กรณีโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยทดลองให้นักเรียนมัธยมเลือกใส่เครื่องแต่งกายไปรเวทสัปดาห์ละ 1 วัน เพื่อศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเครื่องแต่งกายที่ไม่ใช่เครื่องแบบนักเรียนมาเรียน จนต่อมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ส่งหนังสือแจ้งไปยัง ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนฯ เพื่อขอให้ทบทวนเรื่องดังกล่าวว่ามีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด เนื่องจากมีความห่วงใยเรื่องความมีระเบียบ วินัย ผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง การดูแลเด็กของครู บริบทของสังคมไทย และปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า นโยบายของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ เป็นก้าวย่างสำคัญ เป็นวิธีคิดของผู้บริหารและเด็กรุ่นใหม่ ที่พ้นจากกรอบการสร้างวินัยจากคำสั่ง หรือนโยบายที่มีลักษณะพัวพันกับอำนาจ
"กระบวนการสร้างวินัยแบบที่ผ่านๆ มา เช่น บังคับให้ต้องตัดผม ต้องแต่งตัวแบบนั้นแบบนี้ หรือ คำขวัญวันเด็กที่ปรากฎคำว่าวินัยเกือบ 20 ครั้ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศกลับสวนทางกัน คือเราอาจจะหย่อนเรื่องวินัยมากที่สุดก็เป็นได้ คำถามคือ เรามีวินัยกันจริงๆ หรือเปล่า จากกระบวนการที่เราส่งต่อกันมา ล้มเหลวนะ สำหรับผม"
นักวิชาการด้านการศึกษา บอกว่า การกล้าคิดนอกกรอบและพยายามส่งเสริมให้เด็กมีภาวะความเป็นอิสระ ความเป็นตัวของตัวเองมากกว่าการบังคับด้วยเสื้อผ้าหรือตัดสินกันด้วยสิ่งของภายนอกถือเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำ รวมทั้งถึงเวลาเลิกใช้มาตรฐานหรือชุดความคิดเดียวกับเด็กทั่วประเทศได้แล้ว
"ต้องเคารพตัวตนของเด็กรุ่นนี้ วิธีการคิดการแสดงออก เราไม่สามารถไปกำหนดได้หรอกว่า ใส่เสื้อผ้าแบบนี้แล้ว เด็กต้องเป็นแบบนี้ ไปตัดสินแค่เปลือกไม่ได้ ต้องเคารพศักดิ์ศรี เคารพในตัวตน ผมคิดว่าเป็นแนวโน้มที่สังคมและผู้มีอำนาจทั้งหลายต้องเข้าถึง เข้าใจและกล้าเปิดโลกทัศน์ของตนเอง"
ศ.ดร.สมพงษ์ เห็นว่า ผลการศึกษาและการประเมินของกรุงเทพคริสเตียนจะนำไปสู่บรรทัดฐานสำคัญในวงการศึกษาไทย หรือเป็นเครื่องยืนยันว่าชุดไปรเวทไม่มีผลต่อการเรียน อย่างไรก็ตามโรงเรียนอื่นๆ ที่คิดจะเดินตามรอย ควรพิจารณาความพร้อมของตัวเองอย่างรอบคอบ
"เปลี่ยนการสร้างวินัยจากคำสั่งภายนอก เป็นการสร้างวินัยจากภายใน เริ่มจากการอบรมสั่งสอนโดยครอบครัว การลงมือปฏิบัติ มันเป็นการสร้างวินัยได้อย่างยั่งยืนกว่าการออกคำสั่งหรือบังคับ"
ทั้งนี้ สำหรับโรงเรียนสังกัดรัฐบาล การแต่งชุดไปรเวทยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ระบุชัดเจนว่าโรงเรียนสังกัดรัฐบาลกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบที่โรงเรียนกำหนดเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ตามมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ หากจะใช้เครื่องแบบเป็นอย่างอื่น เช่น ชุดลำลอง ชุดไทย ฯ ต้องได้รับอนุญาตจากศึกษาธิการจังหวัดก่อนจึงจะสามารถทำได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :