้วย
”การไปลงพื้นที่กับคุณเอก ธนาธร รอบนี้ชวนให้คิดถึงกระแสฟ้ารักพ่อ และรอการกลับมาอีกครั้ง” พลอย เพชรรัตน์ ระบุ
ขณะเดียวกัน พลอย เพชรรัตน์ ยังโพสต์ข้อความเฟซบุ๊กว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2566 ตนและทีมว่าที่ผู้สมัครส.ส. ทั้ง 8 คน ของพรรคก้าวไกล จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อสอบถามปัญหาของผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำในสถานที่โล่งแจ้ง พวกเราจึงเดินทางไปยังสนามกีฬา 700 ปี และเดินพูดคุยกับพี่น้องที่มาวิ่งตามเส้นทาง 700 ปี - ลานเนินนุ่ม สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ จำนวนผู้มาออกกำลังกายลดน้อยลงอย่างมาก สาเหตุหลักมาจากฝุ่น PM 2.5 ที่หนาแน่น
“เชียงใหม่เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวและเมืองของคนรักสุขภาพ แต่ตลอดทั้งปีจังหวัดเชียงใหม่จะสูญเสียรายได้ไปประมาณ 3 เดือน เพราะเป็นช่วงของฝุ่น PM 2.5 ที่ทำให้ไม่นักท่องเที่ยวเข้ามามากนัก บวกกับคนเชียงใหม่เองหลายคนก็เลือกที่จะไม่ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน”
พลอย เพชรรัตน์ ระบุว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล ได้เดินทางมาร่วมพูดคุยประเด็นฝุ่น PM 2.5 ร่วมกับว่าที่ผู้สมัครและประชาชนทั่วไป เพื่อแลกเปลี่ยนและเสนอทางออกเป็นนโยบายของพรรคก้าวไกล เราต้องจริงจังและจริงใจกับการแก้ไขปัญหานี้ได้แล้ว คือ
1. การเผาเพื่อทำการเกษตร จะต้องมีกฏหมายอากาศสะอาด และต้องให้มีระบบสอบทานย้อนกลับ (Supply Chain Traceability) สำหรับบริษัทที่ใช้วัตถุดิบการเกษตรเพื่อเปิดเผยความโปร่งใสจากบริษัทผู้ผลิตว่าการใช้วัตถุดิบการเกษตรนั้นเกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดฝุ่นควันหรือไม่
2. ด้านการคมนาคมและขนส่งสาธารณะ ต้องออกแบบเครือข่ายขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และสะดวกสบายสามารถใช้งานได้จริงกับทั้งผู้อาศัยและนักท่องเที่ยว เพื่อลดปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศที่มาจากรถ
3. การป้องกันไฟป่า ต้องมีงบประมาณที่ถูกจัดสรรให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเพียงพอและเหมาะสมกับบริบทพื้นที่ พร้อมกับเทคโนโลยีการจัดการไฟป่าที่ทันสมัยขึ้น